ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | มนตรี แสนสุข |
เผยแพร่ |
หญ้าแฝก เป็นวัชพืชที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาดินเป็นอย่างยิ่ง พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศมักมีปัญหาเรื่องของ “ดิน” กับ “น้ำ” ถ้าแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ก็สามารถพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้ดีง่ายขึ้น แต่หากขาดน้ำการพัฒนาปรับปรุงดินให้ดีก็ยาก จึงมีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยนำหญ้าแฝกเข้ามาช่วยกักเก็บน้ำ หรือป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ในพื้นที่ที่ดินไม่กักเก็บน้ำ ปัจจุบันมีการนำหญ้าแฝกเข้าไปปลูกกันมากขึ้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า “หญ้าแฝก” มีความสำคัญต่อการพัฒนาดิน และเกษตรกรก็มองเห็นประโยชน์จากหญ้าแฝกทำให้พื้นที่ไร่นาสวนผสมที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำสามารถทำการเกษตรเอาตัวรอดได้ มีตัวอย่างให้เห็นแล้วมากมาย
“หญ้าแฝก กับไร่นาสวนผสม” ในพื้นที่ทำกินของ คุณสุเทพ เพ็งแจ้ง ก็เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าหญ้าแฝกมีความสำคัญต่อการพัฒนาดินเป็นอย่างยิ่ง
คุณสุเทพ บอกว่า ในที่ดินทำกินของตนมีอยู่ทั้งหมด 20 ไร่ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ปีหนึ่งทำนาได้ข้าวไร่ละไม่ถึง 10 ถัง สาเหตุเพราะน้ำท่วม พอถึงหน้าแล้งดินก็ไม่ดีไม่กักเก็บน้ำ
ต่อมาได้ฟังโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็สนใจพยายามศึกษาว่า “โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่” คืออะไร ในที่สุดก็ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของหน่วยงานเกษตร ปรับโครงสร้างการทำเกษตรในพื้นที่ใหม่ เริ่มงานตั้งแต่ ปี 2539 ลงทุนเอง แต่ขอการสนับสนุนพันธุ์ไม้ผลจากเกษตร
“เริ่มจากการขุดสระเพื่อยกร่องป้องกันน้ำท่วมก่อน โดยขุดสระทั้งหมด 4 สระ เป็นการขุดแบบไม่มีภูมิรู้ เอาดินก้นสระขึ้นมาโปะข้างบน ผลปรากฏว่าดินที่กองขึ้นมาโปะข้างบนไม่มีธาตุอาหารอะไรเลย ส่วนน้ำที่ซึมออกมาก็ใช้ไม่ได้ อาบก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ รสชาติฝาด พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวได้พอเอาดินพลิกกลับมากลับปลูกข้าวไม่ได้ เพราะดินไม่มีธาตุอาหาร จึงนำความไปปรึกษาหมอดินของกรมพัฒนาที่ดิน ต้องใช้เวลาหมักดินอยู่ 2 ปี”
คุณสุเทพ กล่าวอีกว่า ได้ไปสมัครเป็นหมอดินอาสา เพื่อศึกษาเรื่องดินแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก คือ สระน้ำที่ขุดนอกจากปลูกต้นไม้ไม่ได้เ พราะดินไม่ดีแล้ว และสระยังพังทุกปี เวลาน้ำลดดินรอบสระจะไหลลงไปอยู่ก้นสระหมด พอดีได้ฟังในหลวงพระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝก โดยไม่ต้องหวังผล แต่วันข้างหน้าจะดีเอง จึงไปขอแฝกจากกรมพัฒนาที่ดิน ครั้งแรกได้มา 5,000 กล้า เริ่มนำมาปลูกรอบๆ สระ และขยายพันธุ์จนเต็มพื้นที่
