เลี้ยงปลาบ่อรวมด้วยอาหารต้นทุนต่ำ ปลาเติบโตดี ขายได้กำไรงาม ที่บุรีรัมย์

คุณสุริยันต์ วรรณวงษ์ ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ผลผลิตทางประมงภายในจังหวัดบุรีรัมย์มี 2 ช่องทางในการทำรายได้คือ ช่องทางแรก ปลาที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติตามห้วย หนอง คลองบึงต่างๆ ซึ่งมีสัตว์น้ำอยู่ภายในแหล่งน้ำเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านสามารถจับขึ้นมาบริโภคและจำหน่ายสร้างเป็นรายได้ และช่องทางที่สอง สัตว์น้ำอันเกิดมาจากการเลี้ยงเป็นเชิงการค้า เพราะบางช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้มีการเลี้ยงมากขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำ

“การทำประมงของเกษตรกร แต่ละพื้นที่ก็จะมีการเลี้ยงชนิดปลาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปริมาณน้ำ ถ้าพื้นที่ไหนมีน้ำมากหน่อย ก็จะมีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาที่แตกต่างกันไป เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ส่วนพื้นที่น้ำไม่เพียงพอก็จะส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์น้ำแบบใช้น้ำน้อย เช่น การเลี้ยงกบ ปลาดุก ในกระชังบก โดยการทำประมงแต่ละอย่างจะเน้นดูพื้นที่เป็นหลัก จากนั้นก็ส่งเสริมการทำตลาดแบบนำมาแปรรูปขายเอง เพื่อให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น” คุณสุริยันต์ กล่าว

คุณชุมนุม ยงสืบชาติ อยู่ที่บ้านเลขที่ 199 หมู่ที่ 13 ตำบลสำโรงใหม่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้ที่ยึดการทำเกษตรหลากหลาย แต่ที่โดดเด่นและเกิดเป็นรายได้เป็นเรื่องของการทำประมงและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตร 100 เปอร์เซ็นต์ เขาได้แบ่งมาทำประมงอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์ก็ทำการเกษตรด้านอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ นาข้าว และพืชไร่บางชนิด เพื่อเสริมรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

คุณชุมนุม ยงสืบชาติ และภรรยา

คุณชุมนุม เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มประกอบอาชีพมาได้ยึดการทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยการเลี้ยงปลาในช่วงแรกจะเน้นเลี้ยงปลานิลเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ในช่วงเวลาที่ราคาตกลง ปลานิลที่เลี้ยงจำหน่ายได้ราคาที่ลดลงไปด้วย จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนเลี้ยงปลาให้หลากหลายชนิดมากขึ้น เป็นแบบบ่อรวมภายใน 1 บ่อ มีปลามากกว่า 1 ชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล และปลากินพืชอื่นๆ

“บ่อปลาที่เลี้ยง ผมก็จะแยกบ่อการเลี้ยงอย่างชัดเจน อย่างบ่อที่ใช้สำหรับสร้างลูกพันธุ์ ก็จะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกอย่างเดียว ส่วนบ่อไหนที่เลี้ยงสำหรับสร้างเป็นปลาเนื้อ ก็จะเลี้ยงผลิตเป็นปลาเพื่อส่งขายให้กับตลาด ต่อมาได้มีโอกาสได้ไปดูตลาดขายปลา ได้ไปเห็นว่าปลากะพงก็เป็นปลาที่คนค่อนข้างนิยม ตลาดมีความต้องการ จึงได้ปรับเปลี่ยนบ่อเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือเลี้ยงปลากะพงเพื่อสร้างเป็นธุรกิจให้กับคนในพื้นที่ ที่ชอบตกปลาด้วยเบ็ด เป็นเชิงกิจกรรมผ่อนคลาย ให้ได้เข้ามาตกปลากะพงภายในฟาร์ม ในช่วงวันหยุดในบ่อของผม” คุณชุมนุม บอก

