เผยแพร่ |
---|
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นำคณะผู้บริหาร นักวิจัย รวมถึงภาคเอกชนไทย ร่วมหารือกับหน่วยงานวิจัยและบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมืองานวิจัยขั้นสูงต่อไป
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ในระหว่างงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ nano tech 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมเวชศาสตร์นาโน (iCONM) และมหาวิทยาลัยโตเกียว และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท บริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น โดยนาโนเทคร่วมกับ iCONM และมหาวิทยาลัยโตเกียว จัดประชุมความร่วมมือด้านเวชศาสตร์นาโนแบบแม่นยำ (Precision Nanomedicine) ครั้งที่ 1 โดยมีผู้บริหาร และนักวิจัยนาโนเทคเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้บริหารและนักวิจัยญี่ปุ่น เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้าน Smart Health Society ที่เน้นการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Therapy) รวมถึงร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งสองประเทศ ในด้านการพัฒนายารวมไปถึงการศึกษากลไกของยาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง เพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาแบบมุ่งเป้า (Drug Delivery System) โดยใช้อนุภาคนาโนในการกักเก็บ ซึ่งระบบนำส่งดังกล่าวจะช่วยรักษาโรคมะเร็งในเซลล์เป้าหมายอย่างแม่นยำ ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่จะเกิดกับผู้ป่วยได้ ตลอดจนเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบัน ซึ่งเป็นการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่องด้านสุขภาพและการแพทย์ของสองประเทศ สืบเนื่องจากปีที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะผู้บริหารนาโนเทค ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการวิจัยและพัฒนาของ iCONM เพื่อกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างนาโนเทค ประเทศไทย กับ iCONM และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในด้าน Precision Nanomedicine ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับวงการวิจัยด้านการแพทย์ของประเทศไทยในอนาคต
นอกจากนี้ นาโนเทคยังนำคณะผู้บริหาร นักวิจัย และภาคเอกชนไทย ร่วมหารือความร่วมมืองานวิจัยด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์และยางขั้นสูง กับบริษัท บริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการพัฒนาวัสดุใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยกรอบความร่วมมือจะมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุและสารเคลือบระดับนาโน อาทิ งานวิจัยด้าน nanocoating ที่เพิ่มสมบัติพิเศษและประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์
“ปัจจุบันนาโนเทค ได้มีการพัฒนาสารเคลือบระดับนาโนเพื่อใช้งานกับเซลล์แสงอาทิตย์และแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์ รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย งานวิจัยด้าน Soft Robotics เพื่อพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์และยางขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำหรับหุ่นยนต์ที่สามารถยืดหยุ่นได้ และวัสดุทดแทนอวัยวะเทียม โดยวางแผนที่จะนำงานดังกล่าวไปใช้ในสถานพยาบาลสำหรับคนชรา และงานวิจัยการปรับโครงสร้างคาร์บอนกัมมันต์ให้มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายางในประเทศไทยรวมไปถึงการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อรักษาสิ่งเเวดล้อมอีกด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวปิดท้าย