ต้นกำเนิด “ไผ่ตงศรีปราจีน”ตำนานเมืองปราจีนบุรี และเทคนิค “หมกไผ่” ช่วยให้หวาน

“ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี”

จากคำขวัญของจังหวัดปราจีนบุรี แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ไผ่ตง นับเป็นพืชที่ขึ้นชื่อของจังหวัด และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

ท่ามกลางความสำคัญของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและได้สร้างชื่อเสียงให้เป็นอย่างยิ่งคือ สายพันธุ์ไผ่ตงศรีปราจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ มีการนำสายพันธุ์ไปปลูกกันอย่างกว้างขวาง ด้วยมีลักษณะเด่น คือ เป็นพันธุ์ไผ่ที่โตเร็ว และแตกให้หน่อดี ปริมาณหน่อเยอะ หน่อให้น้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม สามารถเก็บหน่อได้หลังปลูกเพียง 1-2 ปี อีกทั้งลำต้นก็มีขนาดใหญ่ หน้าตัดตั้งแต่ 4 จนถึง 6 นิ้ว ทำให้เหมาะกับการนำไปใช้ในกิจกรรมการเกษตร เช่น การนำไปทำหลักปักเพื่อเลี้ยงหอยแมลงภู่ อีกทั้งหลังจากลงปลูกครั้งแรกประมาณ 1 ปี ก็สามารถตอนกิ่งจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

ไผ่ตงศรีปราจีน เกิดขึ้นครั้งแรกที่สวนของ คุณสอาด ใจเชื่อม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 11 บ้านไชยคลี ต.หนองแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โทร.08-6839-2258 

เก็บจากเมล็ดงอกมาเลี้ยง จนได้ไผ่ตงศรีปราจีน

เดิมคุณสอาดเป็นชาวนา แต่ต้องประสบปัญหาว่า ทำนาแล้วได้ผลผลิตไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงปรับเปลี่ยนอาชีพมาสู่การทำสวน

โดยเฉพาะการปลูกไผ่ตงจำหน่าย ซึ่งเดิมนั้นสายพันธุ์ที่ปลูกกันโดยทั่วไปคือ ไผ่ตงหม้อ  

“ผมก็ปลูกเรื่อยมาจากที่ทำกับแม่ ในพื้นที่ 10 ไร่ เป็น 20 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี”

คุณสะอาด ปลูกไผ่เรื่อยมา จนกระทั่งมาประสบปัญหาในช่วงประมาณปลายปี พ.ศ. 2537 ​ไผ่ตงที่​เกษตรกรปลูกอยู่ทั่วประ​เทศ​ได้ออกดอก ​ทำ​ให้ต้น​ไผ่ตงตาย สภาพ​การณ์​เช่นนี้​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​แก่​เกษตรกร​ผู้ปลูก​ไผ่ตงเป็นจำนวนมาก​และกว้างขวาง

จากเกษตรกรชาวสวนไผ่ตงที่มีผลผลิตออกจำหน่ายทุกปี เมื่อเจอภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ต้นไผ่ในสวนตายเกือบหมด แต่ท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีปรากกฏขึ้น

“พอไผ่ออกดอกติดเมล็ดมา ก็มีบางส่วนร่วงหล่นมาในแปลง และตามลำห้วยข้างสวน เมล็ดเหล่านี้บางส่วนก็งอกขึ้นมาเป็นต้น ผมเลยไปขุดเอามาใส่ถุงตั้งไว้ในแปลงเพาะชำ ผมเก็บมาชำไว้ได้มากกว่า 1,000 ต้น เลยทีเดียว”

ซึ่งต้นไผ่ 1 ในจำนวน 1,000 กว่าต้น ได้แสดงถึงคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากต้นไผ่ต้นอื่นในรุ่นเดียวกัน คือมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า ต้นสูงกว่า ในขณะที่ต้นอื่นจะมีลักษณะโตไม่ดีต้นเล็กเตี้ย เป็นส่วนใหญ่ คุณสะอาดจึงนำต้นไผ่ต้นดังกล่าวไปปลูก และพบว่าให้ลักษณะที่เด่นมาก แตกต่างจากต้นไผ่ตงที่เคยมีมาในเขตจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้เริ่มนำมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน และนำลงปลูกในแปลงของตนเอง ในปี 2540

