“ตะขบ” หนุ่มดำจากป่า มาอยู่บ้านนอก ถูกหลอกเข้าเมือง เขาใช้เป็น “เครื่องดูดฝุ่น”

ตะขบป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia rukam, Flacourtia Indica (BURM.F.) Merr
ชื่อสามัญ Govemor’splum, Indian Plum, Ramontchi
ชื่อวงศ์ Flacourtiaceae, Salicaceae

ตะขบป่า: ใบรูปรีหรือรูปไข่ ขอบจัก ผลสุกสีแดง (ภาพซ้าย: ตาก – ราชันย์ ภู่มา)

ตะขบไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia Jangomas (LOUR), Flacourtia Rukam
ชื่อสามัญ Coffee Plum, Indian Cherry, East Indian Plum
ชื่อวงศ์ Flacortiaceae

ตะขบฝรั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Muntingia Calabura Linn
ชื่อสามัญ Jamaican Cherry, Calabura Jam Tree, West Indian Cherry
ชื่อวงศ์ Muntingiaceae, Tiliceae

ตะขบฝรั่ง: ผลสุกสีแดง (ภาพ: พบพระ ตาก – ราชันย์ ภู่มา)

ชื่ออื่นๆ (รวมทุกชนิด) ตาขบ ขรบฝรั่ง ครบ (ปัตตานี) มะเกว๋นควาย ตะขบควาย ตานเสี้ยน มะเกว๋นนก มะเกว๋นป่า หมักเบ็น ตากบ

ผมสับสนกับตัวเอง เพราะแต่ละภาคของประเทศจัดผมอยู่ในกลุ่มต่างๆ ทั้งเป็นชนิด “อยู่ป่า” “ในไทย” และ “ฝรั่ง” แต่เวลาเอ่ยชื่อผม ก็เอ่ยว่า “ตะขบ” อย่างเดียวไม่ต้องสนใจว่าสัญชาติใด ผมก็รู้ว่าเป็นตัวผม เพราะเป็นที่รู้จักกันตั้งสองร้อยกว่าปีมาแล้ว เรื่องนี้ผมภาคภูมิใจมาก จากที่ผมถูกเอ่ยชื่อในกลอนบทละคร จากเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงตะขบป่า ว่า

บัดนั้น                                   ประสันตาผู้มีอัธฌาสัย
เที่ยวเล่นในป่าพนาลัย                  แสวงหาต้นไม้ดังจินดา
เห็นตะขบ ข่อย มะขาม สามต้น      เอาชายชอบกลนักหนา
คนเดียวจะขุดสุดปัญญา               หมายตาไว้แล้วก็กลับไป

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ครองราชย์ พ.ศ. 2352 ถึง พ.ศ. 2367 แต่สืบค้นเพิ่มเติม พบว่า อิเหนาเป็นวรรณคดีที่รู้จักกันมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย แต่สมัยนั้นเอ่ยถึงชื่อผมหรือเปล่าไม่ทราบ ผมมารู้ตัวอีกครั้งว่าผมดังในระดับสื่อ “โซเชียล” ยุค 4.0 เชียวนะ เลย “ฮง” ตัวเอง

จากกรณีวิกฤติฝุ่นละลอง PM 2.5 ปัญหาต่อสุขภาพ และแนวทางแก้ไขมีข้อมูลด้านวิชาต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เสนอมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องการปลูกต้นไม้โดยกล่าวถึง “ต้นตะขบ” ว่า มีใบมีขนซึ่งดูดซับฝุ่นได้ดี ผมงี้สะดุ้งโหยง คิดดูจากเมืองอิเหนาสองร้อยกว่าปีมาแล้ว ธรรมดาก็อยู่ป่า แล้วเขาก็นำมาปลูกในเมือง ในบ้าน บอกว่าให้ร่มเงาเป็นอย่างดี เด็ดลูกผล ดอกกินได้ มาถึงยุคก่อนมีสภาผู้แทนปี ’62 นี้ จะเอาผมมาอยู่ริมถนนคอยดูดซับฝุ่นมลพิษต่างๆ ที่รถแต่ละคันปล่อยควันดำ คนเผาขยะ ขนดิน ขนปูน ก่อสร้างบ้าน คอนโดฯ แล้วให้ผมยืนต้นผลิใบอ่อนแก่ ทำเป็นเครื่องดูดฝุ่น ก็คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ผมปฏิเสธไม่ได้ เพราะเรื่องนี้คนที่พูดถึงผมมีตำแหน่งถึง “แพทยสภา” และสนับสนุนโดย “กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” ให้เกียรติเชื่อมือผมขนาดนี้ ก็คงต้องยอมรับอย่างภูมิใจ

สมัยก่อนผมคิดว่าต้น “ผกากรอง” ที่ปลูกกลางถนน เขาคงไว้ดูดซับมลพิษจากควันรถ เขาจึงตั้งชื่อเป็นต้นไม้ที่ใช้  “กรอง” แต่เห็นว่าต้นเตี้ย พุ่มเล็ก กลางถนน ได้รดน้ำให้บ้างไม่ให้บ้าง แต่ก่อนมีมากเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว

แต่เอ่ยถึงต้นไม้ใหญ่ว่า อย่างต้นจามจุรี และต้นมะขาม ก็มีในเมืองกรุงมาก มาตอนนี้นักวิชาการบอกว่าต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดีของคนเมือง มีการอบรม “รุกขกร” ตัดแต่งต้นไม้ ทำแผนปลูกต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ร่วมกับสังคมเมืองได้

ตะขบควาย: ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ผลสุกสีแดงด้าน ๆ (ภาพขวา: จันทบุรี – สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เรื่องชื่อแปลกๆ ของผมมีเรียกกันหลากหลายทุกภูมิภาค แต่ผมติดใจ “คนภาคใต้” ที่เรียกชื่อผมว่า “ลูกขรบ” หรือ “หลูกครบ” ลองออกเสียงภาษาใต้ดูนะ ผมว่า “หร๊อยน้ากิน” ไม่ต้อง “ฮง” หรอก ผมเห็นว่าเด็กๆ ชอบปีนต้นผมเก็บลูกสุกๆ กินได้ตลอดปี แต่เขาชอบ “คลึงลูกขรบ” ก่อนกิน จะทำให้ไม่ฝาดลิ้น อ้อ! บอกสักนิดว่าเวลาเคี้ยวลูกตะขบแล้ว ห้ามยิ้มให้ใครเห็นฟันนะ เพราะคนกินหมากก็ชิดซ้ายไปเลย ปากก็ดำ ฟันก็ด่าง ลิ้นสีน้ำตาล จินตนาการเอาเอง

โดยธรรมชาติ ผมขยายพันธุ์ง่ายๆ ด้วยเมล็ด เพราะสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนกเต็มต้นส่งเสียงร้องทั้งวัน กินไม่ทันก็ร่วงใต้ต้น หล่นลงในน้ำพวกปลาก็ชอบ ใบ ดอก ราก ผมก็เป็นสมุนไพรด้วยนะครับ

คลึงลูกขรบ พบกันริมถนน ช่วยคนเมือง เรื่องฝุ่นควัน จะดูดซับทั้งวัน ขอเพียงที่ต้นฉันรับประกัน อย่าให้ผู้แทนมาแขวนป้าย “ตะ”