พื้นที่บ่อเลี้ยง

ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาจะให้กินอาหารเป็นสูตรที่เขาคิดขึ้นมาเอง โดยใช้วิชาความรู้จากที่ได้ไปศึกษาดูงานมาจากที่ต่างๆ และนำมาต่อยอด ใช้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน เช่น มันสำปะหลัง ที่รับมาจากโรงงานเป็นกากแป้งและเปลือกล้าง นำมาผลิตเป็นอาหารแบบลดต้นทุนที่ใช้เลี้ยงได้ทั้งปลาและสัตว์ที่อยู่ภายในฟาร์ม

Advertisement

“ปลาที่เลี้ยงก็จะเน้นเป็นปลากินพืช ดังนั้น ในเรื่องของวัตถุดิบและอาหารที่ให้ปลากิน จึงไม่ค่อยเป็นที่ยุ่งยาก และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างบางช่วงผมก็จะหาใบไม้ ฟางข้าวที่เปื่อย หรือจะเป็นใบกระถินสดที่หาได้จากชุมชน มาให้ปลากินได้เช่นกัน ก็จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงประหยัดมากขึ้น ปลาที่เลี้ยงก็เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งบ่อปลาที่เลี้ยงมีขนาดบ่อที่แตกต่างกันไป อย่างปลาตะเพียนเลี้ยงอยู่ในบ่อขนาด 1 ไร่ครึ่ง จำนวนการปล่อยเลี้ยงก็ดูตามความเหมาะสม ว่าต้องการเลี้ยงแบบหนาแน่นหรือเลี้ยงแบบพอดี” คุณชุมนุม บอก

ปลาที่เลี้ยงทั้งหมดภายในฟาร์มใช้เวลาอยู่ที่ 6-7 เดือน ก็จะได้ไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ ซึ่งในช่วงที่เลี้ยงใหม่ๆ คุณชุมนุม บอกว่า มีลูกค้าเข้ามาติดต่อของซื้อถึงที่ฟาร์ม เพราะปลาตะเพียนนิยมนำไปแปรรูปเป็นปลาส้ม จึงทำให้การเลี้ยงปลาตะเพียนและปลานิลสามารถจำหน่ายได้ตลอด ลูกค้ารับซื้อหมด

Advertisement
พืชชนิดอื่นๆ ที่ปลูกไว้

โดยราคาปลาตะเพียนหน้าปากบ่อจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 42 บาท ซึ่งในแต่ละรอบการเลี้ยงปลาหลายๆ ชนิด รวมๆ กันแล้ว สามารถมีปลาจำหน่ายได้ 8-12 ตัน ต่อปี ส่วนบ่อที่ใช้สำหรับเลี้ยงให้ลูกค้ามาตกเบ็ดอย่างปลากะพง เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับเสริมรายได้ สามารถทำเงินได้อยู่ที่คนละ 2,000 บาท จำนวนผู้เข้ามาตกปลาต่อรอบไม่เกิน 46 คน สามารถตกได้ตลอดทั้งวัน โดยแบ่งออกเป็นรอบๆ ตามที่กำหนดไว้

“สำหรับคนที่สนใจอยากจะทำอาชีพทำการเกษตร อยากจะบอกว่าการเกษตรมันมีอยู่ 2 อย่าง คือ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ต้องดูก่อนว่าอะไรที่เราคิดว่าเหมาะสมกับเรา แล้วค่อยเลือกทำสิ่งนั้น ตามความชอบของเรา เพราะการจะทำอะไรที่ประสบผลสำเร็จ ใจรักต้องมาเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ค่อยๆ มองหานวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ ที่เป็นการช่วยให้การทำเกษตรของเราลดต้นทุนได้ดี ก็จะช่วยให้มีผลกำไรมากขึ้น พร้อมทั้งมีการเรียนรู้หาองค์ความรู้ให้เท่าทันโลก เท่าทันการตลาด ก็จะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตออกมาทั้งหมด มีตลาดขายได้แน่นอน การทำเกษตรก็จะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป” คุณชุมนุม แนะนำ

พื้นที่ผลิตอาหารเลี้ยงปลาและสัตว์อื่นๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชุมนุม ยงสืบชาติ หมายเลขโทรศัพท์ (080) 463-2816

ปลากะพงและปลากดคัง
ปลาตะเพียนที่เลี้ยงไว้ภายในบ่อ