ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำมานาน เดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ชาวสวนยางเหมือนถูกรางวัลใหญ่ ราคายางในตลาดโลกปรับขึ้นไม่คาดฝัน แค่เดือนเดียวราคาประมูลซื้อขายยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา สงขลา วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ 59.50 บาท/กก. พุ่งทะลุ 80.29 บาท/กก.เมื่อ 16 ธันวาคม 2559 ขณะที่ยางแผ่นดิบปรับขึ้นจาก 59.50 บาท/กก.เป็น 77.25 บาท/กก.
ก่อนยางแผ่นรมควันจะปรับลดลงเหลือ 72.75 บาท/กก. ยางแผ่นดิบลดเหลือ 70.71 บาท/กก.เมื่อ 28 ธันวาคม 2559 จนถูกมองว่าผู้ส่งออกกับพ่อค้าสกัดราคายางขาขึ้นรวมหัวกันทุบราคาลง บวกกับเจอแจ็กพอตรัฐไฟเขียวให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศจะนำยางในสต๊อกรัฐ 3.1 แสนตันประมูลขาย แทนที่ผู้ส่งออกกับพ่อค้าจะกว้านซื้อยางถึงมือชาวสวนเหมือนก่อนหน้านี้ ก็วิ่งเข้าหา กยท.ที่มีสต๊อกยางลอตใหญ่อยู่ในมือ
ทำให้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยาง และสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กับ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งฉุกเฉินให้ กยท.ยกเลิกประมูลขายยาง วันที่ 28 ธันวาคม 2559 ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูปิดกรีดยาง
ขณะที่ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.ยืนยังพร้อมรับฟังคำสั่งศาล และหากศาลวินิจฉัยคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ชะลอการขายยางออกไปก็ยินดีจะปฏิบัติตาม ส่วนผู้ส่งออก-พ่อค้ายางรวม 28 ราย ที่สนใจเสนอตัวเข้าประมูลยางในสต๊อกรัฐบางส่วนประกาศถอนตัว เพราะไม่อยากตกเป็นจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ราคายางตก
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ กยท.ชี้ว่า สาเหตุที่ราคายางปรับลดลงเร็วและต่อเนื่องหลายวัน สวนทางกับการวิเคราะห์คาดการณ์ที่หลายฝ่ายชี้ว่ายางเป็นช่วงขาขึ้น ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2560 มาจากการเริ่มเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาวช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผู้ส่งออกรับซื้อยางไว้ในมือเพียงพอแล้ว และการนำยางในสต๊อกรัฐออกโละขาย จะไม่ให้กระทบราคาตลาด
จึงต้องจับตาดูว่าราคายางที่ทำให้ชาวสวนยิ้มได้ชั่วขณะ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลก็น่าจะโล่งอก เพราะถึงฤดูกรีดยางต้นปี 2560 ไม่ต้องควักกระเป๋าออกมาตรการช่วยเหลือชดเชยชาวสวนยางเหมือนหลายปีที่ผ่านมา จากอานิสงส์ราคายางดีดกลับ ซัพพลายยางลดน้อยลงจากหลายมาตรการ อาทิ โค่นยาง 4 แสนไร่ ลดพื้นที่ปลูกยาง เป็นต้น
จึงต้องจับตามองว่า สุดท้ายราคายางในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาซื้อขายล่วงหน้าทั้งตลาดเซี่ยงไฮ้ โตเกียว ฯลฯ จะไต่ระดับทะลุ 100 บาท/กก. สร้างสถิติใหม่ในรอบ 4-5 ปี พลิกยางขาลงเป็นขาขึ้นตามแรงลุ้นได้หรือไม่
บวกกับมีข่าวดีเป็นระยะ ๆ ทั้งการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา 150 มาตรฐาน การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และล้อยางแห่งชาติ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการ
การประกาศตั้งโรงงานผลิตยางล้อเครื่องบิน 2 แห่ง วงเงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบริดจสโตน คอร์ป และแบรนด์กู๊ดเยียร์จะปักธงลงทุนผลิตยางล้อเครื่องบินในไทย 162 ล้านเหรียญสหรัฐ
ล่าสุด กยท.จะร่วมมือกับเอกชนผลิตยางล้อรถยนต์ ตั้งเป้าขายให้กับสหกรณ์แท็กซี่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภายใต้โครงการยางล้อประชารัฐ ทั้งหมดนี้น่าจะส่งผลดีทำให้ชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น
ที่สำคัญ แม้ราคายางจะมีขึ้นมีลงตามธรรมชาติ แต่รายได้มหาศาลจากผลิตภัณฑ์ยาง อย่างปี 2558 สถิติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางโดย กยท.ชี้ว่า มียอดขายรวมสูงถึง 620,155 ล้านบาท แยกเป็นขายในประเทศ 190,833 ล้านบาท หรือ 35% ส่งออก 354,263 ล้านบาท หรือ 65% ชี้ชัดว่ายางพารายังเป็นพืชเกษตรหลักสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์