กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง จ.บึงกาฬ คิดนอกกรอบ สู่ความสำเร็จ

ทุกวันนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมและมีผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน จึงช่วยให้องค์กรนั้นมีชัยไปกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับ “วิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง” แม้จะเพิ่งเริ่มต้นดำเนินงานได้ไม่นาน แต่มีผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ นำมาพัฒนาธุรกิจจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านแปรรูปยางพาราระดับแนวหน้าของจังหวัดบึงกาฬ ที่ผู้สนใจจากทั่วประเทศสนใจเข้าแวะเยี่ยมชมกิจการตลอดทั้งปี

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ตั้งอยู่เลขที่ 65/10 บ้านเหล่าเงิน ตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ โทร.093-696-2999 กลุ่มฯ แห่งนี้อยู่ภายใต้การนำของประธานกลุ่มฯ คือ “คุณธนวณิช ชัยชนะ” หรือ “คุณอ๊อด” ซึ่งเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่สวมหมวกหลายใบในฐานะประธานเกษตรแปลงใหญ่ จังหวัดบึงกาฬ คุณอ๊อดยังมีธุรกิจส่วนตัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด และ บริษัท ชัยชนะฟาร์ม จำกัด

คุณธนวณิช ชัยชนะ กับผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา

จุดเริ่มต้น

เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย นิยมปลูกต้นยางพาราพันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ RRIM 600 และ RRIT 251 และจำหน่ายสินค้าในรูปยางก้อนถ้วย แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขายยาง เพราะโดนพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ คุณอ๊อด ทำอาชีพสวนยางพารา เนื้อที่ 76 ไร่ อยู่ในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยางพาราในท้องถิ่น จึงรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง เพื่อส่งเสริมการผลิตน้ำยางสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราที่มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและสมาชิกมีรายได้มั่นคง พัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน

วิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ได้จัดสรรหน้าที่ให้สมาชิกร่วมกันบริหารจัดการกลุ่ม การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพผลผลิต การเพิ่มผลผลิตและบริหารการตลาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ด้านตลาดได้เปิดตลาดประมูลยางก้อนถ้วย และเปิดจุดรับซื้อน้ำยางสด และเพื่อนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะยางแผ่น

ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นของวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง

ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินกิจกรรม “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่ได้เงินทุนสนับสนุนการแปรรูปยางจากโครงการ 9101

วิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ได้นำเงินทุนจากโครงการ 9101 มาใช้แปรรูปน้ำยางสดเป็นผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราและเป็นสินค้าทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ฯลฯ นอกจากนี้ คุณอ๊อด ยังพัฒนาต่อยอดธุรกิจอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มฯ เช่น การผลิตปุ๋ยไส้เดือน การผลิตอิฐบล็อก เป็นต้น

ปุ๋ยไส้เดือน สินค้าขายดีของกลุ่มวิสาหกิจ
การผลิตอิฐบล็อก สร้างรายได้เสริมของกลุ่มฯ

หมอนยางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราของวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ส่งขายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายประเทศจีน สปป.ลาว รัสเซีย สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ท้องถิ่นมากกว่า 1 ล้านบาท ต่อปี จึงถูกยกย่องว่าเป็นวิสาหกิจชุมชนยางพาราต้นแบบ ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันเกษตรกรแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบัน สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจฯ เน้นผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีน เพราะเป็นตลาดที่มีประชากรจำนวนมาก กำลังซื้อสูง ประกอบกับคนจีนให้ความสำคัญด้านสุขภาพ ซึ่งหมอนยางอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นสินค้าแฮนด์เมด ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ 100% ปลอดไรฝุ่น ช่วยลดอาการปวดคอ ปวดหลัง นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คุณอ๊อด กล่าว

ต้นแบบประชารัฐบึงกาฬ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทองในวันนี้ เกิดความร่วมมือความร่วมใจของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในอำเภอโซ่พิสัย และ บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด เข้ามาดูแลด้านการตลาด ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

การดำเนินงานของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง สอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส สร้างอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

“การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ตอบโจทย์นโยบาย “ประชารัฐ” ของรัฐบาล ทำให้ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิตและแปรรูปยาง จากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา มีโอกาสกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงินของรัฐบาล นำมาขยายการลงทุนแปรรูปยางพาราอย่างต่อเนื่อง” คุณอ๊อด กล่าว

นายกรัฐมนตรี ชมสินค้ายางพาราวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง
คุณสมชาย หาญหิรัญ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมกิจการ

ทุกวันนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง มีสมาชิกชาวสวนยาง จำนวน 45 คน มีกำลังการผลิตน้ำยางสดประมาณ วันละ 2-3 ตัน แนวโน้มราคาน้ำยางสดปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากกระแสความต้องการใช้น้ำยางสดไปทำถนนยางพาราในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งทางกลุ่มฯ มีทีมนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาสูตรน้ำยางสดสำหรับใช้ผลิตถนนยางพารา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้เข้าสู่กลุ่มฯ ในอนาคต

เนื่องจากทางกลุ่มฯ มีความเข้มแข็งเป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีชาวสวนยางพาราจากพื้นที่อำเภอเซกา อำเภอศรีวิไล และอำเภอพรเจริญ สนใจที่จะส่งน้ำยางสดเข้ามาขายที่ทางกลุ่มฯ ในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย

แนวทางพัฒนาตลาด

ภายหลังทางกลุ่มฯ ได้ผลิตสินค้าหมอนยางพารา ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ 100% ที่นอน แผ่นอาสนะ แผ่นรองสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ โดยผลิตและออกแบบให้เข้ากับสรีระ เพื่อช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้มีการนอนหลับที่ดีและถูกต้อง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ มีกำลังการผลิตหมอนยางพาราต่อเดือนมากกว่า 200 ใบ สินค้าของกลุ่มฯ กลายเป็นสินค้าของดีของจังหวัดบึงกาฬ

