พ่อค้าตาคมพาชม ขายผักแบบศรีลังกา

เพื่อนรุ่นน้องสาวมาเลเซียน แต่ไปทำงานที่สิงคโปร์ของฉัน ชื่อ Ally หรือชื่อจริงคือ FangWoei Chan เป็นนักบัญชีชั้นเซียนที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ของสิงคโปร์วางใจ ทำงานอย่างมืออาชีพและไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง นางมีสายตาเหยี่ยวที่จะเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นเสมอ จึงเป็นผู้ตรวจบัญชีมือหนึ่งจนทุกวันนี้

ชีวิตนอกจากเวลางาน Ally ชอบท่องเที่ยว และไม่ได้เที่ยวฉุยฉายธรรมดา เธอเคยเดินทางรอบโลกคนเดียวมาแล้ว บุกไปถึงถิ่นที่เขารบสู้กันก็ไปมา แม้ทุกวันนี้จะกลับมาทำงานเต็มตัว แต่ทุกครั้งที่มีเวลา เธอจะออกเดินทาง เลือกไปในที่ที่ทุกคนไม่ไป หรือไม่อยากไป

ล่าสุด Ally ไปศรีลังกา ประเทศในเอเชียใต้ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป ด้วยว่ายังพัฒนาได้ไม่มาก คนรู้จักศรีลังกาแบบขยาดๆ จากสงครามกลางเมือง ระหว่างกลุ่มพยัคทมิฬอีแลม กับรัฐบาลที่ยืดเยื้อกว่า 30 ปี คนล้มตายและประเทศถูกถีบไปอยู่ที่ขอบเหวแห่งหายนะ
ที่จริงศรีลังกานั้นงดงามนัก เป็นเกาะไม่ใหญ่นัก แขวนจากชมพูทวีป รูปร่างคล้ายหยดน้ำ หน้าตาเหมือนเกาะไต้หวัน อากาศร้อนแต่ชายทะเลก็งดงามเหลือกำลัง

และ Ally ก็ไปและมองเห็นแง่งามของบ้านเมืองที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนั้น เธอเล่าให้ฟังอย่างออกรสในการผูกมิตรกับหนุ่มพ่อค้าขายผักในตลาดแมนนิ่งที่เก่าแก่วุ่นวายสกปรก แต่ได้มิตรภาพแปลกใหม่ ขนาดไอ้หนุ่มขายผักคลี่โสร่งให้ดูความลับแสนวิเศษ ว่าเงินขายผัก บัญชีลูกค้า กระทั่งขนมยาอมประจำตัว ไอ้หนุ่มเอาสอดไว้ในโสร่งที่เหน็บไว้หว่างขาตลอดเวลาที่ยืนขายผักนั่นเอง

หนุ่มศรีลังกาตาคมผู้ไม่ประสงค์ออกนามแต่ยินดีคลี่โสร่งให้ดู บอกว่านี้ขายดี ขายผักที่รับมาจากเกษตรกรแถวบ้านอีกที วันนี้ได้กำไรเกือบร้อยบาท นับว่ามากโขสำหรับบ้านเมืองที่คนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้วันละ 40 บาท

Advertisement

ผักขายกิโลละ 10 บาท รับมา 6 บาท พอได้กำไรอยู่ กล้วยขายกันหวีละ 15 บาท สับปะรดนั่นขายส่ง เขาเอาขึ้นตุ๊กตุ๊กกลับบ้าน ไปขายกันที่เมืองอื่น ถ้าในตลาดนี้หัวละ 7 บาท ไปถึงปลายทางราคาจะขึ้นมาอีกเกือบเท่าตัว

Advertisement

เห็นการขนส่งผักเขาที่โยนกันโครมๆ หรือสับปะรดอัดตุ๊กตุ๊กแน่นจนอึดอัดแทน เราก็พอทำใจได้ว่าสภาพไปถึงปลายทางจะเป็นไฉน แต่ค่าขนส่งเขาแพง คนมีกำลังซื้อไม่สูง เขาจึงต้องประหยัดต้นทุนการขนส่งด้วยการอัดๆ กันเข้าไป พ่อค้าผักตาคมบอกว่า เขาเองก็หอบผักขึ้นรถเมล์มาจากบ้าน กองผักไว้กับพื้นรถแล้วปุเลงๆ กันมาแบบนั้น เพราะไม่มีทางอื่นที่ดีกว่า

เห็นแล้วฉันว่าเกษตรกรบ้านเราโชคดีกว่า ชีวิตยังไม่รันทดเท่า แต่รอยยิ้มของหนุ่มตาคมนี่ก็ยืนยันว่าเขาสู้ ไม่ว่าจะเกษตรกรที่ปลูกผักอยู่ไกลโพ้น หรือพ่อค้าที่หอบหิ้วผักขึ้นรถปุเลงๆ มาขายในเมืองอย่างนี้

ตลาดแมนนิ่งที่หนุ่มคลี่โสร่งยืนขายผักอยู่นี่ เป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้ใหญ่สุด เก่าแก่สุดของเมืองโคลัมโบ เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของศรีลังกา (เมืองหลวงอย่างเป็นทางการคือ โกฏเฏ ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จัก) มีมากว่าร้อยปีแล้ว เปิดมาตั้งแต่สมัยศรีลังกายังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และว่ากันตามจริงก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ช่วงที่เขาสู้รบกันตลาดนี้ก็ไม่เคยปิด แต่ก็ซบเซา

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ศรีลังกานั้นตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองยาวนานกว่าสามสิบปี และแม้จะหยุดไปแล้วเกินสิบปี แต่บาดแผลลึกนั้นยังเห็นชัดในทุกซอกมุม ประเทศหยุดอยู่กับที่ และที่สุดก็ถดถอยหนักในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนยากจน และปัญหาของประเทศก็อีนุงตุงนังไปหมด

ตลาดแมนนิ่งที่เรียกกันว่าเป็นตลาด เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศนี้ สะท้อนภาพความถดถอยนั้นได้ดี

ปิ 2559 รัฐบาลตัดสินใจย้ายตลาดแมนนิ่งจากย่านปัจจุบันคือ Pettah ออกไปอยู่ในย่าน Peliyagoda แต่การก่อสร้างตลาดใหม่ยังไม่เสร็จ แม้เวลาจะผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้ก็ยังต้องใช้งานตลาดเก่าร้อยปีไปก่อน

ที่อเมริกามีตลาดที่ยังเป็นตลาดสด อายุร้อยกว่าปีเหลืออยู่แห่งหนึ่ง คือ ตลาด Pike Place ที่เมือง Seattle เขายังรักษาชีวิตจิตใจของตลาดสดไว้ และด้วยความเก่าแก่จึงกลายเป็นจุดสนใจของเมืองไปด้วย ใครไปใครมาเป็นต้องแวะดู เรียกเงินเรียกทองจากนักท่องเที่ยวได้มากมาย  ที่ศรีลังกานี่ถ้าเขาทำแบบนั้นได้ด้วยจะดี

หนุ่มตาคมบอกว่า ถ้าย้ายไปตลาดใหม่ ไม่รู้เขาจะขึ้นค่าเช่าไหม กลัวจะแพง ถ้ามันแพงจัดก็จะไปหาขายที่ตลาดอื่น แต่ก็นั่นแหละ กลัวจะไม่มีคนซื้อ ว่าแล้วคลี่โสร่งให้ดูอีกทีอย่างถ่องแท้ว่า วันนี้ขายผักได้เงินแน่กี่รูปี