ปศุสัตว์ยกชั้นกันโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู สั่งชายแดนตรวจเข้มเนื้อหมูนำเข้า

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงรายงานของของคณะกรรมการเกษตรไต้หวัน (Council of Agriculture: COA) ว่า มีการตรวจพบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (สุกร) ในผลิตภัณฑ์จากหมู ที่นำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562

แม้ว่ายังไม่มีการรายงาน พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเป็นทางการ จากรัฐบาลเวียดนาม แต่ นาย Phung Duc Tien รองปลัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู บริเวณชายแดนระหว่างจีนและเวียดนาม ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูอย่างรุนแรง ในประเทศเวียดนาม

ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาคอาเซียน และเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู ปนเปื้อนมากับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากหมู ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค จึงได้แจ้งเตือนให้จังหวัดตามแนวชายแดน ที่มีความเสี่ยงสูงประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

อีกทั้งได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ เฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (war room) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

สำหรับความก้าวหน้าของการยกระดับ มาตรการหรือแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นวาระแห่งชาติ ได้รับความเห็นชอบจาก นายกฤษฎา บุญราช รมว. เกษตรและสหกรณ์ แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นายสรวิศ กล่าวว่า ปัจจุบันจากรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกิดการระบาดใน 16 ประเทศ แบ่งเป็นทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ทวีปยุโรป 10 ประเทศ และทวีปเอเชีย 2 ประเทศ คือประเทศจีนและมองโกเลีย (ยังไม่นับรวมเวียดนาม)
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพและสมาคมต่างๆ รวมทั้งพี่น้องเกษตรกร ที่ได้มีส่วนร่วมและร่วมแรงร่วมใจกัน ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพทำให้ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ใคร่ขอความร่วมมือในกรณีผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานหรือไปทำงานในฟาร์มหมูในประเทศ ที่เกิดการระบาดและมีความเสี่ยงสูงที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เมื่อเดินทางกลับ ขอให้งดเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด และผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงอาหาร สถานประกอบเลี้ยง ให้งดจำหน่าย จ่าย แจกเศษอาหารเหลือจากการรับประทาน ให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงหมู เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอย้ำว่า ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนก และขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ ในการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย รวมทั้งขอย้ำให้เกษตรกร ยกระดับการเลี้ยงหมูให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP

หากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกัน และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที มาเลี้ยงสุกร

นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการหมูอย่างใกล้ชิด หากพบแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดง และต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่หมู และมีจำนวนหมูตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที