50 โรงเรียนทั่วไทยรับมอบ “กล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์” พร้อมเรียนรู้ปูทางสร้างแนวคิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายผลโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เดินหน้ามอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 50 โรงเรียน ดันให้เกิดครุวิจัยและยุววิจัย เพิ่มจำนวนงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ดึงครูแกนนำร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงงานดาราศาสตร์

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในปี 2558-2561 สดร. ได้มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ 360 โรงเรียนทั่วประเทศ เกิดเป็นกิจกรรมดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียน และชุมชนมากกว่าพันกิจกรรม เกิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนหลายร้อยโครงงาน ในปี 2562 นี้ นอกจากการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชนแล้ว สดร. ยังมุ่งหวังให้นำกล้องโทรทรรศน์ไปใช้เพื่อสร้างงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน สร้างครุวิจัย และยุววิจัยดาราศาสตร์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2562 นี้ มีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเข้ารับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จำนวน 50 โรงเรียน จาก 39 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ และร่วมเวิร์คชอปการทำโครงงานดาราศาสตร์เบื้องต้น ร่วมกับ 8 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการในปีก่อนหน้านี้ เพื่อฝึกทักษะการใช้งานกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ที่หลากหลาย

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้องโทรทรรศน์ในโครงการฯ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว สดร. ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทย ออกแบบ สร้าง และพัฒนาจนได้กล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงเรียน ใช้สำหรับสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว เป็นต้น  มีอุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดเลนส์ใกล้ตา กำลังขยายตั้งแต่ 37 ถึง 100 เท่า และอุปกรณ์เพิ่มกำลังขยายพิเศษ 200 เท่า เป็นต้น  สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับวัตถุที่ต้องการสังเกตการณ์ และยังนำกล้องถ่ายภาพดิจิทัลมาเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพดาวเคราะห์และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ได้ ใช้เก็บข้อมูลทำโครงงานดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ตลอดจนติดตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งในปีนี้มีทั้งดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาบางส่วน เห็นได้ทั่วประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการสังเกตดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน  นำไปศึกษาเป็นโครงงานดาราศาสตร์ได้

นางสุภารัตน์ พิบาลฆ่าสัตว์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและสนับสนุนโครงงานดาราศาสตร์ โรงเรียนมุสลิมวิทยาภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกในเข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมาทำโครงงานดาราศาสตร์ทุกปี มีอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ สถาบันราชภัฏภูเก็ต มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และนำกล้องดูดาวมาให้นักเรียนใช้ ที่โรงเรียนมีแค่แผนที่ดาว การได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ครั้งนี้จะทำให้นักเรียนได้ฝึกใช้กล้อง และเริ่มทำโครงงานดาราศาสตร์มากขึ้น เช่น การสังเกตดวงจันทร์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ และเนื่องจากเป็นโรงเรียนมุสลิม จึงวางแผนร่วมกับชุมชน ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์ก่อนช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือวันที่จะออกบวช

ด้าน นางศรุตยา ลุนสะแกวงษ์ ครูชำนาญการ โรงเรียนตราษตระการคุณ จังหวัดตราด เคยได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ ดาราศาสตร์ฯ ปี 2560 กล่าวว่า เดิมโรงเรียนเน้นใช้กล้องโทรทรรศน์จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อทราบข่าวจึงสนใจเข้าร่วมอบรมเพื่อนำแนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ไปเผยแพร่แก่นักเรียนได้ทดลองทำ เช่น โครงงานเกี่ยวกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตการณ์และถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้ง คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยได้

นายอภิรัก อภิวงค์งาม ครูโรงเรียนแกน้อยศึกษา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในครูเครือข่ายโครงการอบรมครูดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. และเคยนำนักเรียนร่วมเสนอโครงงานดาราศาสตร์ในเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำโครงงานดาราศาสตร์ในครั้งนี้ โรงเรียนแกน้อยศึกษา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสอยู่ห่างไกลเมืองและไม่มีวิชาที่เน้นให้เด็กทำโครงงานดาราศาสตร์ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการทำโครงงานดาราศาสตร์ต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อม มีโปรแกรมขั้นสูงในการประมวลผลและเก็บข้อมูล แต่จริงๆ แล้ว แค่มีอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับสังเกตการณ์ง่ายๆ บวกกับความสนใจของเด็กก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐาน ต่างกันอย่างไร แต่ก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้เหมือนกัน

พิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เพื่อพัฒนาโครงงานดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นการสร้างโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน จะช่วยต่อยอดความสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่ครูและนักเรียน ให้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาความคิด ประยุกต์ให้เกิดเป็นผลงานวิจัย พัฒนาศักยภาพครุวิจัยและยุววิจัยไทยอันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศชาติต่อไป