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ ได้เปิดตัวประชาสัมพันธ์สินค้าหมอนยางพาราให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง โดยนำสินค้าหมอนยางพาราไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดบึงกาฬมากกว่า 200 ใบ ทำให้ชาวบึงกาฬที่เข้ามาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้มีโอกาสทดลองใช้หมอนยางพารา ต่างรู้สึกประทับใจในคุณภาพหมอนยางพารา เมื่อมีโอกาสชาวบึงกาฬจะเลือกซื้อหมอนยางพารากลับไปใช้ที่บ้านต่อไป ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าหมอนยางพาราของกลุ่มฯ ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในทุกมิติ โดยปี 2561 ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบึงกาฬ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด ต้นแบบด้านแปรรูปยางพารา

สำหรับต้นน้ำ จะเผยแพร่ความรู้เรื่องการปลูกยาง เพื่อให้มีน้ำยางที่มีคุณภาพ ค่าดีอาร์ซีสูง ส่วนกลางน้ำ มุ่งสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆ และปลายน้ำ มุ่งส่งเสริมการสร้างแบรนด์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากยางพารา รวมทั้งเชื่อมโยงด้านการตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการยางพาราในระดับชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี เพื่อพัฒนากลุ่มธุรกิจแปรรูปยางสู่กิจการวิสาหกิจตามแนวทางประชารัฐ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ

คุณอ๊อด กล่าวว่า บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด นับเป็นต้นแบบด้านแปรรูปยางพารา โดยนำน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราและสินค้าอื่นๆ จำหน่ายในประเทศและส่งออก ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบึงกาฬ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ

เปิดตัวสินค้าใหม่

ในเดือนมิถุนายน 2562 ทางกลุ่มฯ เตรียมเปิดจำหน่ายสินค้าตัวใหม่คือ รองเท้านักเรียน ที่ผลิตจากยางพารา ให้กับ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ โรงเรียนระดับประถมศึกษาทุกแห่งภายในจังหวัดบึงกาฬ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตรองเท้านักเรียนชาย-หญิง จำนวน 10,000 คู่ ในปีแรก จำหน่ายสินค้าในราคาท้องตลาด หลังจากนั้นจะพัฒนาต่อยอดสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เข็มขัด กระเป๋านักเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายางพาราในท้องถิ่นต่อไป

ตัวอย่างรองเท้านักเรียน ที่ผลิตจากยางพารา สินค้าใหม่ของกลุ่มฯ

ฟาร์มเมล่อน
นอกจากนี้ คุณอ๊อด ยังมีธุรกิจส่วนตัวคือ ฟาร์มเมล่อน ปลูกผักออร์แกนิก ภายใต้ชื่อ บริษัท ชัยชนะฟาร์ม จำกัด ทางฟาร์มปลูกพืชผักอินทรีย์ ขนาด 20×20 เมตร จำนวน 16 แปลง เน้นปลูกพืชผักพื้นบ้าน เช่น ผักกาด ต้นหอม ผักบุ้ง ฯลฯ ขายในราคาถูก กำละ 10-15 บาท เพื่อให้ชาวบ้านได้กินผักสดปลอดสารพิษ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ ที่มีรสชาติหวานอร่อย กินได้เหมือนผลไม้

ฟาร์มดังกล่าวยังปลูกเมล่อนอินทรีย์ จำนวน 9 โรงเรือน เช่น พันธุ์คิโมจิ ฯลฯ ตลาดเมล่อนเติบโตดีมาก จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เมล่อนนอกจากในลักษณะผลสดแล้วยังสามารถแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะน้ำผลไม้ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

คุณอ๊อด กล่าวว่า ตลาดผักผลไม้ออร์แกนิกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้ผักออร์แกนิกเป็นจำนวนมาก ทางบริษัทจึงเตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัยเข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกผักออร์แกนิกและเมล่อน ส่งให้กับโรงพยาบาลทั่วทั้งจังหวัดบึงกาฬ

โครงการปลูกผักและเมล่อนออร์แกนิก เน้นปลูกดูแลในโรงเรือนระบบปิด มีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พืชผักที่ปลูกแบบอินทรีย์ พืชผักจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ปลอดจากสารเคมีตกค้าง เนื่องจากกระแสความนิยมเมล่อนขยายตัวสูงมาก ในปี 2562 จึงเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายผู้ปลูกเมล่อน เพื่อดำเนินงานในลักษณะแปลงใหญ่เมล่อน ในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและนำผลผลิตมาทำตลาดร่วมกัน โดยโรงเรือน 1 แห่ง ใช้พื้นที่เพียง 1 งาน สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ สามารถสร้างโรงเรือนได้จำนวน 3 หลัง

ซึ่งการปลูกเมล่อน มีต้นทุนค่าโรงเรือน หลังละ 50,000 บาท ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 1,000 บาท ซึ่งทางบริษัทชัยชนะฟาร์ม จำกัด ได้ทำเอ็มโอยูกับ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกเมล่อน เพื่อนำเงินกู้ไปใช้ก่อสร้างโรงเรือนเมล่อนระบบปิด

โดยเมล่อน 1 ต้น คัดผลผลิตคุณภาพดีเก็บไว้เพียง 1 ผล ต่อต้น เท่านั้น ระหว่างปลูกทางบริษัทจะจัดส่งนักวิชาการเกษตรเข้าไปแนะนำให้ความรู้แก่เกษตรกรทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ และบริษัทช่วยดูแลจัดจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก