กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์…หยุดเผา หยุดฝุ่น หยุดโรค!!

เพาะเห็ดฟาง

การดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมปัจจุบันดูเป็นเรื่องไม่ง่ายขึ้นทุกที ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุที่ประชากรเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติลดลง เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเติบโต การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย การเลือกปฏิบัติแบบง่ายสะดวกอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออะไรก็ตาม ที่ล้วนแล้วแต่ก็มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น

หากมองในเรื่องของเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร การทำเกษตรในปัจจุบันดูราวกับหมุนตามกระแสความต้องการที่ไม่รู้จบ เน้นการผลิตให้ได้ปริมาณมากและรวดเร็วโดยอาจหลงลืมถึงผลกระทบที่จะตามมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน และประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอย่างแท้จริง จึงพยายามส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรตลอดมา ทั้งการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพและได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเน้นปริมาณ ตลอดจนการพัฒนาดูแลดินปุ๋ยวัตถุดิบการเกษตรต่างๆ และหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะยกตัวอย่างจากการทำเกษตรบนพื้นที่ราบสูงของไทยคือ การดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ความสำคัญของการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร นอกจากจะไม่เกิดมลภาวะที่เป็นพิษและเกิดฝุ่นควันในสภาพแวดล้อมซึ่งกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อการทำเกษต คือ ลดปัญหาดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ลดปัญหาต้นทุนการผลิตสูงผลผลิตที่ได้รับต่ำ อันเป็นผลมาจากการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรได้เดินหน้าส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรโดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และขยายพื้นที่นำร่องการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี พ.ศ. 2562

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักและห่วงใยสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในวงกว้าง จึงได้กำชับไปยังพื้นที่ที่พบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรสูง โดยให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลเสียจากการกระทำดังกล่าว รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ให้สามารถถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนของตนเองให้มีความรู้พื้นฐานเพื่อการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และสามารถนำเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ทดแทนการเผาได้ เช่น การใช้เครื่องสับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุปกคลุมหน้าดิน การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง การจัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง การอัดฟางก้อน การหมักฟางเป็นอาหารสัตว์ การทำหุ่นไล่กา เป็นต้น

จากรายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ในปี พ.ศ. 2561 ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการเผาได้ 35,664 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 142 ล้านบาท จากราคาปุ๋ยอินทรีย์เฉลี่ย 4 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดพื้นที่การเกษตรปลอดการเผา รวม 100,320 ไร่ และจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2561 ลดลง ซึ่งจากรายงานแสดงจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลงทุกปี เมื่อเทียบกับตัวเลขจุดความร้อนตั้งแต่เริ่มโครงการ ในปี พ.ศ. 2557 ที่มีจำนวน 12,528 จุด เหลือ 4,804 จุด

ตัวอย่างชุมชนต้นแบบปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตรอยู่ในจังหวัดน่าน จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนในตำบลทุ่งศรีทอง อำเภอเวียงสา ที่ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมัก ไถกลบตอซัง และเก็บเศษวัสดุฟางข้าว และชุมชนในตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง ที่ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมักและเพาะเห็ดฟางจากเศษฟางข้าวกว่า 57 ตัน ต่อปี ลดการเผาฟางข้าวได้กว่า 72 ไร่ มีสมาชิกจำนวน 43 ราย สามารถผลิตเห็ดฟางได้ถึง 600 กิโลกรัม ต่อดือน โดยจำหน่ายในพื้นที่กิโลกรัมละ 80 บาท สร้างรายได้ 48,000 บาท ต่อเดือน

อัดฟางเป็นอาหารสัตว์

ในปี พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผา ผ่านกลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ จากพื้นที่นำร่องกลุ่มเดิม 120 ตำบลใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์ สู่พื้นที่นำร่องกลุ่มใหม่ในจังหวัดดังกล่าวอีก 30 ตำบล และขยายเครือข่ายเพิ่มเติมไปยัง 16 จังหวัด ที่พบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรสูง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี รวมถึงเร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้พื้นฐานต่างๆ เพื่อการหยุดเผา แก่เกษตรกรในชุมชนของตนเองได้ เพื่อร่วมผลักดันให้เกษตรกรในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรด้วย โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสามารถเข้าร่วมฐานเรียนรู้การปฏิบัติกิจกรรมหยุดเผาในพื้นที่เกษตรได้ในวันสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผาและรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร ที่แต่ละจังหวัดกำหนด ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562

ด้าน นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สสก.ที่ 6 จ.เชียงใหม่ ได้มีการมอบแนวทางการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และจังหวัดลำพูน และศูนย์ปฏิบัติการ 11 ศูนย์ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ป้องกัน รวมทั้งเฝ้าระวังการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งในปีนี้ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรที่มุ่งเน้นการสร้างเกษตรกรและชุมชนต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนการเกษตรการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรให้เป็นรูปธรรม และเป็นจุดเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรต่อไป โดยมีเป้าหมายคือลดพื้นที่การเผาในพื้นที่การเกษตร ลดจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สร้างชุมชนเกษตรปลอดภัย สร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบและเครือข่าย

กิจกรรมที่ได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1. สร้างชุมชนเกษตรกรปลอดการเผาต้นแบบและเครือข่าย โดยถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร สร้างวิทยากรด้านการเกษตรปลอดการเผา เสริมสร้างการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา 2. เฝ้าระวังติดตามและแก้ไขปัญหาการเผาในช่วงวิกฤติ โดยจัดเวทีเชื่อมโยง นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เกษตรกรและอาสาสมัครเกษตรต่างๆ และ 3. รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ลดการเผาในชุมชนภาคเหนือตอนบน

“เมื่อเกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรแล้วจะได้ 5 ดี คือ อากาศดี สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี และได้ปุ๋ยดีจากธรรมชาติ” ผอ.สสก.ที่ 6 จ.เชียงใหม่กล่าว

เกษตรกรเรียนรู้

สำหรับการประกาศวันห้ามเผาเด็ดขาดปี พ.ศ. 2562 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้

  1. จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2562
  2. จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562
  3. จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562
  4. จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2562
  5. จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2562
  6. จังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2562
  7. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562
  8. จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2562 และ
  9. จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562

หากเกษตรกรเล็งเห็นผลดีที่แท้จริงอันจะได้รับจากการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และร่วมมือร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การทำเกษตรปลอดการเผา สังคมเกษตรกรรมไทยเราก็จะเป็นสังคมหยุดเผา หยุดฝุ่น หยุดโรค สุขภาพกายใจดี มีเงินเพิ่มพูนได้ไม่ยาก