ผู้เขียน | นายมัรวาน หะยีเจ๊ะและ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณมงคล เกศกนกวงศ์ เกษตรอำเภอบ้านกรวด ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านในอำเภอบ้านกรวด ส่วนใหญ่ทำอาชีพทางการเกษตร ซึ่งจะเน้นไปในทางพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาลม์น้ำมัน นอกจากนี้ ที่อำเภอบ้านกรวดยังมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ซึ่งเป็นพืชไม้ดอกไม้ประดับอย่างดอกดาวเรืองที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด และมีผู้ประกอบการปลูกมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ
“การปลูกดอกดาวเรืองที่นี่ มุ่งเน้นที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน ขยายออกไปถึงตำบล ถึงอำเภอ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่พบบ่อยคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูง และราคาของดอกดาวเรืองที่ไม่คงที่ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านกรวดจึงเห็นความสำคัญและส่งเสริมให้คำปรึกษาทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการลดใช้สารเคมีหันมาใช้สารอินทรีย์ผสมกัน เพราะถ้าใช้สารอินทรีย์อย่างเดียวก็คงไม่ได้” คุณมงคล กล่าว
นอกจากนี้ คุณมงคล ยังบอกอีกด้วยว่า สำนักงานเกษตรอำเภอยังได้สนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ที่จะพัฒนา ทำให้ดอกดาวเรืองมีขนาดใหญ่ ซึ่งก็ใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย แต่ในเรื่องของงบประมาณก็ให้เกษตรกรสามารถเข้าจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อกู้เงินจากธนาคาร เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการประกอบอาชีพต่อไป
ส่วนเรื่องด้านการตลาดก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกร เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะมีการขึ้นลงตามกลไกลของตลาด เพราะดาวเรืองส่วนใหญ่มีส่งออกไปยังนอกประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และยุโรป เป็นบางส่วน
“การปลูกดาวเรืองที่อำเภอบ้านกรวด ก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูหนาวดอกจะโตสมบูรณ์ ไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับการปลูก แต่ฤดูแล้งมักจะมีปัญหาที่เกี่ยวกับโรคแมลง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีภูมิอากาศที่ดีเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อเสียของการปลูกคือไม่สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้ เพราะอาจจะมีสารตกค้าง หรือเชื้อโรคต่างๆ เกษตรกรจึงหาวิธีแก้โดยการเปลี่ยนโซนพื้นที่ในปลูกการออกไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าการปลูกดาวเรืองเป็นอาชีพที่คนเป็นเกษตรกรต้องดูแลเอาใส่ใจให้มากๆ เพราะเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านกรวดยังได้มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่ที่ปลูกดาวเรืองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสามารถเข้าเที่ยวได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว” คุณมงคล กล่าวทิ้งท้าย
คุณนวน ประกอบมิตร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ตำบลดอกไม้งาม อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การปลูกดาวเรืองในพื้นที่ ตำบลหนองไม้งาม มีที่มาจากครูท่านหนึ่งที่เห็นเขาปลูกดาวเรืองแล้วมีรายได้ดี เพราะแต่ก่อนดอกดาวเรืองมีราคาถึงดอกละ 1-2 บาท จึงได้ตั้งกลุ่มและมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาจนมีตลาดส่งออกจนถึงทุกวันนี้ ธุรกิจการปลูกดาวเรือง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมซึ่งภายใน 1 วัน มีเงินเข้ามาในชุมชน 100,000-200,000 ถือเป็นเรื่องที่ดี
คุณสมปอง พะลัง เกษตรกรปลูกดาวเรือง ตำบลดอกไม้งาม อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ รวมกลุ่มอาศัยซึ่งกันและกันแบ่งปันวิชาความรู้ และพูดคุยแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อความยั่งยืน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีรายได้เสริม ที่เริ่มจากการเป็นลูกจ้างเก็บดอกดาวเรือง จนสามารถพลิกพาตัวเองเข้ามาสวมบทเจ้าของสวนดาวเรืองรายใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จและน่าเชิดชู
คุณสมปอง อธิบายถึงขั้นตอนการเตรียมแปลงก่อนที่จะมีการปลูกดาวเรือง ซึ่งขั้นตอนแรกก็ต้องไถ่พรวนดินให้ดี ก่อนที่จะมีการรองพื้นเพื่อที่จะเอารากลงพร้อมๆ กับรดน้ำให้เปียก จากนั้นก็ใช้ปุ๋ยเคมีที่ทางไร่ได้เตรียมไว้ ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ไปที่แปลงปลูก
ถ้าเป็นในช่วงของสูตรดอกก็ต้องใส่สูตรบำรุงดอก ในส่วนของระยะห่างของแปลงปลูกดอกดาวเรืองก็จะกำหนดระยะห่างไว้ที่ 1.30 เมตร และระยะห่างของต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เซนติเมตร
“เนื่องจากว่าแปลงดอกดาวเรืองเป็นแปลงที่มีพื้นที่ในการปลูกไม่มากนัก เราจึงเกิดวิธีคิดการปลูกดาวเรืองแบบร่องคู่ ซึ่งก็จะได้ดอกดาวเรืองที่ค่อนข้างที่จะเยอะกว่า ทำให้ปัญหาเรื่องพื้นที่ในการปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัดก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเราอีกต่อไป” คุณสมปอง กล่าว
ในส่วนของการเพาะกล้าก็จะใช้วิธีการซื้อต้นกล้าที่ผ่านการเพาะเรียบร้อยแล้วมาลงปลูกในแปลงได้ทันที ซึ่งมีข้อดีที่ว่าจะทำให้ต้นดาวเรืองมีความแข็งแรงไม่เสียเวลาในการรอต้นกล้างอก และเมื่อเจริญเติบโตให้ดอกเก็บขายได้ จะได้ดอกที่สมบูรณ์แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ดอกดาวเรืองมีสีสวยสดงดงาม ทำให้ตลาดมีความต้องการและการันตีในเรื่องของราคาส่งออกและลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การปลูกดอกดาวเรืองเริ่มแรกควรใช้ต้นกล้าที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 วัน มาปลูกลงดิน หรือแปลงที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นทำการรดน้ำให้เปียกชุ่ม ถ้าไม่ชุ่มก็ให้รดน้ำทุกๆ วัน จนเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ก็สามารถใส่ปุ๋ยได้เลย ก่อนที่จะเด็ดยอดต้นเล็กเพื่อให้มีการแตกแขนง เพื่อให้มียอดสามารถออกดอกได้มาก” คุณสมปอง กล่าว
คุณสมปอง ได้อธิบายถึงวิธีการใส่ปุ๋ยว่า การใส่ปุ๋ยทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายจะเป็นการใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งให้ดอกดาวเรืองโตและบานได้เต็มที่ ในส่วนของการเก็บเกี่ยวหรือเรียกว่าการตัดดอกนั้น สามารถเลือกตัดดอกที่โตสมบูรณ์เต็มที่
สำหรับตลาดของดอกดาวเรือง คุณสมปอง บอกว่า มีลูกค้าที่ซื้อขายกันอยู่เป็นประจำ โดยแหล่งใหญ่อยู่ที่ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งลูกค้าสามารถรับซื้อได้ตลอดทั้งปี แต่ราคาของดอกดาวเรืองจะขึ้นอยู่กับฤดูหรือช่วงเวลานั้นๆ ตามกลไกของการตลาด แม้ว่าราคาตลาดของดอกดาวเรืองไม่แน่นอน ก็ยังถือว่าจำหน่ายได้ราคาดี อยู่ที่ดอกละ 1 บาท หรือบางช่วงอยู่ที่ราคาดอกละ 50 สตางค์
อย่างไรก็ดี เกษตรกรอย่างคุณสมปอง ยังมีกำลังใจที่อยากจะพัฒนาอาชีพนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ต้นทุนในการผลิตอาจจะสูงแต่ก็ยังทำกำไรได้ดี เพราะว่าในประเทศไทยมีความเชื่อในเรื่องของการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงสามารถทำให้ดอกดาวเรืองเป็นที่ต้องการ และผลิตจำหน่ายต่อไปได้เรื่อยๆ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมปอง พะลัง หมายเลขโทรศัพท์ (089) 947-9940