การปลูกหญ้าแฝกให้รอบพื้นที่สระน้ำ 4 สระ ต้องใช้กล้าพันธุ์แฝกหลายแสนกล้า จึงใช้วิธีการขยายพันธุ์หญ้าแฝกไปทีละน้อย หลังจากที่หญ้าแฝกโตระดับหนึ่งปัญหาเรื่องดินไหลลงก้นสระก็ไม่เกิดแล้ว ขอบบ่อก็ไม่แตกเป็นเพราะรากของหญ้าแฝกช่วยพยุงไว้ จึงหันมาพัฒนาที่ดินในส่วนอื่นๆ ต่อไป โดยการปลูกหญ้าแฝก
“ผมยืนยันได้เลยครับว่า รากหญ้าแฝกสามารถกักเก็บน้ำได้จริง”
คุณสุเทพ บอกด้วยว่า พอถึงฤดูแล้งหญ้าแฝกจะดึงน้ำที่สะสมไว้ด้านล่างมาเลี้ยงไม้ผลได้ ไม่ต้องกลัวว่ารากหญ้าแฝกจะไปแย่งอาหารจากต้นไม้อื่นๆ เพราะรากหญ้าแฝกจะอยู่ในแนวดิ่ง ไม่มีการแพร่กระจาย รากจะดิ่งตรงลงล่างอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นวัชพืชทั้งหลายระบบรากจะแผ่ ถือว่าเป็นข้อดีของหญ้าแฝก พอช่วงฤดูน้ำไหลหลากรากหญ้าแฝกจะช่วยเก็บน้ำใต้ดินได้ ระบบรากหญ้าแฝกยาวลงไปเกือบ 12 เมตร หรือมากกว่า 12 เมตร ก็มี
ในพื้นที่ทำกินทั้งหมด 20 ไร่ มีบ่อน้ำ 4 บ่อ แบ่งพื้นที่ทำนา 10 ไร่ ปลูกพืชผักและไม้ผลผสมผสานกันไป รอบๆ คันนาปลูกหญ้าแฝก ปีแรกเอาหญ้าแฝกปลูกในแปลงนา คือ เริ่มปลูกราวเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมก็เกี่ยวแฝกเอาใบหญ้าแฝกไปทำปุ๋ย ในนาก็หว่านปอเทือง พอปอเทืองโตได้อายุการออกดอกก็ไถกลบ จากนั้นจึงหว่านข้าวทำนาเป็นการทำนาปี
หลังจากเกี่ยวข้าวจะใช้น้ำหมักชีวภาพ และสาร พด. จากกรมพัฒนาที่ดินฉีดฟางข้าวแล้วไถกลบ เพื่อให้ฟางย่อยสลาย เมื่อฟางย่อยสลายและน้ำในนาแห้งดีแล้วทดลองเอาจอบขุดดินดู ถ้าดินไม่ติดจอบก็ไถทำเทือกได้ จากนั้นจึงหว่านถั่วเขียวลงไป ก็จะมีรายได้จากถั่วเขียวอีกทางหนึ่ง
คุณสุเทพ เล่าว่า ช่วงที่ไม้ผลยังไม่ได้ผลผลิตก็มีตัวสำรองในการสร้างรายได้ นั่นก็คือ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ จะได้ไข่จากเป็ดและไก่ทุกเดือน ในบ่อน้ำเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักไว้กินเองที่เหลือเก็บขาย จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงบ้าน พอผลไม้ออกก็จะได้ผลไม้อีกทางหนึ่ง ผลไม้ที่ปลูกไว้ก็มี มะม่วง ขนุน กระท้อน ฝรั่ง มะขามเทศ มะขามเปรี้ยว ฝรั่ง แก้วมังกร หลากหลายชนิดตามหลักทฤษฎีใหม่
“จากนั้นก็หันมาพัฒนากระต่ายขาย การเลี้ยงใช้วิธีเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง ให้สุนัขช่วยเลี้ยงกระต่ายอีกแรง วิธีการก็คือ เอาลูกสุนัขตัวเล็กๆ กับกระต่ายตัวเล็กๆ ให้อยู่ด้วยกัน เลี้ยงในกรงเดียวกันเลย พอโตขึ้นก็ปล่อยตามธรรมชาติสุนัขกับกระต่ายก็จะเป็นเพื่อนกัน สุนัขมีกำลังมากกว่าจะช่วยดูแลป้องกันภัยให้กระต่ายไม่ทำร้ายกัน”
“ผมขายกระต่ายเนื้อตัวใหญ่ๆ ชาวบ้านที่นี่เขาก็ชอบกินเนื้อกระต่าย เพราะกระต่ายป่าหาไม่ได้ เขาก็เลยหันมากินกระต่ายพันธุ์กัน รายได้ดีทีเดียว เรื่องอาหารกระต่ายก็ปล่อยให้กินหญ้าตามธรรมชาติ ส่วนขี้กระต่ายเอามาทำปุ๋ยรวมกับขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ปลา เก็บเอามาทำปุ๋ยหมด”
