“กล้วยน้ำว้านวลจันทร์” กล้วยดีที่ถูกลืม

กล้วยน้ำว้าในประเทศไทย พบว่ามีอยู่ประมาณ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาว, กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง และกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้แดง โดยกล้วยน้ำว้าในแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น กล้วยน้ำว้าไส้ขาว ที่รู้จักกันดีคือ “กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง” เป็นกล้วยน้ำว้าไส้ขาว เมื่อนำไปทำ “กล้วยตาก” จะได้กล้วยตากที่สีเหลืองสวย ไม่ดำคล้ำ หรือ เอาไปทำกล้วยแผ่นอบ ก็จะมีสีเหลืองสวยพอดี ไม่เหลืองมาก เหมือนกลุ่มกล้วยน้ำว้าเหลือง

หลังปลูกเพียง 2 สัปดาห์

ส่วนกล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้เหลือง เหมาะสำหรับการกินผลสด ทำกล้วยเชื่อม กล้วยทอด กล้วยบวชชี เป็นกล้วยที่เหมาะสำหรับการแปรรูป ทำขนม ใช้งานได้หลากหลายที่สุด สุดท้ายคือ กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดง เป็นกล้วยที่ติดผลค่อนข้างดก ไส้กลางค่อนข้างแข็ง มีความฝาด จะเหมาะนำไปทำกล้วยเชื่อม หรือทำไส้ข้าวต้มมัด เพราะไส้กล้วยมีความแข็งไม่เละ กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดงนั้น ไม่เหมาะที่จะนำไปทำกล้วยตาก เพราะกล้วยตากที่มีสีคล้ำดำ สีไม่สวย ดูเหมือนกล้วยตากเก่า

ในกรณีดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นกับผู้ปลูกหลายรายที่ส่งกล้วยน้ำว้าไส้แดงขายกับผู้ผลิตกล้วยตาก พบว่า กล้วยตากที่ได้มีสีคล้ำดำ หรือถ้าเอาไปทำกล้วยบวชชีก็ไม่สู้อร่อยนัก เพราะมีรสฝาด ในการเลือกปลูกกล้วยน้ำว้านั้นหลายท่านก็ต้องพิจารณาตลาดที่จะรับซื้อเป็นอย่างไร ขายให้กับใคร แล้วเขาเอาไปทำอะไร

กล้วยน้ำว้านวลจันทร์ กล้วยดีที่เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้หน่อกล้วยน้ำว้านวลจันทร์ บางคนเรียก กล้วยน้ำว้าเงิน หรือ กล้วยน้ำว้าหนัง เริ่มแรกนำมาปลูกแซมเพื่อเป็นร่มเงาให้ไม้ประธาน เมื่อออกเครือปรากฏว่า ลักษณะของผลขนาดใหญ่ ใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้าชนิดอื่น ผลป้อม ทรงกระบอก ปลายค่อนข้างแหลม ผลดิบมีสีเขียวขาวนวล ผิวผลมีสีขาวกว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่น ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองนวล เนื้อผลสีขาวอมชมพู รสชาติหวานจัด เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้นำกล้วยน้ำว้านวลจันทร์มาแปรรูปเป็นกล้วยอบลมร้อน มีรสชาติอร่อยมากและกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และรสชาติอร่อยมาก

กล้วยน้ำว้านวลจันทร์กำลังติดผลอ่อน

การปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้านั้นสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ต้องมีน้ำให้ไม่ขาดแคลน แต่ในบางพื้นที่ที่แหล่งน้ำไม่สมบูรณ์ ก็จะเลือกที่จะปลูกกล้วยในช่วงต้นฤดูฝน ราวปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อลดภาระในการให้น้ำ และที่สำคัญต้นกล้วยจะตั้งตัวได้เร็ว โดยหลังจากปลูกได้เพียง 1 เดือน ต้นกล้วยก็จะมียอดใหม่โผล่เหนือพื้นดิน

ส่วนขยายพันธุ์ของกล้วยสามารถใช้ได้หลายแบบ เช่น “หน่อกล้วย” ที่ใช้ได้ทั้งหน่ออ่อน คือ เป็นหน่อขนาดเล็ก เพิ่งแทงออกมาจากต้นแม่ ยังไม่มีใบให้เห็น หน่อใบแคบเป็นหน่อที่พอจะมีใบบ้าง แต่ใบจะมีลักษณะเรียวเล็ก ชาวสวนมักเรียกหน่อชนิดดังกล่าวว่า “หน่อดาบ” หน่อใบกว้าง เป็นหน่อที่มีใบโตกว้าง คล้ายกับใบจริง ส่วนของ “เหง้า” เป็นเหง้าหน่อกล้วยที่ต้นโตแล้ว แต่ยังไม่ตกผล เมื่อปลูกเราจะตัดยอดหรือลำต้นออก

ส่วนของ “ตา” เหง้าหรือหน่อที่ตกผลแล้วหรือยังไม่ตกผล ถ้ามีขนาดใหญ่พอจะมีตาอยู่หลายตา ซึ่งเราสามารถตัดเหง้าของหน่อ แล้วใช้มีดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ เอาไปปลูกในแปลงหรือชำลงกระบะหรือในถุงดำที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ ไม่นานตาเหล่านั้นจะกลายเป็นต้นกล้วยขนาดเล็กให้เราได้แยกปลูกลงแปลงต่อไป แต่วิธีดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะขั้นตอนยุ่งยากเหมาะกับการขยายพันธุ์กล้วยที่มีจำนวนน้อย หรือมีราคาแพง

ขุดหลุมปลูกกว้าง 50×50 เซนติเมตร

การขุดแยกหน่อจากต้นแม่นั้น ต้องควรทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้หน่อช้ำมากนัก ควรใช้เสียมที่มีความคมแทงให้ขาดเพียง 1-2 ครั้ง เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ใช้มีดปาดเอาส่วนของรากออกให้หมด เมื่อเวลาเรานำไปปลูกกล้วยจะสร้างรากใหม่ขึ้นมา ส่วนหน่อที่มีใบมากจนเกินไปก็ให้ลิดตัดใบออกบ้าง หรือหน่อมีความสูงหรือมีขนาดใหญ่จนเกินไปก็ให้ตัดเฉือนลำต้นให้สั้นลง แต่ถ้าเป็นไปได้การตัดทอนยอดหรือต้นกล้วยควรตัดก่อนที่จะแยกออกจากต้นแม่ ซึ่งการตัดยอดหรือลำต้นของกล้วยไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน กลับทำให้ลำของหน่อกล้วยมีโคนที่ใหญ่อวบอ้วนขึ้น เนื่องจากอาหารจากเหง้าไม่ต้องเลี้ยงยอดและใบ อาหารจึงไปสะสมและสร้างโคนให้ขึ้นนั่นเอง โดยหน่อที่แยกไปจากต้นแม่สามารถนำไปปลูกได้ทันที หรือถ้ายังไม่พร้อมก็สามารถเก็บรักษาไว้ในที่ร่มได้ก่อนนานนับสัปดาห์

การปลูก ในพื้นที่รกควรดายหญ้า หรือไถพรวนเสียก่อน ก่อนการปลูก 7-10 วัน เพื่อปราบวัชพืชและทำให้ดินร่วนโปร่ง สำหรับพื้นที่น้ำท่วมจำเป็นต้องยกร่องเสียก่อน ระยะปลูกกล้วยนั้นมีความสำคัญมาก ถ้าปลูกชิดกันมากเกินไปก็จะทำให้เกิดร่มเงา ทำให้หน่อที่งอกขึ้นมาใหม่จะไม่ค่อยแข็งแรง ลำต้นเรียวเล็ก เพราะได้รับแสงไม่เพียงพอนั่นเอง ฉะนั้น การเลือกระยะปลูกต้องคำนึงถึงแสงแดด ความสมบูรณ์ของดินและชนิดของพันธุ์กล้วยประกอบกัน

ใช้ตะขอตัดแต่งใบกล้วย

สำหรับการปลูกกล้วยบนพื้นที่ราบ หลังจากกำจัดวัชพืชขุดดินหรือไถพรวนเรียบร้อยแล้ว ตากดินราว 7-10 วัน ก็จะขุดหลุมขนาด 50×50 ซ.ม. กองดินชั้นบน (หน้าดิน) ไว้ด้านหนึ่ง ส่วนดินชั้นล่างก็จะกองไปอีกด้านหนึ่งของหลุม จากนั้นให้ใส่ดินชั้นบนลงก้นหลุมพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปด้วยเพื่อเป็นปุ๋ยรองก้นหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำหน่อกล้วยที่เตรียมไว้ วางหน่อกล้วยลงกลางหลุม

ถ้าต้องการให้กล้วยออกปลีในทิศทางเดียวกันทุกหลุม โดยกล้วยจะแทงปลีออกมาในทิศทางตรงกันข้ามกับรอยแผลนั่นเอง เมื่อวางหน่อเรียบร้อยก็จะนำดินส่วนที่เหลือกลบหลุมให้แน่น ถ้าเป็นการปลูกกล้วยในช่วงฤดูฝนก็ควรพูนดินให้สูง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูอื่นก็ไม่จำเป็นต้องพูนดินสูง เพราะเวลาให้น้ำ น้ำที่ให้จะได้ไม่ไหลออกไป ส่วนการปลูกกล้วยแบบยกร่อง มักจะพบเห็นในพื้นที่ในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะกล้วยหอมที่มักจะนิยมปลูกกล้วยริมสันร่องทั้ง 2 ข้าง โดยตรงกลางจะเว้นเป็นทางเดิน โดยจะใช้ระยะปลูกถี่เพียง 3 เมตร เพราะเกษตรกรมักจะปลูกกล้วยใหม่ทุกปี และการวางหน่อปลูกก็จะนิยมหันรอยแผลที่เกิดจากการแยกหน่อไปทางร่องน้ำ เพื่อให้กล้วยตกเครือมาในทิศทางร่องทางเดิน เพื่อจะสะดวกในการเก็บเกี่ยวนั่นเอง

การให้น้ำแก่ต้นกล้วย แม้ว่าต้นกล้วยเป็นพืชที่ค่อนข้างทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี แต่ถ้าปลูกกล้วยเป็นการค้า การให้น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกล้วยมีความต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยกล้วยเป็นพืชใบใหญ่ ลำต้นอวบน้ำและน้ำจะช่วยส่งเสริมเรื่องของการเจริญเติบโต ยกตัวอย่าง เช่น ในช่วงหน้าแล้งจึงไม่ควรให้ต้นกล้วยขาดน้ำ หน้าดินควรมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพราะรากกล้วยส่วนใหญ่จะเจริญและแผ่กระจายเป็นจำนวนมากบริเวณผิวดิน วิธีการให้น้ำแก่ต้นกล้วยมีหลายวิธี เช่น ใช้สายยางเดินรด ติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ ปล่อยน้ำเข้าร่องปลูก ฯลฯ

ผลกล้วยน้ำว้านวลจันทร์มีสีขาวนวล

การใส่ปุ๋ยแก่ต้นกล้วย ค่อนข้างมีความสำคัญส่งผลถึงการเจริญเติบโต และผลผลิตที่จะออกมาก โดยเกษตรกรมักจะเน้นการใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราการให้ประมาณ 200-300 กรัม หรือเฉลี่ย 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี โดยจะแบ่งใส่ 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จะใส่หลังปลูกหน่อกล้วยไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ต่อจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ก็จะมีการให้ปุ๋ย ครั้งที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งการใส่ปุ๋ยเคมี ครั้งที่ 4 เกษตรกรหลายรายที่ใส่ใจในเรื่องของรสชาติ ก็มักจะเปลี่ยนจาก สูตร 16-16-16 มาใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ก่อนการเก็บเกี่ยว

การตัดแต่งหน่อกล้วย หลังจากปลูกกล้วยได้ประมาณ 5-6 เดือน หน่อใหม่จะเกิดขึ้นมาก่อนที่กล้วยจะตกเครือเล็กน้อย ซึ่งเราควรเลือกไว้หน่อเพียง 2 หน่อแรกก็เพียงพอ เพื่อเตรียมไว้ทดแทนต้นแม่เดิมที่จะต้องถูกตัดทิ้งในอนาคต หน่อใหม่ที่เลือกควรอยู่ตรงกันข้ามกันของลำต้นเดิม โดยหน่อแรกๆ นั้น จะมีรากลึกและแข็งแรงถือว่าดีที่สุด ส่วนหน่อที่เกิดมาทีหลัง ชาวสวนมักเรียกว่า “หน่อตาม” ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นมา จะทำให้กล้วยเครือเล็กลง จึงทำลายทิ้งเสียโดยการทำลายหน่อกล้วย ก็อาจจะมีวิธีการขุดหน่อออก แต่ต้องกระทำเฉพาะตอนที่กล้วยยังไม่ตกเครือเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยชะงักทำให้ผลกล้วยเล็กลงได้

การตัดแต่งใบกล้วย เนื่องจากใบกล้วยมีใบเจริญเติบโตออกมาเรื่อยๆ เมื่อใบใหม่ออกมา ใบเก่าก็จะแก่และแห้งติดลำต้น ชาวสวนต้องหมั่นลอกกาบ ใช้ขอเกี่ยวสางตัดใบกล้วยออก โดยจะสางใบกล้วยที่แห้งและเป็นโรคออกอยู่เสมอ โดยถือหลักว่าถ้าใบแห้งและแก่มีสีเหลืองเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของใบกล้วยก็ควรตัดทิ้ง เพราะถือว่าไม่มีประโยชน์ในการสังเคราะห์แสงแต่อย่างใด โดยมักจะเลี้ยงใบไม่น้อยกว่า 7-8 ใบ และเมื่อเครือจวนแก่ก็แต่งใบให้เหลือ 4-5 ใบ ก็เพียงพอ

การค้ำต้นกล้วย เมื่อเครือกล้วยใกล้แก่ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จะทำให้ต้นโค่นล้มได้ง่าย หรือมีลมพัดแรงๆ ชาวสวนต้องมีไม้ไผ่หรือไม้เนื้ออ่อนที่มีง่ามไว้ค้ำยันเครือกล้วย

เมื่อกล้วยมีอายุได้ประมาณ 8-12 เดือน นับตั้งแต่วันปลูกกล้วยน้ำว้า (รวมถึงกล้วยไข่ กล้วยหอม) จะออกปลีในระยะใกล้เคียงกัน ก่อนที่กล้วยจะแทงปลีจะสังเกตได้ว่ากล้วยจะแทง “ใบธง” คือ ใบจะมีลักษณะไม่เหมือนใบทั่วไป เป็นใบขนาดเล็ก ใบชี้ตรงขึ้นท้องฟ้า เมื่อเห็นใบธง เป็นสัญญาณให้เราทราบว่า กล้วยของเรากำลังจะออกปลี ซึ่งปลีกล้วยจะโผล่พ้นตายอดแล้วจะเริ่มทยอยบานให้เห็นดอกกล้วย (หวีกล้วย) ดอกจะบานไล่เวียนลงมา ซึ่งจะเจริญเป็นหวีกล้วยต่อไป ไม่นานปลีจะบานถึงดอกกล้วย หรือหวีกล้วย ซึ่งมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์อยู่ส่วนปลายของปลี

รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วกลบหลุมปลูก

ซึ่งชาวสวนกล้วยเรียก “หวีตีนเต่า” โดยช่องระยะเวลาการบานของดอกกล้วยจะใช้เวลาประมาณ 10-17 วัน หลังจากตกปลี เมื่อเห็นว่าดอกกล้วยบานเกือบสุดแล้ว ก็ต้องตัดปลีออก เพื่อช่วยให้ผลกล้วยมีการเติบโตได้เต็มที่ กล้วยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 100-110 วัน หลังจากปลีโผล่พ้นยอดออกมาหรือสังเกตที่ผลกล้วยในส่วนรวมของเครือว่าจะมีลักษณะผลค่อนข้างกลมไม่เป็นเหลี่ยม

การเก็บเกี่ยวกล้วยเมื่อเห็นว่าผลแก่ ก็ให้เก็บเอาไม้ค้ำเครือกล้วยออก การตัดเครือกล้วยก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ใช้มีดฟันที่กลางลำต้นกล้วยให้ลึก พอที่จะทำให้ลำต้นกล้วยจะค่อยเอนโน้มมาในทิศทางของผู้รับยืนอยู่ หากไม่มีความชำนาญก็ต้องช่วยกันตัดกล้วยสัก 2 คน โดยคนหนึ่งตัด อีกคนคอยรับเครือกล้วย เมื่อตัดเครือกล้วยลงมาได้แล้ว ให้นำเครือกล้วยให้ตั้งปลายเครือกล้วยขึ้นข้างบน ให้รอยตัดอยู่ข้างล่าง ตั้งกับพื้น เพื่อไม่ให้ยางกล้วยไหลย้อนลงมาเปื้อนหวีกล้วย กัดผิวกล้วย