“ ไผ่ ” พืชพลังงาน…อนาคตสดใส

“ ไผ่ ” นับเป็นพืชมหัศจรรย์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก เนื่องจาก ไม้ไผ่เป็นพืชพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ตอบโจทย์ในเรื่องพลังงานทดแทนได้อย่างดี แค่ปลูกไผ่สัก 5 ล้านไร่ ประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนไฟฟ้า แถมยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

รองศาสตราจารย์ ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก ประธานชมรมคนรักไผ่ กล่าวว่า ปัจจุบันไผ่หลายสายพันธุ์ ที่มีศักยภาพในด้านพืชพลังงาน โดยใช้ลำไผ่ทำพลังงานชีวมวล เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง (ตงอินโด) ไผ่กิมซุ่ง (ไผ่ไต้หวัน หรือไผ่เขียวเขาสมิง) ไผ่แม่ตะวอ ไผ่รวกและไผ่ซางนวล นอกจากนี้ ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่กิมซุ่ง ยังแปรรูปในลักษณะเพียวเร็ต(pellet )ทำถ่านไม้ไผ่ได้ แต่ไผ่ทั้งสองชนิดนี้ควรปลูกในบริเวณที่มีน้ำสมบูรณ์ “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง” ยังสามารถแปรรูปเป็นถ่านแกลบเรียกว่า ไบโอชาร์ ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วยังได้ปุ๋ยอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก

ถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูงที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิ 1,000oC ขึ้นไป ด้วยเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพ จะมีความสามารถสูงในการดูดซับกลิ่น ความชื้น สารพิษ สารเคมี ช่วยฟอกอากาศ กำจัดแบคทีเรีย ช่วยปลดปล่อยประจุลบ และอินฟราเรดคลื่นยาว ช่วยดูดซับรังสี ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน ใช้ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด

ถ่านกัมมันต์ (activated carbon) เป็นวัสดุคาร์บอนที่มีพื้นที่ผิวสูงมาก เนื่องจากมีรูพรุนจำนวนมหาศาล มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนและไนโตรเจนได้สูงมาก ผงคาร์บอนที่ผลิตได้จากถ่านไม้ไผ่เมื่อนำมาผสมกับดิน ช่วยปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังมีความสามารถในการดูดซับไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ไปทำลายชั้นโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตของโลกมากที่สุดอีกด้วย

นอกจากนี้ ถ่านไม้ไผ่ยังถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอาง ใช้ทำไส้กรองน้ำ ไส้กรองอากาศ ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ “ถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่” อย่างแพร่หลายเพราะ ถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่มีสมบัติเด่นในหลายด้าน สามารถนำไปแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สามารถส่งออกสร้างรายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สายพันธุ์ไผ่ที่เหมาะสำหรับผลิตถ่านกัมมันต์ได้แก่ ไผ่พันธุ์กิมซุ่ง พันธุ์ซางหม่น ฯลฯ

การปลูกไผ่ ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีขนาดลำต้นใหญ่โต ให้น้ำหนักชีวมวลต่อไร่ในระยะเวลาที่เท่ากันสูงกว่าพืชชนิดอื่น เป็นพืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ไผ่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปลูกเป็นพืชพลังงานงานทดแทนของโลกต่อไปในอนาคตเพราะ ทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลส เหมาะสำหรับใช้เป็นพลังงานชีวมวล สำหรับพันธุ์ไผ่ที่ให้ปริมาณชีวมวลในปริมาณมาก ได้แก่ พันธุ์กิมซุ่ง ตงลืมแล้ง ซางหม่น และวะโซ่ ฯลฯไผ่กลุ่มนี้เหมาะสำหรับผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เช่น สกัดเป็นน้ำมันดิบ นำต้นไผ่สด บดเป็นผงเพื่อนำไปหมักจะได้ก๊าซชีวภาพ (มีเทน) ที่มีค่าพลังงานสูงมาก ผลิตเม็ดพลังงานแห้งซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง รวมทั้งแปรรูปเป็นถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ธัญพิสิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเชื้อเพลิงจากธรรมชาติใต้ดินมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก และเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น ๆ มีต้นทุนที่สูงยากต่อการลงทุน ดังนั้นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด จากพืชกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก นิยมใช้ผลิตความร้อนตามบ้านเรือนในประเทศเขตหนาว ใช้ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ

รายได้จากการปลูกไผ่เป็นพืชพลังงาน

เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด มีจุดเด่นสำคัญคือให้ความร้อนสูงกว่าชีวมวลอย่างอื่น ขนส่งได้สะดวกเนื่องจากมีความหนาแน่นมาก มีเถ้าน้อย รวมทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยเฉพาะเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลที่ผลิตจากไม้ไผ่ เพราะไผ่เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างดี อีกทั้งมีพันธุ์ไผ่จำนวนมากมายสามารถเลือกให้เหมาะสมกับในแต่ละสภาพพื้นที่ได้

ไผ่ ที่ตัดนำไปใช้ประโยชน์ ควรเลือกลำไผ่แก่อายุ 2-3 ปี ส่วนลำอ่อนและหน่อไม้ที่เกิดใหม่จะปล่อยไว้เลี้ยงกอต่อไป สามารถตัดหมุนเวียนได้ทุกปีตลอดไปจนกว่าต้นไผ่จะออกดอกตายขุย อีกทั้งไผ่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยชะลอการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินและตลิ่งริมน้ำได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ไผ่ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าสีเขียวเป็นมิตรของธรรมชาติ (Eco-friendly)เพราะไผ่ให้ออกซิเจนในปริมาณสูงมากกว่าต้นไม้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ใช้เพียงปุ๋ยและน้ำ ไผ่จะจัดสมดุลออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ดีที่สุด

พลังงานทดแทนจากไผ่มีข้อดีมากมาย

ทุกวันนี้ กระแสความนิยมรณรงค์ให้ใช้สินค้าสีเขียวจากธรรมชาติ มาแรงมาก ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไผ่เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเส้นใย เพราะไม้ไผ่ให้เส้นใยที่มีคุณสมบัติดีเด่นที่สุดในโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ลำไผ่เป็นเชื้อเพลิง เพราะลำไม้ไผ่แก่มีถ่าน 22% แก๊ส 21% และไบโอออย 57%

พื้นที่ 1 เฮกแตร์ (6.25 ไร่) ผลิตไผ่แห้งได้ 10 ตัน ให้น้ำมัน 4,600 ลิตร ถ่านแท่ง 2,200 กิโลกรัม มีคุณค่าทดแทนน้ำมันจากธรรมชาติ 2,000 ลิตร (ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการผลผลิตได้สูงสุดถึง 50-100 ตันต่อไร่)

ผู้สนใจเรื่องไผ่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รองศาสตราจารย์ ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี12120 โทรศัพท์ 025644488 กด 0 และ 086-6552762