คุณสุเทพ เล่าต่อว่า ในพื้นที่ยังเลี้ยงกบ ปัจจุบันเลี้ยงได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ทำโรงเรือนเลี้ยงด้วยหัวอาหาร แรกๆ ตั้งใจเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ แต่กังวลว่าจะสู้งูไม่ได้ จึงต้องช่วยกบ โดยการเลี้ยงในโรงเรือน การเลี้ยงกบมีวิธีการเลี้ยงหลากหลายรูปแบบ จะเลี้ยงในกระชังก็ได้ เลี้ยงบนบก ทำโรงเรือนก็ได้ หรือจะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ก็ได้ แต่ต้นทุนค่อนข้างสูง ราคากบไม่แน่นอน ถ้าคนเลี้ยงกันน้อยราคากบก็จะสูง แต่ถ้าคนนิยมเลี้ยงกันมาก ราคาก็ตกต่ำ วิธีการเลี้ยงสุดแล้วแต่เกษตรกรตามอัธยาศัย ถนัดอย่างไหนเลี้ยงได้ทุกวิธี
ในเรื่องของปุ๋ย คุณสุเทพ บอกว่า ทำใช้เองสบายๆ ปลูกหญ้าแฝกในนาพอเกี่ยวเอาใบขึ้นมาทำปุ๋ย ในนาใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นหลัก หลังเกี่ยวข้าวจะใช้น้ำหมักชีวภาพเข้าไปสลายตอซังข้าว จะไม่ใช้วิธีเผาตอซังเด็ดขาด
“ผมตั้งกลุ่มไม่เผาตอซังขึ้นมาเลย เพราะเผาตอซังจะทำให้จุลินทรีย์ที่หน้าดินถูกทำลาย และก็ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อนด้วย”
มีการทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงขึ้นมาใช้ คือ ต้องใช้ฟอสเฟต กากถั่วเหลือง รำอ่อน มูลสัตว์ นำมาหมัก คุณภาพเทียบเท่าปุ๋ยเคมี หรือดีกว่าตรงที่ดินจะร่วนซุยดีกว่าใช้ปุ๋ยเคมี แต่ราคากากถั่วเหลืองค่อนข้างสูง การหมักปุ๋ยก็ใช้ พด. 1 – 2 – 3 และ พด. 9 ทำกองสี่เหลี่ยมสูง 30 ซ.ม. ให้ความชื้นประมาณ 30% หมักไว้ 20 วัน ถ้าจะเอาไปใส่ต้นไม้เลยก็ไม่ต้องตีป่น แต่หากจะเข้ากระบวนการอัดเม็ดแบบปั้นจานก็ต้องตีป่นก่อนแล้วใส่จานปั้นเม็ดปุ๋ย โดยใช้น้ำหมัก พด. 2 เป็นตัวปั้นเม็ดปุ๋ย
คุณสุเทพ อธิบายว่า หลายคนก็มักบอกว่าการปลดปล่อยธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์จะช้ากว่าปุ๋ยเคมี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ช้านานสักเท่าไร ใส่ลงไปเพียงแค่ 2 วัน พืชก็เขียว เป็นการเขียวทน เขียวนาน เขียวและสมบูรณ์เป็นปี ต่างกับปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปใบเขียวเพียง 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็แดงต้องใส่กันใหม่ เมื่อใส่มากๆ ดินจะเกิดกรดกำมะถัน ทำให้ต้นพืชไม่กินปุ๋ยแล้วจะยุ่งกันไปใหญ่
“การปลูกพืชทำสวนใช้วิธีหลากหลายจะดีกว่า อย่าเน้นการปลูกเชิงเดี่ยวเพราะไม่รู้ว่า อนาคตในวันข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร”
คุณสุเทพ สู้งานการเกษตรตามวิธีทฤษฎีใหม่ปลูกหญ้าแฝกกับไร่นาสวนผสมมา 10 กว่าปี จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จในชีวิต ทุกวันนี้ คุณสุเทพ บอกว่า
“การทำเกษตรของผมทำแบบบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เหลือจากการบริโภคแจกก็ได้ ขายก็ดี ผมมีอาชีพติดตัวอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นช่างตัดผม ตรงนี้ได้เงินทุกวัน ภรรยามีอาชีพเย็บผ้า นี่ก็มีรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากไร่นาสวนผสมที่หลากหลาย ก็พออยู่ได้ครับ”
สนใจจะพูดคุยกับเกษตรกรคนเก่ง โดยเฉพาะเรื่องของหญ้าแฝก โทร.คุยกันได้ที่ 082-394-6892 เชิญครับ