อุ (อู) รักลาโว้ย บนหาดราไวย์ และเกาะลันตาในดินแดนไข่มุกอันดามัน

เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะภูเก็ต ถือว่าเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” เนื่องจากเป็นพื้นที่เกาะที่มีทรัพยากรทางทะเลอันงดงามตามธรรมชาติ ประกอบไปด้วยหาดทรายลักษณะต่างๆ เช่น หาดราไวย์ หาดสุรินทร์ หาดแหลมกา หาดกมลา หาดในยาง หาดป่าตอง หาดกะรน หาดยะนุ้ย หาดกะตะ เป็นต้น ทั้งยังมีอ่าวกะรน อ่าวฉลอง อ่าวกะตะ อ่าวสน อ่าวกะตะน้อย รวมไปถึงแหลมพรหมเทพ อันเป็นพื้นที่ที่ดวงตะวันจะเลื่อนลับปลายขอบฟ้าจรดโค้งทะเลบริเวณสถานที่แห่งนี้โดยเฉพาะบริเวณเกาะลันตามีอีกหลายหาด เช่น หาดคลองนิน หาดคลองดาว หาดโละบารา หาดพระแอะ หาดคอกวาง หาดคลองโขง เป็นต้น

ที่สำคัญบนพื้นที่หาดราไวย์และเกาะลันตา มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมสามชนเผ่า ได้แก่ มอแกน (มอเก็น) มอแกลน และอุรักลาโว้ย ซึ่งต่างยังดำรงวิถีชีวิต และรักษาวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 200 ปี หรือราวๆ 7 รุ่น โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่มีการตรวจสอบอายุการฝังว่า เป็นระยะเวลานานนับร้อยปี

วิถีการดำรงชีวิตของชาวเลอูรักลาโว้ยที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ต้องนั่งแพขนานยนต์ข้ามทะเลฝั่งอันดามัน

ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มมอเก็น หรือมอแกน ยังแบ่งออกเป็นอีกสองกลุ่มย่อย มอเก็นปูเลา หมายถึงคนน้ำเค็ม ที่อาศัยเร่ร่อนตามหมู่เกาะ และ มอเก็นดานัง หมายถึงคนน้ำเค็ม ที่อาศัยเร่ร่อนบนแผ่นดินแถบชายฝั่งทะเล ส่วน อูรักลาโว้ย นั้นหมายถึงคนของทะเล “อูรัก” หมายถึง คน และ “ลาโว้ย” หมายถึง ทะเล ซึ่งผู้คนทะเลหรือชาวเลต้องใช้เรือเร่ร่อนกินอยู่หลับนอนในทะเล มีตำนานของชาวอูรักลาโว้ย ที่เล่าขานถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวเลว่า

เรือหัวโทงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จอดเรียงรายอยู่ชายฝั่ง
บ้านเรือนและวิถีความเป็นอยู่

ในช่วงที่มาเลเซียมีการสร้างเมือง ผู้ชายชาวเลที่เร่ร่อนหากินอยู่ในน่านน้ำ บริเวณช่องแคบมะละกาลงไป มักถูกจับไปเป็นทหาร ส่วนผู้หญิงก็ถูกจับไปทำพันธุ์ จึงพากันอพยพแยกย้ายออกไปหลายสาย เป็นต้นว่า หนีขึ้นมาในเขตประเทศไทย บริเวณหมู่เกาะลันตาเป็นชาวเลออรัง ลอตา หรืออูรักลาโว้ย บางส่วนหนีขึ้นไปบริเวณหมู่เกาะชายแดนไทย-เมียนมา เป็นชาวเลมอเก็นปูเลา อีกพวกหนึ่งถูกจับได้ทิ้งเรือว่ายน้ำหนีขึ้นบก เป็นชาวเลมอเก็นตามับ มอเก็นปูเลา เป็นกลุ่มชาวเลกลุ่มที่คนท้องถิ่น เรียกว่า มอแกนเกาะ หรือพวกสิงห์ทะเล ส่วน มอเก็นตามับ เป็นกลุ่มที่คนท้องถิ่นเรียกว่า มอแกนบก หรือพวกสิงห์ดอน

ชาวเลอูรักลาโว้ย เรียกตนเองว่า “ลาโว้ย” แต่คนต่างกลุ่มมักเรียกว่า “ชาวเล”, “ชาวน้ำ” หรือ “ชาวไทยใหม่” วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโว้ยที่อยู่อาศัยในบริเวณประเทศไทย อาศัยเรือเร่ร่อนหากินในทะเล มีถิ่นที่อยู่ไม่แน่นอน แต่จำกัดอยู่เฉพาะน่านน้ำฝั่งทะเลตะวันตกทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น พักอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน นับตั้งแต่ช่องแคบมะละกาขึ้นไป จนถึงบริเวณหมู่เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลน จังหวัดสตูล เกาะพีพี (แหลมตง) เกาะจำ และเกาะลันตา โดยกระจายกันอยู่บริเวณบ้านคลองดาว บ้านในไร่ บ้านบอแหน บ้านหัวแหลมกลาง บ้านสังกะอู้ จังหวัดกระบี่ เกาะสี่เหร่ (แหลมตุ๊กแก) หาดราไวย์ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น

บริเวณหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ได้พบเห็นประชากรชาวเลมอเก็นปูเลา มอเก็นตามับ และชาวเลอูรักลาโว้ย ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกัน อีกทั้งนิยมแต่งงานข้ามกลุ่มผสมผสานกันมาก นอกจากนั้น ยังมีชาวเลมอเก็นปูเลาและมอเก็นตามับหลายคน ไปแต่งงานอยู่กินกับชาวเลอูรักลาโว้ย ที่เกาะพีพี และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ผู้คนต่างถิ่น จากแดนไกลมาเยี่ยมเยียนชุมชน

ยังมีชาวเลอูรักลาโว้ยบางกลุ่ม ที่อยู่บนเกาะบูโหลน จังหวัดสตูล และบ้านเกาะปอ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เช่น ชาวเลมอเก็นปูเลาย้ายไปอยู่เกาะเหลา หรือเกาะหลาม จากเกาะระไปอยู่ที่เกาะพระทอง ย้ายจากบ้านบอแหน ไปอยู่ศาลาด่าน จากเกาะสีเหร่ เดินทางไปที่บ้านหินลาด อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นต้น

ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ย ยังมีเครือญาติที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ใช้นามสกุลพระราชทานเหมือนกันหมด เช่น ชาวเลอูรักลาโว้ยที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กลุ่มบ้านหัวแหลม ใช้นามสกุล “ทะเลลึก” กลุ่มบ้านไร่ และคลองดาว ใช้นามสกุล “ช้างน้ำ” ที่จังหวัดภูเก็ต กลุ่มเกาะสีเหร่ และราไวย์ ใช้นามสกุล “ประมงกิจ” กลุ่มเกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลน ในจังหวัดสตูล ใช้นามสกุล “หาญทะเล” เป็นต้น

คุณขวัญเกล้า มีหลำ ได้เล่าถึงชุมชนโต๊ะบาหลิวว่า ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลศาลาด่าน อยู่ห่างจากที่ว่าอำเภอ 400 เมตร โดยมีคลองคั่นกลาง พื้นที่ตั้งชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับท่าเทียบเรือศาลาด่าน ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ทำมาหากินได้คล่อง เดินทางสะดวก และตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดมากนัก ทำให้สะดวกต่อการนำสิ่งของ อาหารจากท้องทะเลที่หาได้ ไปแลกเปลี่ยนหรือขายในตลาด

อีกทั้งด้านการคมนาคม การเดินทางโดยเรือ โดยใช้ท่าเทียบเรือศาลาด่าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ การเดินทางโดยรถยนต์และรถประจำทางจากตัวเมืองจังหวัดกระบี่มายังท่าเทียบเรือศาลาด่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางเข้าสู่ชุมชนโต๊ะบาหลิวได้ง่าย ในอดีตเป็นสะพานไม้ แต่ปัจจุบันได้สร้างสะพานคอนกรีต มีระยะทางประมาณ 200 เมตร เข้าออกบ้านเรือนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ชาวอูรักลาโว้ย ต่างรับรู้ถึงความเป็นมาว่า เดิมชาวอูรักลาโว้ยเป็นชนเผ่าใหญ่ในประเทศมาเลเซีย แต่เกิดความขัดแย้งกัน เนื่องจากมาเลเซียเคร่งครัดในทางศาสนา ที่มีข้อห้ามต่างๆ แต่ชาวอูรักลาโว้ยไม่สามารถปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัดได้ โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อหมู การดื่มสุรา เป็นต้น

ทำให้ชาวอูรักลาโว้ย ต้องถูกขับไล่ออกนอกประเทศ จึงต้องแยกย้ายกันหาที่พักใหม่ โดยออกเดินทางมาพักอาศัยที่เกาะอาดัง และเดินทางเรื่อยมาถึงบริเวณเกาะบุโหลน เกาะลันตา ไปถึงบริเวณหาดราไวย์จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น

ชาวอูรักลาโว้ยที่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง ต่างมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษ ชาวอูรักลาโว้ยเป็นกลุ่มที่เดินทางไปจากเกาะลันตา ซึ่งเป็นบ้านแห่งแรกในฝั่งทะเลอันดามัน ยังมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่าโต๊ะคีรี เป็นผู้ซึ่งเดินทางมาจากประเทศอินโดนีเซีย ได้แต่งงานกับสาวชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตาและเกาะสิเหร่ ให้มาอาศัยอยู่ที่หมู่เกาะอาดัง ราวี ในช่วงสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอูรักลาโว้ย

อย่างไรก็ตาม “ศาลาดำ” หรือ “ชุมชนโต๊ะบาหลิว” เป็นพื้นที่ที่ชาวเลอูรักลาโว้ยที่อพยพมาจากบ่อแหน ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษมาตั้งรากฐานตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากมีนายทุนมาสัมปทานพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อนำไม้โกงกางมาเผาถ่าน ทำให้มีคนนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยบริเวณบ้านบ่อแหนจำนวนมากขึ้น ส่วนบริเวณ “ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว” ยังคงใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและเป็นที่จอดเรือ

ปัจจุบัน ชาวอูรักลาโว้ยถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่อาศัยบนเกาะลันตาเท่านั้น เพราะเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ยินยอมให้เรือประมงจอดบริเวณหน้ารีสอร์ต ดังนั้น ชาวอูรักลาโว้ยจึงนำเรือมาจอดรวมกันที่บริเวณหน้าบ้านโต๊ะบาหลิวแทน ทำให้ชาวเลมาทำเพิงพักรอบๆ ศาลเจ้าเพื่อเฝ้าเรือ ปัจจุบันชาวเลชุมชนในไร่และศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวมีจำนวน 130 คน ผู้นำทางความเชื่อหรือชาวเลเรียกกันว่า โต๊ะหมอ หรือหมอมะดิเอน ช้างน้ำ เป็นผู้สูงวัยที่เคารพศรัทธาของชาวเลบ้านโต๊ะบาหลิว

สำหรับบ้านสังกาอู้ ซึ่งอยู่ในเขต หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ นั้นมีที่มาว่า “สังกาอู้” หมายถึง ปลากระเบนราหู โดยชาวสังกาอู้เชื่อกันว่าแต่เดิมอาศัยอยู่ในทะเล มีปลากระเบนราหูตัวหนึ่งนำทางพวกเขามายังเกาะลันตา ทำให้มีถิ่นฐานอยู่อาศัยที่ถาวรมาตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันมีกองหินเรียกว่า “หินเหงือ” ซึ่งมีชาวบ้านนับถือศรัทธา ว่าเป็นที่สิงสถิตของปลากระเบนราหูตัวนั้น เป็นจ้าวแห่งทะเล ชาวเลจึงเรียกกันว่า “โต๊ะอีสังกาอู้” ชาวเลจะนำธงแดงไปปักไว้ที่กองหิน เพื่อแสดงความเคารพ ปัจจุบันบ้านสังกาอู้ มีประชากรชาวเลมากกว่า 400 คน โดยมี โต๊ะหมอประกอบ ทะเลลึก คุณมาราศี ทะเลลึก คุณหี้ เก็บ ช้างน้ำ คุณจุเร็ม ทะเลลึก เป็นต้น เป็นกลุ่มผู้นำทั้งด้านความเชื่อและกรรมการชุมชน

คุณเดียว ทะเลลึก หนุ่มวัยกลางคนของชาวบ้านโต๊ะบาหลิว เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยในชุมชน โต๊ะบาหลิวนั้นเชื่อ คือเชื่อในเรื่องของ “โต๊ะ” หรือ “ดาโต๊ะ” ใช้คำเรียกเหมือนกันกับคำเรียกชื่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ของชาวมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ หรือบุคคลที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แฝงตัวอยู่ในร่างต่างๆ ของสัตว์ เช่น นก เสือ ปลา งู จอมปลวก ก้อนหิน หรือ สถานที่ เป็นต้น

คุณเดียว ทะเลลึก คุณเอกรินทร์ ช้างน้ำ กรรมการชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำของชาวเลอูรักลาโว้ย ชุมชนโต๊ะบาหลิว

คุณมะดิเอน ช้างน้ำ ผู้นำทางจิตวิญญาณ เรียกว่า “โต๊ะหมอ” เล่าว่า ชุมชนโต๊ะบาหลิวนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณที่ปกป้องหมู่บ้านไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายต่างๆ และช่วยคุ้มครองชุมชนให้สงบ อยู่เย็น เป็นสุข ความเชื่อเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนานจากผู้สูงอายุรุ่นต่อรุ่น

และมีศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการกราบไหว้ ขอพร และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวิญญาณบรรพบุรุษ 3 องค์ ด้วยกันคือ โต๊ะบิกง (คนกลาง) โต๊ะบาหลิว (ซ้าย) โต๊ะอาดัม (ขวา) แต่เดิมศาลเจ้าไม่ได้อยู่บริเวณนี้ แต่ต้องย้ายมาจาก บ้านบ่อแหน เนื่องจากถูกนายทุนบุกรุกพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปกราบไหว้ได้เหมือนเดิม จึงได้ย้ายศาลเจ้ามาประดิษฐานไว้เพื่อสำหรับกราบไหว้ในชุมชนโต๊ะบาหลิวจนถึงปัจจุบัน

ชาวอูรักลาโว้ย เชื่อถือศรัทธาว่ามีวิญญาณบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทำให้ชาวอูรักลาโว้ย รักษาธรรมเนียมการปฏิบัติต่อศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดผู้หนึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ จะทำให้เกิดความเดือดร้อน เกิดโรคภัยไข้เจ็บ กล่าวกันว่าเป็นบทลงโทษของบรรพบุรุษ ส่งผลให้ธรรมชาติที่ล้อมรอบชุมชนยังสมบูรณ์เพราะเคารพธรรมชาติของชาวอูรักลาโว้ย ที่แสดงผ่านความเชื่อวิญญาณบรรพบุรุษ