ต้นไผ่ตงดังกล่าวได้สร้างความสนใจให้กับทุกฝ่ายที่ได้รับทราบข้อมูลและเข้ามาดู

“ส่วนที่มีชื่อไผ่ตงศรีปราจีนนั้น เป็นเพราะทางสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรีได้พาไปจดขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชและตั้งชื่อนี้ออกมา” คุณสะอาด กล่าว

เมื่อได้มีชื่ออย่างเป็นทางการ คุณสะอาด นอกจากจะเพาะขยายพันธ์ุด้วยวิธีการตอนเพื่อลงปลูกในแปลงของตนเองแล้ว ยังได้ขยายพันธุ์จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ ด้วยเหตุที่โตไว แตกหน่อดี ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้ขยายเป็นสายพันธุ์ขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรนำไปปลูกเพาะจำหน่ายพันธุ์กันอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา

“ผมเองก็รู้สึกภูมิใจมากที่ต้นไผ่ของเราได้รับความสนใจ ซึ่งผมก็สามารถขายกิ่งพันธุ์ ในราคากิ่งละ 100 บาท จนสามารถมีเงินไปซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ถึง 20 ไร่ ซึ่งทำกินมาจนถึงทุกวันนี้” คุณสะอาด กล่าว

“พอดีว่าพื้นที่สวนของผมมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่นำมาใช้รด ซึ่งการปลูกไผ่ตง โดยเฉพาะการทำไผ่ตงนอกฤดูนั้นต้องมีน้ำมารดให้ไผ่ตงอย่างสม่ำเสมอ พอไม่มีน้ำ ทำให้เราไม่สามารถทำนอกฤดูได้ จึงลดพื้นที่ปลูกลง แต่ในกลุ่มพี่น้องผมที่มีสวนอยู่ติดแม่น้ำหรือมีแหล่งน้ำก็ยังปลูกไผ่ตงกันมากอยู่เหมือนเดิม” คุณสอาด กล่าว

ทั้งนี้ในปัจจุบัน คุณสอาดได้ขยายกิจกรรมการทำสวนเพิ่มเติม โดยเพิ่มการปลูกไม้ขุดล้อม ในกลุ่มของไม้ไทยนานาชนิดที่ตลาดต้องการและไม้ผล เช่น เงาะ กระท้อน ลำไย จำหน่ายเพิ่มเป็นรายได้อีกทาง โดยมีร้านจำหน่ายตั้งอยู่ที่บ้านดงบัง อำเภอเมืองปราจีนบุรี

ไผ่ตง อนาคตยังมี แต่ต้องทำนอกฤดู

คุณสอาด ได้กล่าวถึงการทำสวนไผ่ตงในปัจจุบันว่า ไผ่ตงยังถือเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มีข้อแม้ว่า ต้องทำไผ่ตงนอกฤดูถึงจะได้ราคา

ทั้งนี้ คุณสอาด ได้ขยายความถึงความหมายของการทำไผ่ตงนอกฤดูว่า เป็นการเร่งให้ต้นไผ่ตงออกหน่อเร็วขึ้น เป็นการทำให้ออกก่อนฤดูกาลปกติ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาจำหน่ายดีกว่า โดยเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การให้น้ำ

คุณสอาด บอกว่า การทำไผ่ตงนอกฤดูนั้น จะต้องมีการเริ่มเตรียมการตั้งแต่เตรียมต้น ให้น้ำแก่ต้นไผ่ตั้งแต่เดือนธันวาคม ทั้งนี้ ระบบการให้น้ำในปัจจุบันที่ดีที่สุดคือ การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาในการขาดแคลนแรงงานที่ทำหน้าที่รดน้ำแล้ว ยังสามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็ว โดยการให้น้ำนั้นจะให้ทุก 3-4 วัน โดยดูที่ความชื้นของดินในแปลงปลูกไผ่ตงเป็นหลัก

ไผ่ตง จะสามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาดี แต่พอเข้าพรรษาแล้ว จะเริ่มราคาลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่หน่อไม้ปีออกสู่ตลาด

“ถ้าทำไผ่ตงให้ออกตามฤดู จะไม่ค่อยได้ราคาเท่าไร แต่ถ้าสามารถทำให้ออกนอกฤดูได้ ซึ่งต้องมีแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญจะทำให้มีรายได้อย่างน่าสนใจ อย่างปีนี้ราคาไผ่ตงช่วงนอกฤดู เมื่อตอนออกใหม่อยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ตอนนี้ลงมาหน่อยเหลือที่ กิโลกรัมละ 27-28 บาท”

สำหรับการทำไผ่ตงนอกฤดู จะทำไปจนกว่าเมื่อเข้าพรรา และเมื่อฝนตกลงไผ่ตามฤดูกาลออก สวนที่ทำนอกฤดูก็จะหยุดพักต้น ตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อรอทำนอกฤดูครั้งใหม่ในปีต่อไป

คุณสอาด บอกว่า จากที่ติดตามราคาไผ่ตงนอกฤดูของปี 2556 นี้ พบว่า ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ชาวสวนที่สามารถทำไผ่ตงนอกฤดูสามารถได้ผลตอบแทนที่ดีมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาไผ่ตงในปีนี้ดี อาจสืบเนื่องมาจากคนทำไผ่นอกฤดูลดลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณน้ำที่ใช้ในสวนไม่เพียงพอ ซึ่งคุณสอาดเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหานี้

“ทำนอกฤดูในช่วงนี้ ชาวสวนจะได้เงินดี เพราะตัดครั้งหนึ่ง ทุก 3 วัน พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จะได้น้ำหนักรวมประมาณ 300 กว่ากิโลกรัม ในราคาขายที่ กิโลกรัม 30 บาท ก็จะมีรายได้เกือบหมื่นบาทแล้ว”

และอีกหนึ่งในเทคนิคของชาวสวนไผ่ตงของปราจีนบุรีได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคือ การ​ทำหน่อ​ไม้หมก ​หรือตงหมก ​

วิธีการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มรสชาติของหน่อไม้ที่ได้ให้มีความหวานหอมน่ารับประทาน และเป็นที่ต้องการของตลาด

โดยวิธีการดั้งเดิมที่ทำกันมาคือ การใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัตถุดิบสำคัญในการหมก แต่ด้วยที่ปัจจุบันแกลบดำมีราคาแพง จึงมีการพลิกแพลงไปใช้ใบไผ่แห้งแทน ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุน โดยเสียเงินเพียงค่าซื้อถุงดำเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเก็บถุงดำมาใช้งานได้อีกหลายครั้ง

“แตกต่างจากการใช้แกลบดำที่นอกจากจะต้องหาซื้อในราคาแพงแล้ว บางครั้งก็มีปัญหาว่า หมกไม่ดีทำให้ถุงแตกต้องเสียเงินซื้อถุงดำใบใหม่มาทดแทน แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ใบไผ่แห้งแล้ว หมดปัญหาทุกอย่างไปเลย ถุงดำก็สามารถใช้ได้หลายครั้ง”

ทั้งนี้ จุดประสงค์สำคัญที่เกษตรกรชาวสวนไผ่ตงต้องมีการหมกหน่อไม้เพื่อทำให้หน่อไม้ที่ได้มีลักษณะผิวเปลือกขาว และมีรสชาติหวาน

“เมื่อหน่อไม้โผล่พ้นดินมาได้ประมาณ 3 อาทิตย์ จะใช้ถุงดำมาบรรจุใบไผ่ที่ร่วงบนพื้นในสวนให้เต็มถุง ยิ่งอัดให้แน่นยิ่งดี แล้วนำครอบที่หน่อไม้ที่ขึ้น โดยทิ้งไว้นานประมาณ 78- วัน ก็สามารถเปิดถุงและตัดหน่อไม้ไปจำหน่ายได้” คุณสอาด กล่าว