เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 8-16 ธันวาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดงานวันเกษตรแม่โจ้ 85 ปี : ภูมิปัญญาแห่งการเกษตร โดยมี พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ทางการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมแก่ประชาชน เกษตรกร องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างเครือข่ายกับผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาและศิษย์เก่าได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้การปฏิบัติงาน ในกิจกรรมงานวันเกษตรแม่โจ้ครบรอบ 85 ปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของแม่โจ้ ที่จะจารึกสู่คนรุ่นหลังตราบนานเท่านาน
ในงานดังกล่าว ได้มีการจัดนิทรรศการและผลงานวิชาการ ผลงานการวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น
กระบวนการตกแต่งสิ่งทอด้วยโปรตีนไฟโบรอินจากเศษไหม…รศ.ดร.อรุณี คงดี อัลเดรต คณะวิทยาศาสตร์ เจ้าของงาน เล่าว่า ปกติแล้วสิ่งทอที่ทำจากไหมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง เพิ่มความหรูหราให้กับผู้สวมใส่ เนื่องจากมีความเงางามของเส้นไหมโบรอิน ขณะเดียวกัน เศษไหมที่อยู่ส่วนนอกของรังไหม ไม่สามารถผลิตเป็นเส้นไหมได้ จะถูกทิ้งออกจากโรงงานไหมประมาณ 300-400 ตัน ต่อปี จึงเกิดงานวิจัยว่า การนำเศษไหมมาละลายในตัวทำละลายที่เหมาะสม จากนั้นนำมาตกแต่งสำเร็จบนผ้าฝ้าย จะทำให้ใยฝ้ายมีคุณสมบัติดีขึ้น คือเส้นใยที่มีลักษณะแบนกลายมาเป็นเส้นใยที่มีลักษณะกลม พื้นผิวผ้าฝ้ายเรียบขึ้น อุ้มน้ำได้มากขึ้น ลดการยับของผ้า เพิ่มคุณสมบัติการต้านเชื้อราให้แก่ผ้าฝ้ายได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มคุณสมบัติและเพิ่มมูลค่า ผลงานนี้ได้รับเหรียญทองจากการประกวดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยสตรีระดับนานาชาติ ที่ประเทศเกาหลี ได้รับการจดสิทธิบัตร เมื่อปี 2557 เลขที่ 1401001617 ขณะนี้ได้มีการวิจัยต่อยอดกับบริษัทสิ่งทอต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม

บล็อกซีเมนต์นำแสงผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร…ผลงานจาก ผศ.ดร.ศุภรัตน์ นาคสิทธิพันธุ์ และ อาจารย์ ดร.นิตยา ใจทนง คณะวิทยาศาสตร์ คอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้างที่คิดค้นและใช้งานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานยาว เนื่องจากเป็นวัสดุต้นทุนต่ำ มีคุณสมบัติที่ดี และใช้งานง่าย ราคาถูก บล็อกซีเมนต์นำแสง เป็นการพัฒนาการผลิตคอนกรีตเพื่อลดการใช้พลังงานแสงและลดการเกิดมลภาวะ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง งานโครงสร้างถูกประดิษฐ์จากวัสดุผสมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 1 ซึ่งทดแทนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบางส่วน และเพิ่มคุณสมบัติการนำแสงด้วยเส้นใยแก้วนำแสง โดยขึ้นรูปส่วนผสมในแม่พิมพ์ที่กำหนดทิศทางการนำแสงไว้ และสามารถเพิ่มความแข็งแรงของชิ้นงาน ผลงานนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดที่ประเทศเกาหลีใต้ รับรางวัลพิเศษ จากประเทศเยอรมนี และประเทศอิหร่าน

มะเขือหลายชนิดในต้นเดียวกัน…เป็นการนำยอดกิ่งพันธุ์พืชตระกูลพริก มะเขือ ที่เราชอบหลายชนิดมาเสียบบนต้นเดียวกัน ทำให้บนต้นมีความหลากหลาย โดยใช้ต้นตอที่หาอาหารเก่ง ได้แก่ มะเขือพวง มะแว้ง มะเขือเปราะ มะเขือป่า เป็นต้น สามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนาน เหมาะสำหรับปลูกเป็นผักสวนครัว พืชตระกูลพริก มะเขือ ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือไข่เต่า มะเขือพวง มะแว้ง พริกหยวก พริกยักษ์ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือเทศ มันฝรั่ง และยาสูบ

อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนเพื่อการเกษตร…เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับใช้ในงานการเกษตร ช่วยในการผลักดันให้การเกษตรไปสู่การเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ระบบการเคลื่อนที่สามารถเคลื่อนที่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้โหมดอัจฉริยะควบคุมระยะไกล หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้อัตโนมัติ ควบคุมการบินโดยไม่มีนักบิน การพ่นสารมีความแม่นยำและสามารถกำหนดเส้นทางและปริมาณสารฉีดพ่นได้ น้ำหนักเครื่องประมาณ 18 กิโลกรัม ถังบรรจุสารฉีดพ่น 10 ลิตร หัวฉีดพ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 มิลลิเมตร เพดานบิน 1-3 เมตร บรรจุของเหลวขณะบินได้ 20 ลิตร

การเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบไบโอฟล็อก…ไบโอฟล็อกคือตะกอนจุลินทรีย์ชีวภาพที่เกิดจากการรวมตัวกันเองของจุลินทรีย์ อาหารสัตว์น้ำที่สัตว์น้ำกินเหลือ สาหร่ายแพลงก์ตอนและอื่นๆ เกษตรกรสามารถทำเองได้โดยเติมคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลลงในบ่อเลี้ยงปลาแบบหนาแน่นกว่าปกติ เพื่อเป็นอาหารและเพิ่มปริมาณและไปย่อยสลายแอมโมเนียไนโตรเจนในบ่อเลี้ยงปลา โดยมีการเติมอากาศให้เพียงพออยู่ตลอดเวลา ร่วมกับการควบคุมให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ประโยชน์ของไบโอฟล็อกคือ เป็นอาหารของสัตว์น้ำโดยตรง ลดการใช้อาหารสำเร็จรูปเป็นการลดต้นทุน อัตราการแลกเนื้อดี สัตว์น้ำมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ติดเชื้อโรคได้ง่าย เลี้ยงสัตว์น้ำได้หนาแน่น ลดการใช้น้ำเนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยหรือไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเลยตลอดช่วงอายุการเลี้ยง เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจอย่างสูงในการเติมคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น น้ำจะขุ่นตลอดเวลาในการเลี้ยง มีการตรวจคุณภาพน้ำบ่อยครั้ง สัตว์น้ำที่เลี้ยงได้ในระบบนี้ เช่น ปลานิล ปลายี่สกเทศ กุ้งขาว ปลาดุกรัสเซีย

กลุ่มกาแฟอินทรีย์เชียงใหม่…เป็นการรวมกลุ่มกาแฟที่ดีที่สุดและมีคุณภาพจากแหล่งต่างๆ ภายในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น กาแฟโป่งเดือด ปลูกบริเวณแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ น้ำพุร้อนโป่งเดือด อำเภอแม่แตง กาแฟดอยเวียง เป็นกาแฟที่ปลูกที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร ที่อำเภอไชยปราการ กาแฟขุนวาง จากเทือกเขาอินทนนท์ จุดสูงสุดของประเทศไทย ที่อำเภอขุนวาง กาแฟดอนผาแดง ปลูกที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,300-1,400 เมตร อำเภอไชยปราการ กาแฟผายอง ปลูกที่อำเภอสะเมิง กาแฟม่อนมาตุภูมิ เป็นการปลูกกาแฟผสมผสานกับสวนผลไม้และพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ อำเภอแม่แตง กาแฟบ้านป่ากล้วย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง กาแฟบ้านห้วยส้มป่อย อำเภอจอมทอง กาแฟบ้านดอยปู่หมื่น อำเภอแม่อาย กาแฟบ้านปางอีกา อำเภอแม่ริม กาแฟบ้านปางไฮ อำเภอดอยสะเก็ด กาแฟบ้านปางขุม อำเภอสะเมิง กาแฟจากโครงการเกษตรวิชญา โครงการพระราชดำริโป่งแยง อำเภอแม่ริม กาแฟดอยแม่ตะละ อำเภอกัลยาณิวัฒนา
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังมีผลงานศึกษาวิจัย ผลงานที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ในไร่นาของตนเองอีกมากมาย สมกับได้รับฉายา “ภูมิปัญญาแห่งการเกษตร” ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. (086) 194-4797, (086) 190-8030, (087) 175-4400