กรมชลฯคุมใช้น้ำหน้าแล้งให้พอ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกี่ยวข้าวแล้วไม่เพาะปลูกต่อ

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)ว่า วันเดียวกันนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,250 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 8,554 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 430 ลบ.ม./วินาที คงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 90 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานได้บริหารจัดการระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำและความต้องการใช้น้ำตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,442 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 68 ของแผนฯ(แผนตั้งไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรได้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 ประมาณ 2,558 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ตามแผนที่วางไว้ โดยในส่วนของการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง 6.07 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกไปแล้ว 5.94 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ ใกล้เต็มพื้นที่แล้ว (ข้อมูล วันที่ 13 กุมาภันธ์ 2562) เฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 110 ของแผนฯ(แผน 5.30 ล้านไร่) จะเห็นได้ว่า ทำการปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้แล้วประมาณร้อยละ 10 ของแผนฯ กรมชลประทาน จะดำเนินการควบคุมการใช้น้ำและรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและระบบชลประทานตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว (นาครั้งที่ 2) ไม่เพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดและขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด