เจริญ เขื่อนข่ายแก้ว มือหนึ่งผลิตมะม่วงเขียวเสวยเพื่อการส่งออก

ถ้าถามเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเชิงพาณิชย์ทั่วไปว่า มะม่วงพันธุ์ไหนขายได้ราคาดีที่สุดเราจะได้คำตอบว่ามะม่วงพันธุ์ “น้ำดอกไม้” โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เพราะเป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง นัยว่าถ้าพูดถึงมะม่วงไทยก็ต้องน้ำดอกไม้เท่านั้น

กลุ่มสระแก้วผลิตทั้งน้ำดอกไม้และเขียวเสวยส่งออก ซึ่งมี คุณเจริญ เขื่อนข่ายแก้ว เจ้าของสวนรุ่งเจริญ เลขที่ 21 หมู่ที่ 17 บ้านชัยมงคล ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โทร. 086-162-1835 กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเกือบทุกรายจะเน้นแต่มะม่วงน้ำดอกไม้เพียงอย่างเดียวเพราะส่งออกได้ราคาดีกว่ามะม่วงพันธุ์อื่น แต่มองว่าเราน่าจะทำมะม่วงเขียวเสวยด้วย เพราะในเขต จ.สระแก้ว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเขียวเสวยเป็นจำนวนมาก อีกอย่าง คือ ขณะนี้มะม่วงเขียวเสวยสามารถส่งขายต่างประเทศได้จึงทำให้มีราคาที่สูงกว่าเมื่อก่อน

“สวนรุ่งเจริญ” มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 500 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้และเขียวเสวยเป็นหลัก โดยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้มากกว่าเขียวเสวยอยู่เล็กน้อย คุณเจริญ บอกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูกเขียวเสวยเพราะคิดว่าราคาขายสู้น้ำดอกไม้ไม่ได้ แต่คุณเจริญกลับมองว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกันจริงๆ รายได้จะไม่ต่างกันนัก ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมาขายมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดเอส่งออกขายได้ราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท เกรดรองขายให้แม่ค้าในจังหวัดระยองและตลาดสี่มุมเมือง ได้ราคากิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนที่เหลือ (ผิวไม่สวย)

ขายเข้าโรงงาน “ฟรีซดาย” ที่ จ.จันทบุรี ได้ราคากิโลกรัมละ 22 บาท ถ้าเราจัดการกับผลผลิตได้แบบนี้ก็จะมีกำไรสูง แต่บางครั้งเกษตรกรไม่สามารถหาตลาดส่งออกได้หรือเมื่อคัดมะม่วงเกรดเอส่งออก แล้วส่วนที่เหลือไม่สามารถหาตลาดมารองรับได้ เกษตรกรก็จะมีกำไรน้อย เนื่องจากการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้มีขั้นตอนในการผลิตหลายขั้นเริ่มตั้งแต่จะต้องดูแลผิวให้สวย ต้องห่อผล พอเก็บก็ต้องมาแกะถุง

ซึ่งจะทำให้เรามีต้นทุนการผลิตที่สูงถ้าขายไม่ได้ราคาเกษตรกรจะไม่มีกำไรต่างกับเขียวเสวยที่มีขั้นตอนไม่มาก ไม่ต้องห่อผล เพียงแค่เราดูแลผิวให้สวยก็สามารถเก็บขายได้ราคา ในปีที่ผ่านมามะม่วงเขียวเสวยราคาแพงสุดอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ขายจากสวนได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนในช่วงอื่นราคาจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 25 บาท และช่วงเดือนมีนาคมจะทำส่งประเทศเวียดนามได้ราคา กิโลกรัมละ 38 บาท

ตลาดเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีอนาคต คนเวียดนามเริ่มนิยมบริโภคมะม่วงเขียวเสวยจากประเทศไทย เพราะรสชาติหวานอร่อยและเราจะเน้นเก็บมะม่วงที่แก่จัดเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพให้คงที่จะไม่เก็บมะม่วงอ่อนออกขายโดยเด็ดขาด ที่สวนรุ่งเจริญสามารถผลิตมะม่วงเขียวเสวยส่งเวียดนามได้ปีละกว่า 300 ตัน (3 แสนกิโลกรัม)

เทคนิคการผลิตมะม่วงเขียวเสวยให้มีคุณภาพดี ที่สวนคุณเจริญ จะผลิตมะม่วงเขียวเสวยปีละ 3 รุ่น คือ รุ่นแรกจะเก็บประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน รุ่นสองเดือนกุมภาพันธ์และรุ่นที่สามเดือนพฤษภาคม เนื่องจากปีหนึ่งเก็บผลผลิตมากถึง 3 ครั้ง การดูแลจึงต้องดีเป็นพิเศษ คือหลังจากตัดแต่งกิ่งประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน คุณเจริญ จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 อัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม เมื่อมะม่วงแตกใบอ่อนใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ประมาณต้นละ 2-3 กิโลกรัม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยทำให้ต้นมะม่วงสมบูรณ์ ใบเขียวเป็นมัน

หลังจากมะม่วงแตกใบอ่อนเสมอกันดีแล้วจะราดสารแพคโคลบิวทราโซลชนิด 10 เปอร์เซ็นต์ อัตราต้นละ 15 กรัม ต่อทรงพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ยทางดินเพื่อเร่งการสะสมอาหารโดยใช้สูตร 8-24-24 อัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม ทางใบจะฉีดพ่นปุ๋ย สูตร 0-42-56 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ( อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) ร่วมกับสาร “ไฮเฟต” อัตรา 1 ลิตร สารไฮเฟตจะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อน เร่งการสะสมอาหารได้ดี ต่างจากคนอื่นที่จะนิยมใช้ปุ๋ย 0-52-34 ฉีดพ่นจุดนี้ คุณเจริญ แนะนำว่า ถ้าใช้ปุ๋ย 0-52-34 ในการสะสมอาหารต้องใช้ถึง 10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การใช้ปุ๋ย สูตร 0-42-56 จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ในขณะที่ผลผลิตออกมาเหมือนกัน จึงเลือกใช้เพราะเป็นการประหยัดต้นทุน

เมื่อสะสมอาหารได้ประมาณ 3-4 ครั้ง หรือนับจากวันราดสารแล้วประมาณ 60 วัน ขึ้นไปจะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 20 กิโลกรัม ร่วมกับไทโอยูเรีย (เช่น ไทเมอร์) อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น จะทำให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ ในช่วงดอกจะต้องเน้นการดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉีดพ่นสารโบร่า เพราะจะทำให้มะม่วงติดผลดกและผลมีคุณภาพดี เนื้อแน่นไม่เป็นโพรง ถ้าทำมะม่วงส่งออกต้องเน้นเป็นพิเศษ เพราะต่างประเทศเขาพิถีพิถันเรื่องเนื้อขาดเป็นโพรงมาก

ปัญหาดอกบานหน้าฝนกับโรคแอนแทรคโนส ในช่วงดอกบานปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ น้ำฝน ฝนจะพาโรคต่างๆ มาทำลายดอกมะม่วงของเรา โดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนส คุณเจริญ จะใช้วิธีฉีดยาเชื้อราป้องกัน ยาที่ใช้ประจำ ได้แก่ โวเฟ่น 500 ซีซี ผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัม ฉีดสลับกับอมิสตา 200 ซีซี ผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดสลับกัน 5-6 วัน ต่อครั้ง ถ้าฝนตกบ่อย ให้ฉีด 3 วันครั้ง ในเรื่องการใช้สารโพคลอราชฉีดช่อดอกมะม่วงเขียวเสวย นักวิชาการมะม่วงหลายท่านห้ามใช้ เพราะจะทำให้ดอกมะม่วงเสียหาย แต่คุณเจริญใช้สูตรนี้มาตลอด ยืนยันว่าไม่เสียแน่นอน

“จะต้องจำไว้เสมอว่า หลังฝนตกต้องฉีดพ่นยาเชื้อราทันทีห้ ามปล่อยทิ้งไว้นานเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคจะเข้าทำลายช่อดอก”

การขายผลผลิตให้ได้ราคาต้องรวมกลุ่มกันขาย กลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.สระแก้ว เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ทำสวนมะม่วงโดยมี คุณเจริญเป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ 22 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวม ประมาณ 10,000 ไร่ ผลิตมะม่วงคุณภาพดีส่งออกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นกลุ่มที่ผลิตมะม่วงส่งออกมากที่สุดในประเทศ

คุณเจริญ ยังบอกด้วยว่า การจะทำสวนมะม่วงให้ประสบความสำเร็จสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือการหาตลาด เมื่อก่อนเกษตรกรไม่มีการรวมตัวกัน การขายผลผลิตก็ต่างคนต่างขาย แม่ค้าก็กดราคา ตลาดส่งออกก็ไม่มาติดต่อ เพราะไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของผลผลิต แต่เมื่อมีการรวมตัวกัน อำนาจการต่อรองก็สูงขึ้น ตลาดต่างๆ ก็มาหามากขึ้น กลุ่มสระแก้วเป็นกลุ่มที่มีการจัดการผลผลิตที่ออกมาอย่างดีเยี่ยม ทุกเดือนจะมีการประชุมของสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อให้ทราบว่าผลผลิตของใครจะออกช่วงไหน ปริมาณเท่าไร เพื่อที่จะวางแผนการขายให้มีประสิทธิภาพ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ จะวางแผนการเก็บให้สามารถคัดแยกเกรดได้หลายระดับ โดยจะคัดแยกเป็นการขายผลสดและเข้าโรงงานแปรรูป

การขายผลสด ก็จะแบ่งเป็นหลายตลาด เช่น ตลาดญี่ปุ่น ต้องการมะม่วงผิวสวย ขนาดผล 200-300 กรัม (ได้ราคาสูง 70-90 บาท) ส่วนผลขนาดใหญ่กว่า 300 กรัม ก็จะขายตลาดจีนและเกาหลีใต้ (60-70 บาท) สำหรับมะม่วงที่เกรดรองลงมาก็จะส่งขายตลาดภายในประเทศ มะม่วงที่เหลือจากการคัดขายผลสดก็สามารถส่งขายโรงงานแปรรูปได้ ที่ส่งขายมากที่สุด ได้แก่ โรงงานฟรีซดายที่ บริษัท จันทรบุรีโกลบอล-เทรด จำกัด จ.จันทบุรี ถือเป็นโรงงานที่รองรับผลผลิตของกลุ่มทั้งหมด เพราะใช้มะม่วงเกรดไม่สูงนัก

มาตรฐานมะม่วงที่จะส่งเข้าโรงงานฟรีซดาย 1.ความแก่ แก่จัด ประมาณ 90  ขึ้นไป (จมน้ำทุกลูก), 2. ผิว ไม่ต้องสวย เน้นคุณภาพเนื้อ ผิวสามารถมีร่องรอยการทำลายของแมลงได้ แต่ต้องไม่เข้าถึงเนื้อใน  3. ขนาดผล ผลมีขนาด 300 กรัมขึ้นไป รูปทรงมาตรฐาน, 4. ต้องไม่มีรอยโรคแอนแทรคโนส, 5. ต้องไม่มีการทำลายของแมลงวันทอง, 6. ความหวานไม่ต่ำกว่า 16 องศาบริกซ์  7. ตัดผลติดขั้วยาวประมาณ 1 เซนติเมตร, 8. ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงห่อเกรดเอ อาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อผลกันการกระแทกและกันแมลงวันทองก็พอ, 9. จะต้องมีใบรับรองคุณภาพ GAP, 10. ต้องไม่พบสารเคมีตกค้าง ตามมาตรฐานส่งออก

ส่วนเรื่องแมลงศัตรู คุณเจริญ จะเน้นการป้องกันเป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราจะรู้ว่าระยะไหนแมลงชนิดใดจะเข้าทำลาย ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อช่อดอกแทงยาวประมาณ 2 นิ้ว จะมีหนอนมาทำลายเราก็จะฉีดยาฆ่าหนอน อาจจะใช้ยากลุ่มเมทโทมิล หรือ ซฟวิน-85 ก็ได้ ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง หนอนก็จะไม่ทำลาย หรือในระยะดอกบานเพลี้ยไฟจะระบาด ทางราชการเขาให้งดการฉีดพ่นสารเคมีเพราะจะไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสร แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่ฉีดเพลี้ยไฟกินดอกมะม่วงเราหมดก่อนแน่ก็ต้องฉีด แต่การฉีดจะต้องเน้นใช้ยาที่ไม่ทำลายดอก เช่น กลุ่มยาผงอย่างสารโปรวาโด ส่วนยาน้ำมันที่ลงท้ายด้วย EC ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพราะเป็นยาร้อนจะทำให้ดอกแห้ง เวลาฉีดก็ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ห้ามฉีดเวลากลางวันเพราะอากาศร้อนจัด

ส่วนระยะดูแลผล เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลอ่อนจะต้องฉีดปุ๋ยทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและลดปัญหาผลร่วงแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเหลวสูตรเสมอ หรือสูตรตัวหน้าสูงร่วมกับน้ำตาลทางด่วน ข้อดีของการใช้ปุ๋ยเหลวคือจะช่วยทำให้ผลมะม่วงโตเร็วและลดปัญหาผลแตกสะเก็ด ซึ่งถ้าใช้ปุ๋ยเกล็ดบางครั้งจะพบปัญหาผลแตกสะเก็ดขายไม่ได้ราคา ส่วนเรื่องเชื้อราในระยะนี้จะใช้สารแอนทราโคลฉีดป้องกันไว้ตลอด จนผลใกล้แก่จึงหยุดใช้ยาเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก

อาการผิวแตกในมะม่วงเขียวเสวย (Bacterial Black Spot) เป็นโรคที่พบการทำลายมากโรคหนึ่งของมะม่วงสายพันธุ์นี้ อาการโดยทั่วไปจะพบรอยแตกของผิวเป็นรูปดาว แตกเป็นสะเก็ด และมักมีน้ำเยิ้มตรงขอบ มากน้อยแล้วแต่ความรุนแรงของเชื้อโรค สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas Campestris pv. Mangiferaeindicae โดยเชื้อสาเหตุดังกล่าวมักจะหลบอาศัยอยู่บริเวณกิ่งในทรงพุ่มของต้นมะม่วงเขียวเสวยนั่นเอง และเชื้อดังกล่าวจะเข้าทำลายเมื่อผิวมะม่วงเริ่มมีรอยแตกหรือเป็นแผลที่ผล

การป้องกัน  ป้องกันผลมะม่วงกระแทกกับกิ่งเป็นรอย โดยการตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่มให้โปร่ง, ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มที่มีทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ในช่วงอากาศร้อน ควรงดการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด และยากลุ่มน้ำมัน เพราะจะทำให้ผิวแตกได้ง่าย ปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น กล้วย ไผ่เลี้ยง ฯลฯ เป็นแนวกันลมเพื่อไม่ให้ลมมีความแรงมากพอที่จะพัดผลมะม่วงเขียวเสวยกระแทกกับกิ่งหรือลำต้น