ที่มา | วิถีท้องถิ่น |
---|---|
ผู้เขียน | กฤช เหลือลมัย |
เผยแพร่ |
ถ้าเราอธิบายความเป็นมาเป็นไปของโลกตามกรอบคิดแบบไตรภูมิ ก็จะพบว่า โลกที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ เหมือนอยู่ใน “ขาลง” แทบทุกอย่าง
อากาศก็ร้อนขึ้น ป่าไม้ลดลง ขยะล้นโลกพอๆ กับจำนวนประชากร ข้างพระศาสนาหรือก็ดำเนินมาเนิ่นนานจนใกล้ถึง พ.ศ. 5000 อันเป็นเวลาสิ้นสูญเข้าไปทุกขณะจิต ทางออกที่คนโบราณบอกก็คือ ให้ทำบุญทำทาน ทำความดีมากๆ จะได้ไปเกิดใหม่ทันศาสนาพระศรีอาริย์ในอีกสองพันกว่าปีข้างหน้าเท่านั้น
บางครั้ง เมื่อเผลอๆ ผมก็อดคิดแบบนี้ไม่ได้ คือดูเหมือนว่า อะไรๆ ที่เรารู้สึกว่าเป็นของดีๆ ทำไมมันเพิ่งสูญหายหมดสิ้นไปก่อนหน้าเราแป๊บเดียวทุกทีเลย
เช่น เมื่อปลายปีก่อน ผมได้ไปที่บ้านสามเรือน อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ได้กินกับข้าวชาวบ้านอร่อยๆ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามพวกเขา เหมือนที่ถามมาแล้วหลายต่อหลายหมู่บ้าน ว่าเดี๋ยวนี้ยังทำกะปิน้ำปลากินเองกันอยู่หรือเปล่าครับ
คำตอบก็เหมือนๆ กับที่เคยได้ยิน คือ “เพิ่งจะเลิกทำไปไม่กี่ปีนี้เองแหละจ้า” เห็นไหมครับ ดูน่าโมโหไหมที่ทำไมเราต้องมาช้าไปทุกทีเลยกับเรื่องแบบนี้
เค้าโครงคำอธิบายแบบไตรภูมินี้ ทางหนึ่งดูเหมือนครอบงำวิธีคิดของคนไทยส่วนใหญ่ ให้ยอมๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไปซะ โลกมันก็เป็นแบบนี้ อยากมีโอกาส มีชีวิตดีกว่านี้ก็หมั่นทำบุญไว้รอชาติหน้าดีกว่า แต่เผอิญเดี๋ยวนี้ผมเลิกเชื่อแบบนี้แล้ว ก็เพราะบรรดาพี่ๆ น้าๆ ป้าๆ ลุงๆ หลายคนที่ผมไปพบเจอนั่นแหละครับ แม้จะไม่มากมายนัก แต่พวกเขาต่างได้พิสูจน์ให้ผมเห็นด้วยการกระทำ ว่าเราอาจสร้าง “ขาขึ้น” ของชีวิตเราขึ้นมาได้เสมอ ถ้าเพียงแต่มีปัญญา และตั้งสติดีพอ
…
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ผมได้ไปดูเขาทำน้ำปลาที่ข้างวัดโบสถ์ เขตหมู่ที่ 3 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ตอนนั้น ด้วยความรู้สึกสนุก บ้านเราเลยตัดสินใจลองทำน้ำปลาเองบ้าง
เราซื้อปลาขาวสร้อยสดๆ จากเขามา 3 กิโลกรัม ล้างให้สะอาด เคล้าเกลือ 1 กิโลกรัม หมักกับเนื้อสับปะรดสับ ในโหลแก้วใบเขื่อง จำได้ว่าตอนที่เขียนเรื่องน้ำปลาบ้านบัวชุมนั้น ผมยังแอบโม้เรื่องนี้ แถมท้าทายไว้อีกว่า อีกปีกว่าๆ จะเอามาอวดกัน
โหลแก้วใบนั้นถูกตั้งไว้มุมห้องครัว ในจุดที่แสงแดดส่องถึงในช่วงบ่ายของวัน นานราวหนึ่งปีห้าเดือน ระหว่างนั้น น้ำจากตัวปลาก็ออกมาหล่อเลี้ยงให้เห็นเป็นน้ำใสสีน้ำตาลอ่อนๆ เมื่อเห็นว่าเหมาะควรแก่กาลแล้ว เราก็บรรจงตักน้ำนั้นใส่หม้อ ยกตั้งไฟต้ม
ฟังเหมือนง่ายนะครับ แล้วที่เคยไปดูเขาทำ ก็ไม่เห็นยากสักหน่อย แต่นั่นเขาหมักในโอ่งใหญ่ แถมบางแห่งมีกระชุผิวไม้ไผ่สานวางกรองไว้กลางโอ่งอีกชั้น ส่วนโหลของเรานั้นเล็ก เมื่อจ้วงตักลงไป น้ำปลา “ดิบ” ของเราก็เลยค่อนข้างขุ่น แม้ต้มไม่นาน คือราว 15 นาที กรองผ้าขาวบางทบสองชั้นสามชั้นแล้วก็ยังไม่ใส แลไปเหมือนน้ำบูดูที่เขาขายตามตลาดปักษ์ใต้มากกว่า นอกจากนี้ เมื่อเราหมักเอง ความเข้มข้น ความมันของน้ำปลาดิบที่ได้จึงมากกว่าที่ทำขายกันตามปกติด้วย
ในที่สุด เราแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ชุดดริปกาแฟ ปรากฏว่า “กระดาษกรอง” ที่ใช้กรองกาแฟคั่วบดร้อนๆ ให้เราดื่มทุกเช้านั้น กลายเป็นอุปกรณ์วิเศษที่ทำให้เราได้น้ำปลาต้มเองที่สด ใหม่ ใสแจ๋ว สีเป็นอำพันแวววาวเหมือนที่ตำราจีนโบราณอรรถาธิบายคุณสมบัติน้ำปลาจีนคุณภาพเยี่ยมๆ ไว้เปี๊ยบเลย
น้ำปลา “สินสร้อย” (ผมแอบตั้งชื่อเล่นๆ) นี้ เนื่องจากมีส่วนผสมแค่ปลาขาวสร้อย เกลือ และสับปะรดเล็กน้อย ไม่ใส่น้ำตาล ผงชูรส และเกลือปรุงรสอื่นๆ ไม่ใส่สารเพิ่มความข้นหนืด, สีสังเคราะห์, กลิ่นสังเคราะห์ ฯลฯ ก็เลยมีรสเป็น “น้ำปลา” จริงๆ แบบที่ผมชอบครับ คือไม่หวาน กลิ่นปลาหอมแรง รสเค็มนัว เพราะความเข้มข้นของอัตราส่วนปลาที่ใช้ แล้วก็ไม่มีกลิ่นไหม้มากนัก เพราะเราใช้เวลาต้มไม่นาน
น้ำปลาพริกขี้หนูโฮมเมดถ้วยแรกของบ้าน จึงอร่อยจริงๆ เลยล่ะครับ
ส่วนโหลหมักนั้น เราต้มน้ำเกลือทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเติมลงไป คิดว่าจะรออีกราว 2 เดือน ตามขั้นตอนวิธีของชาวบ้านชุมแสง นครสวรรค์ แล้วจึงจะตักมาต้มเป็นน้ำปลาน้ำสองต่อไปครับ
…
ผมคงไม่สามารถผลิต “สินสร้อย” มาทดแทนน้ำปลาที่ใช้กินในบ้านได้ทั้งหมดหรอกครับ นี่ยังไม่นับว่า บ้านผมใช้น้ำปลาในต่างวัตถุประสงค์ เช่น แกงก็ใช้แบบหนึ่ง ราดปลาทอดใช้แบบหนึ่ง ทำน้ำปลาพริกก็ใช้อีกแบบหนึ่ง เพราะน้ำปลานั้นก็เหมือนอะไรอย่างอื่นๆ คือไม่มียี่ห้อไหนหรอกที่อร่อยที่สุดในโลก แต่ละยี่ห้อล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว ที่เหมาะควรแก่การปรุงรสปรุงกลิ่นอาหาร ต่างๆ กันไปทั้งสิ้น
แต่การได้ทำอะไรเองบ้าง ได้เลือกวัตถุดิบที่ไว้ใจได้มาทำของกินบ้าง ก็เป็นทางเลือกเล็กๆ ที่พอทำได้จริง ท่ามกลางความรู้สึกที่ว่าชีวิตนี้ช่างมีแต่ขาลง นี่อาจเป็น “ขาขึ้น” เล็กๆ ที่ประทังให้วิถีการบริโภคในโลกสมัยใหม่ไม่ได้ดูแย่ไปเสียทั้งหมด
ลองมองไปรอบๆ ตัว เราท่านอาจเห็นลู่ทางของ “ขาขึ้น” เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ยากเกินจะลองไต่ขึ้นไปบ้างนะครับ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562