ถอดบทเรียน “หนานเฉาเหว่ย” ใช้เป็นมีคุณ ใช้ผิดวิธีมีโทษ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดเสวนาวิชาการ ถอดบทเรียนหนานเฉาเหว่ย กินใช้อย่างไรห่างไกลตับไตวายŽ มีวิทยากรที่คลุกคลีกับสมุนไพรหนานเฉาเหว่ย และผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้มีประสบการณ์การใช้สมุนไพรหนานเฉาเหว่ย เข้าร่วม

พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ หัวหน้าภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยไต พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือไตเสื่อมมากขึ้น โดยมีตัวเลขถึง 8 ล้านคน ที่น่าตกใจคือ ประชาชนร้อยละ 98 ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไตเสื่อม จนกระทั่งโรคดำเนินเข้าสู่ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นเกือบระยะสุดท้ายที่ออกอาการ และก็ยากที่จะรักษาแล้ว

กลุ่มเสี่ยงโรคไตเสื่อม คือ กลุ่มคนไข้ความดันสูง เบาหวาน จึงอยากให้คนกลุ่มนี้ตรวจเช็กเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้มีข้อบ่งชี้อีกอย่างคือ ให้สังเกตจากการปัสสาวะกลางคืนบ่อย ก็เป็นภาวะเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมที่ชอบหาซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง ทั้งร้านขายยาและยาชุด โดยเฉพาะยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว หากรับประทานต่อเนื่องจะมีผลกระทบทั้งไตและตับŽ พญ.สุภินดากล่าว

พญ.สุภินดากล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานจากประเทศเบลเยียมระบุว่า กลุ่มผู้ที่ใช้สมุนไพรลดน้ำหนักมีภาวะไตเสื่อม เนื่องจากใช้สมุนไพรผิดตัว จึงอยากแนะนำว่าการจะดูแลตับไตให้อยู่กับเราไปนานๆ มี 6 ข้อ คือ 1.อย่าซื้อยามารับประทานเอง 2.ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรกับผู้ป่วยโรคไต เพราะผลการวิจัยส่วนใหญ่จะส่งผลดีกับคนปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยยังไม่มีงานวิจัยที่รองรับการรักษา 3.งดรับประทานเค็ม และอาหารที่ใส่ผงชูรสมาก 4.ควบคุมน้ำหนักอย่าให้อ้วน เพราะคนอ้วนจะเสี่ยงกับโรคไตสูงกว่าคนผอม 5.หยุดสูบบุหรี่ และ 6.ควบคุมเบาหวานและความดันŽ พญ.สุภินดากล่าว และว่า หากสามารถทำได้ทั้ง 6 ข้อ โอกาสที่จะเป็นโรคไตเป็นไปได้ยาก

ด้าน ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การจัดเสวนาวันนี้อยากชวนคิดว่ามีระบบอะไรที่จะช่วยประชาชนในการใช้สมุนไพรอย่างปลอดภัย และใช้ภูมิปัญญาปู่ย่าตายายมาต่อยอด

สำหรับสมุนไพรหนานเฉาเหว่ยนั้น มีชื่อเรียกหลายอย่าง ทั้ง ป่าเฮ่วหมองŽ ที่หมอไทยใหญ่เรียกขาน หรือ ป่าช้าเหงาŽ ป่าช้าร้างŽ ป่าช้าหมองŽ ทั้งนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้เก็บข้อมูลและศึกษาร่วมกับแพทย์พื้นบ้านมานานนับสิบปี ซึ่งพบว่ามีการกิน ใช้ กันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในชนกลุ่มน้อยไทยใหญ่ที่ยังมีภาวะสงครามอยู่ก็ใช้กันอยู่แต่ไม่ได้แพร่หลาย

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า สำหรับข้อบ่งใช้สมุนไพรหนานเฉาเหว่ยให้ปลอดภัย คือ ไม่ควรรับประทานเกิน 1-3 ใบ และไม่ควรรับประทานทุกวัน โดยอาจจะลวกก่อนเพื่อลดความขม ทั้งนี้ สาเหตุหรือปัจจัยที่หนานเฉาเหว่ยมีผลเสียต่อร่างกายคือ ใช้ขนาดสูงต่อเนื่อง ผู้ใช้มีค่าไตไม่ดีก่อนใช้สมุนไพร รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การหยุดใช้ยาแผนปัจจุบันกับโรคที่เป็นอยู่ และที่พบบ่อยคือกินผิดชนิด เนื่องจากสมุนไพรหลายชนิดลักษณะที่เหมือนกันจนแยกไม่ออก

ผู้ป่วยที่รับประทานหนานเฉาเหว่ยเชื่อว่า ช่วยรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ไขมัน และสามารถทำให้โรคหายขาด ช่วยคุมโรคได้ดีขึ้น ไม่ต้องกินยาแผนปัจจุบันมาก ในบางรายลดยาและหยุดยาเอง

นอกจากนี้ เรามักเจอคำว่า เขาเล่าว่าสมุนไพรนี้รักษาได้สารพัดโรค เช่น แก้ปวด รักษามะเร็ง ฯลฯ รวมทั้งรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ไม่มีโรคไม่มีอาการ แต่ต้องการใช้ โดยหวังผลให้เป็นยาอายุวัฒนะŽ

ภญ.ผกากรองกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบการใช้สมุนไพรหนานเฉาเหว่ยในต่างประเทศ เช่น แอฟริกา เพื่อรักษาหลายโรค อาทิ โรคมาลาเรีย โรคกระเพาะ โรคดีซ่าน ภาวะมีบุตรยาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ริดสีดวง เป็นต้น

ด้าน นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ พิธีกรรายการชัวร์ก่อนแชร์ กล่าวว่า จากการดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ มาเป็นพันตอน ได้รับข้อมูลที่ผ่านการแชร์มาก แต่เมื่อได้สืบค้นข้อมูลย้อนกลับไปยังต้นตอ ส่วนใหญ่ก็จะไม่เป็นความจริง และยิ่งในสังคมยุคปัจจุบัน การส่งต่อข้อมูลเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว การทำข้อมูลเท็จ ทำได้ง่ายทั้งแบบภาพนิ่งและวิดีโอ จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบและทวนข้อมูลที่แท้จริงก่อนจะแชร์ต่อเพราะบางครั้งการแชร์กันจนถูกเชื่อและนำไปใช้กันแบบผิดๆ ไปแล้ว เกิดผลเสียหาย นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายครั้งมีการแชร์เพื่อหวังผลกับสินค้า เช่น ต้องการขายอาหารเสริม สมุนไพรของตัวเอง

ขณะที่ นางอำมร บรรจง ผู้จัดการส่วนผลิตรายการ FM 96.5 ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้แชร์ประสบการณ์ที่คลุกคลีกับผู้ฟังที่ใช้สมุนไพรว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศัพท์ทางการแพทย์ และข้อบ่งใช้ของสมุนไพร สื่อสารด้วยภาษาที่ยากในทางวิชาการ โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจากการบอกต่อ เมื่อได้รับข้อมูลการแชร์ในภาษาง่าย อาจทำให้หลงเชื่อและใช้กันอย่างผิดๆ ทั้งที่สมุนไพรมีประโยชน์ถ้าใช้เป็นและส่วนตัวแล้วสามีก็รับประทานหนานเฉาเหว่ยในการควบคุมน้ำตาลวันละ 1 ใบเท่านั้น และจะมีการตรวจร่างกายเพื่อติดตามผลอย่างเป็นระบบเช่นกัน

สำหรับผู้สนใจ สามารถร่วมเรียนรู้การใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องกันต่อได้ที่ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม 2562 ที่ศูนย์การแสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 10-12