การรับมือปัญหาโรคและแมลงในพืชตระกูลส้ม

โรคแคงเกอร์

โรคแคงเกอร์ พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นส้ม หากเกิดโรคในระยะผลอ่อน ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หากรุนแรงผลจะร่วง หากพบต้นส้มที่มีอาการ ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที

จากนั้นพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชกลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง และควรเลือกใช้กิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ หรือใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการนำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูกใหม่

โรคแคงเกอร์ พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นส้ม

ระยะที่ต้นส้มแตกใบอ่อนให้เกษตรกรกำจัดหนอนชอนใบที่เป็นพาหะเชื้อสาเหตุโรคนำมาทำลายทิ้ง เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช และส่งผลให้อาการโรครุนแรงลุกลามอย่างรวดเร็ว หากพบให้พ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ กรณีพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบ ให้พ่นซ้ำ และควรทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับไปใช้ใหม่กับต้นปกติทุกครั้ง

โรคกรีนนิ่ง

โรคใบเหลืองต้นโทรม หรือ โรคกรีนนิ่ง นับเป็นโรคร้ายของพืชตระกูลส้ม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในท่อลําเลียงอาหารของต้นส้ม จะไปอุดตันท่อลําเลียง ทําให้พืชเกิดอาการกิ่งแห้งตายจากส่วนยอด ใบแก้ว ใบซีดเหลืองลักษณะคล้ายอาการขาดธาตุสังกะสี ต้นทรุดโทรม ใบมีขนาดเล็กลง ใบเรียว ชี้ตั้ง ใบและผลร่วงก่อนถึงอายุเก็บเกี่ยว ต้นส้มจะตาย 3-5 ปี หลังจากเริ่มแสดงอาการ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตลดลง

ระยะที่ต้นส้มกำลังแตกใบอ่อน มักเจอเพลี้ยกระโดดส้ม ซึ่งเป็นแมลงพาหะของโรคกรีนนิ่ง เข้ามาดูดกินใบอ่อน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจปริมาณเพลี้ยไก่แจ้ส้มทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการสุ่ม 5 ยอดต่อต้น จำนวน 10-20 ต้นต่อสวน หากพบตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่แจ้ส้ม 2-3 ตัวต่อยอด ให้เกษตรกรตัดแต่งใบอ่อนและยอดอ่อนที่ถูกเพลี้ยไก่แจ้ส้มเข้าทำลายมาเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก

จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน / ไทอะมีทอกแซม 14.1% / 10.6% แซดซี อัตรา 4 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

แนะนำให้เกษตรกรใช้ต้นพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรค แต่สภาพการปลูกของเกษตรกร พบว่าต้นส้มที่ปลอดโรคจะมักเริ่มแสดงอาการของโรคกรีนนิ่งภายหลังจากการปลูกแล้ว 1-2 ปี เพราะไม่สามารถควบคุมแมลงพาหะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักเกษตรอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เชิญ รศ.ดร.อําไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาอบรมความรู้เรื่องการฉีดยาปฏิชีวนะรักษาโรคกรีนนิ่งในส้มเขียวหวาน

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองรักษาโรคกรีนนิ่งโดยวิธีการอัดฉีด (injection) สารปฏิชีวนะแอมพิซิลีน (ampicillin) เข้าไปที่บริเวณลำต้นโดยตรง ช่วยให้ต้นส้มฟื้นจากอาการของโรคได้อย่างชัดเจน ผลการทดลอง ไม่พบว่ามีสารตกค้างในผลส้มแต่อย่างใด แต่หลังหยุดใช้สารปฏิชีวนะ ต้นส้มจะปรากฏลักษณะอาการของโรคกรีนนิ่งเหมือนเดิม

โรครากเน่าและโคนเน่า

โรครากเน่าและโคนเน่า มีสาเหตุจากเชื้อรา มักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง เมื่อพบต้นที่เป็นโรค ให้ถากเปลือกออกแล้วทาด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา อาลีเอท 80% WP ใช้สารเคมีเบทาแล็คซิล 5 จี อัตรา 200 กรัมต่อต้น หว่านรอบทรงพุ่ม และใช้สารเคมีออกช่าไดซิล อัตรา 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร รดรอบทรงพุ่ม

เพลี้ยไฟ

ระยะที่ส้มติดผลอ่อนจนถึงผลส้มมีขนาด เบอร์ 4 จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ ผลส้มแคระแกร็น

ตัวอ่อนเพลี้ยไฟทำลายผลอ่อน
อาการทำลายของเพลี้ยไฟที่ผลอ่อน

ช่วงที่ส้มเขียวหวานแตกใบอ่อนและผลอ่อน หากพบการเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบฟูแรน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ตัวอ่อนเพลี้ยไฟทำลายใบอ่อน
ตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟทำลายใบอ่อน

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562