ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
ปกติ ปลากัด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยสีสันที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนกันในแต่ละตัว ทำให้ปลากัดกลายเป็นปลาที่ได้รับความนิยม นำขึ้นมาเลี้ยงตู้ โหล ขวด แล้วแต่ภาชนะที่ผู้เลี้ยงสะดวก และเป็นที่เข้าใจกันว่า ปลากัด เลี้ยงง่าย ตายยาก แต่ผู้เลี้ยงหลายรายประสบปัญหาเดียวกัน คือ ซื้อมาแล้วเลี้ยงไม่นานก็ตาย
คุณมนตรี สายศรี หรือคุณตั้ม หนุ่มวัยทำงาน ผู้ศึกษาการเพาะเลี้ยงปลากัดด้วยตนเอง กระทั่งก่อตั้งฟาร์มเล็กๆ เป็นที่ค้าปลีกและค้าส่งปลากัดที่รู้จักกันดีของจังหวัดอ่างทอง และเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม ซึ่งคุณมนตรีเองบอกว่า รายได้มากเทียบเท่ารายได้หลักทีเดียว
“ผมทำงานประจำอยู่ครับ เพาะเลี้ยงปลากัดขายนี่เป็นอาชีพเสริม แต่รายได้เกือบเท่ารายได้หลักของผมเลยทีเดียว ด้วยความชอบเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็ก และเลือกปลากัด เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เป็นปลาที่เจริญเติบโตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ฉะนั้นการเลี้ยงปลาให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก็จะทำให้ปลากัดไม่ตายง่ายเหมือนที่หลายคนประสบปัญหา”
เริ่มต้นเลี้ยงปลากัด เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา คุณมนตรี อาศัยความชอบในการเลี้ยงปลา เลือกเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพเสริม เพราะเห็นว่าปลากัดเป็นปลาที่น่าจะเลี้ยงง่าย อาศัยธรรมชาติในการดูแล แต่ถึงอย่างนั้น คุณมนตรีก็ไม่ได้เลี้ยงแบบขอไปที แต่เริ่มด้วยการศึกษาให้ถ่องแท้ทางอินเตอร์เน็ต หนังสือ และอื่นๆ เท่าที่จะทำได้
แรกเริ่มมือใหม่ คุณมนตรีก็เสียรู้ไปเหมือนกัน พ่อแม่พันธุ์ปลากัดที่ตระเวนซื้อมาจากตลาดนัดสวนจตุจักร 20 คู่ ตายหมด หลังจากซื้อมาเลี้ยงได้ไม่นาน ด้วยเหตุนี้ คุณมนตรีจึงหันกลับไปศึกษาอย่างจริงจังใหม่อีกครั้ง และพุ่งเป้าที่ไปฟาร์ม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลากัดโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีฟาร์มปลากัดชื่อดังหลายแห่ง
หลังจากมีประสบการณ์ คุณมนตรี เดินหน้าเข้าหาฟาร์มปลากัดหลายแห่ง เพื่อเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และได้ตามต้องการมาเพาะ ในที่สุดก็เริ่มเพาะพันธุ์ปลากัดได้จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เทคนิคการเลี้ยงปลากัดให้รอดและตายน้อยที่สุด
คุณมนตรี บอกว่า ขึ้นอยู่กับน้ำที่ใช้เลี้ยงว่ามีความสะอาดมากพอหรือไม่ แม้ว่า ปลากัดจะเป็นปลาตามธรรมชาติ มีความอดทนสูง โอกาสตายน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทนทานได้ทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือที่อยู่อาศัย และ น้ำที่ใช้
“ปลากัดเป็นปลาอิงธรรมชาติ จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดโรคจากแหล่งน้ำ เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติมีพื้นที่กว้าง โอกาสเกิดน้ำเสียยาก ปลาจึงตายยากด้วยเช่นกัน”
ที่อยู่อาศัยสำหรับปลากัด คุณมนตรี เลือกใช้โหลที่มีพื้นที่กว้างมากพอ เพื่อให้ปลาไม่รู้สึกอึดอัด เมื่อปลาร่าเริงก็จะไม่ป่วยง่าย อีกทั้งการทำความสะอาดน้ำ โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ ทำให้น้ำสะอาด โอกาสเกิดโรคกับปลาก็น้อย ซึ่งการถ่ายน้ำจะทำในตอนเย็นของทุกวันด้วยการดูดเอาสิ่งสกปรกที่ตกตะกอนในภาชนะเลี้ยงปลาออก แล้วเติมน้ำเข้าแทนที่ 2-3 วันจะเปลี่ยนน้ำทั้งหมดอีกครั้ง เมื่อถ่ายน้ำใหม่ ปลากัดจะร่าเริง โอกาสป่วยน้อยมากหรือไม่มีเลย
สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัด ไม่จำเป็นต้องวัดค่าพีเอชอย่างละเอียด แต่ควรเป็นน้ำที่มีสารคลอรีนตกค้างน้อยที่สุด หากอยู่ในชุมชนก็ควรพักน้ำไว้ก่อนเปลี่ยนถ่ายให้กับปลา และควรใส่ใบหูกวางแห้งหรือใบสีเสียดแห้งไว้ด้วย เพราะรักษาสมดุลน้ำและทำให้น้ำมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากปลากัดเป็นปลาขี้กลัว ขี้ระแวง เมื่ออาศัยอยู่ในน้ำใส จะกังวลและขับเมือกตัวเองออกมา และเมือกทำให้น้ำขุ่น เมื่อน้ำขุ่นจะมีผลทำให้น้ำเสียและเกิดโรคที่ปลาในที่สุด
คุณมนตรี บอกว่า ความโดดเด่นของปลากัด อยู่ที่ สีสันสวยงาม ใช้พื้นที่น้อยในการเลี้ยง ไม่มีเสียงรบกวน อยู่ได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ในการเลี้ยงที่ยุ่งยาก
ในการผสมปลากัด อย่างที่บางคนเชื่อว่า ปลากัดแค่มองตาก็ตั้งท้อง แท้ที่จริงแล้ว การเทียบปลาให้มองตากันเป็นวิธีลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ และเมื่อเห็นว่าความก้าวร้าวระหว่างคู่ลดลงแล้ว จึงจับใส่ภาชนะเดียวกัน เพื่อให้ปลาได้ผสมพันธุ์กัน ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าปลากัดแค่มองตาแล้วตั้งท้องจึงเป็นความเชื่อที่ผิด
วิธีสังเกตความพร้อมของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลากัด
อายุของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลากัด ต้องไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะผสมได้ ซึ่งการผสมพันธุ์มีหลายแบบ ขึ้นกับเทคนิคการผสมของแต่ละฟาร์มที่ไม่เหมือนกัน
สำหรับ ฟิน เบ็ตต้า จะให้ความสำคัญที่ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเลือกพ่อพันธุ์ที่มีหวอดสมบูรณ์ ส่วนแม่พันธุ์เลือกตัวที่มีไข่ สังเกตที่ท้องมีสีเหลืองๆ เต่งออกมา จากนั้นนำภาชนะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เทียบกัน 1-2 วัน เพื่อลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ลง แล้วจึงนำแม่พันธุ์ใส่ลงไปในภาชนะพ่อพันธุ์ ปล่อยให้อยู่ด้วยกันนาน 4 วัน จากนั้นตักแม่พันธุ์ออก ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่
เหตุที่ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่ เนื่องจากเมื่อไข่เก็บอยู่ในหวอดแล้ว พ่อพันธุ์จะพ่นหวอดออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อพยุงไข่ไม่ให้ตกลงพื้นภาชนะ ยกเว้นกรณีที่พบว่า พ่อพันธุ์กินไข่ให้ตักพ่อพันธุ์ออก ปล่อยให้แม่พันธุ์อยู่กับไข่และหวอดแทน ทั้งนี้ควรให้อาหารพ่อพันธุ์อย่างเต็มที่ เพราะหากปล่อยให้พ่อพันธุ์หิว พ่อพันธุ์อาจกินไข่ที่มีก็ได้
ระหว่างที่พ่อพันธุ์เฝ้าหวอดและไข่ ควรให้ใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง ใส่ลงไปในภาชนะนั้นด้วย เพื่อให้ลูกปลาที่กำลังเริ่มโตได้มีที่เกาะ พยุงตัวลูกปลาไว้ อีกทั้งใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง จะช่วยให้น้ำมีความเป็นธรรมชาติ
เมื่อระยะเวลาผ่านไป 4-5 วัน ควรเริ่มให้อาหาร เป็นไข่แดงต้ม, ไรทะเล หรือ ไรจืด ในปริมาณน้อยมาก
จากนั้น ลูกปลาเริ่มเจริญเติบโตขึ้น อายุ 2 สัปดาห์ ขนาดลูกปลากัดเกือบเท่าปลาหางนกยูง ซึ่งไซซ์นี้อัตราการรอดของลูกปลากัดจะสูง
หลังจากนั้น ควรให้อาหารเสริมเป็นเต้าหู้ไข่ เพราะในเต้าหู้ไข่ มีไข่ แป้ง และวิตามินอื่นๆ ให้วันละครั้ง ปลากัดก็อยู่ได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตาม การให้อาหารเม็ดนั้นก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะเมื่อเปลี่ยน
ในการออกไข่แต่ละครั้งของปลากัด จะมีมากกว่า 1,000 ฟอง เมื่อเจริญเติบโตเป็นลูกปลา จะลดจำนวนลง เพราะเกิดความเสียหายระหว่างฟัก แต่อัตราการรอดของลูกปลากัดที่ทำได้มากที่สุดคือ 300-500 ตัว ต่อ ปลากัดจำนวน 1,000 ตัวที่ฟักออกมา และในจำนวนที่รอด สามารถคัดเป็นปลากัดเกรดสวยได้เพียง 20 เปอร์เซ็น
ในจำนวนปลาที่รอดทั้งหมด ฟิน เบ็ตต้า จะเลือกตัวที่มีลักษณะดีไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ส่วนที่เหลือก็ดูตามลักษณะของปลา จำหน่ายตามลักษณะและสีของปลา ซึ่งขึ้นกับลูกค้าแต่ะละรายที่ชอบไม่เหมือนกัน และเริ่มขายปลาออกเมื่อปลาอายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง โดยสีและลักษณะของปลาจะยังคงเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ และสีจะนิ่งจนเมื่อปลามีอายุประมาณ 4 เดือน
ส่วนอายุของปลากัด หากดูแลเอาใจใส่ดีๆ จะเจริญเติบโตได้นาน 1-2 ปีทีเดียว
สำหรับโรคที่พบบ่อย คือ หูด ที่มีลักษณะของเนื้อพองที่ตัวปลา ซึ่งไม่มีผลอะไร นอกจากทำให้ปลาไม่สวยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากดูแลให้น้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โอกาสเกิดโรคไม่มี
ปัจจุบัน คุณมนตรี มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กว่า 30 คู่ ในแต่ละเดือนผลิตลูกปลากัดออกสู่ท้องตลาดหลายร้อนตัวต่อเดือน ซึ่งคุณมนตรี บอกว่า ตลาดปลากัดในประเทศยังคงกว้างมาก ความต้องการปลากัดเลี้ยงในประเทศยังไม่เพียงพอ จึงตั้งใจทำตลาดในประเทศให้ดีมากกว่าก่อนจึงจะพัฒนาตลาดไปถึงต่างประเทศ
สนใจปลากัดที่เลี้ยงด้วยวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด สอบถามเพิ่มเติมหรือติดต่อเข้าชมฟาร์ม ได้ที่ คุณมนตรี สายศรี 77/2 หมู่ 5 ตำบลย่านซื่อ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง หรือเปิดชมปลาสวยๆ ได้ที่ เพจ Finbetta หรือโทรศัพท์นัดแนะได้ที่ 081-0085380