กรมการข้าวขานรับแก้ปัญหาข้าวหอมพวง เร่งรับรองพันธุ์ใหม่ปลูกแทน

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมรวงข้าว กรมการข้าว นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว นำโดย นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวหอมพวงที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง

นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กรมการข้าวไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการทำความเข้าใจ ตลอดจนขอความร่วมมือทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกวดขันสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือกและร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ล่าสุดเก็บตัวอย่างข้าวจากท่าข้าวในจังหวัดนครสวรรค์มาทำการวิเคราะห์และตรวจสอบตามหลักวิชาการ ในเบื้องต้นนั้นยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นข้าวพันธุ์ใดกันแน่ แม้ตามความเข้าใจของเกษตรกรจะเรียกว่า “ข้าวหอมพวง” ซึ่งหมายถึงข้าวจัสมิน 85 ตามชื่อที่โรงสีใช้เรียกข้าวพันธุ์นี้ แต่ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการนั้น ทั้งข้าวหอมพวงและข้าวจัสมิน 85 เป็นข้าวคนละพันธุ์กัน

“ในประเทศไทยมีข้าวที่ใช้ชื่อหอมพวงอยู่จริง แต่เป็นข้าวที่มีการเก็บรักษาพันธุ์อยู่ในธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว ส่วนข้าวจัสมิน 85 นั้น เป็นพันธุ์ข้าวจากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute : IRRI) ซึ่งเวียดนามได้ขอเมล็ดพันธุ์มาพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้าจนเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยได้ขอเมล็ดพันธุ์เพื่อทำการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง กรมการข้าวจึงดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาพันธุ์ที่แท้จริงใน 2 แนวทาง คือ 1. การประเมินทางสัณฐานวิทยาด้วยการปลูกเปรียบเทียบกับข้าวพันธุ์หอมพวงในธนาคารเชื้อพันธุ์และข้าวจัสมิน 85 ประมาณ 5-6 เดือน และ 2. การประเมินทางพันธุศาสตร์ด้วยการตรวจสอบ DNA ซึ่งการตรวจสอบตัวอย่างทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน” นายประสงค์ กล่าว

กรมการข้าวมีความเป็นห่วงทุกฝ่ายที่ยังคงปลูกและมีการซื้อขายข้าวพันธุ์นี้ เนื่องจากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น หากเกษตรกรมีความต้องการปลูกข้าวพื้นนุ่ม ควรเลือกพันธุ์ที่ภาครัฐส่งเสริม เช่น กข 21 กข 31 กข 39 กข 43 กข 53 กข 77 เป็นต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์มีคุณภาพตามหลักวิชาการ และมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้รวบรวมฯ ได้เสนอให้กรมการข้าวเร่งรัดพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการข้าวพื้นนุ่มที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิซึ่งมีราคาสูงในรอบหลายปี กรมการข้าวได้ตอบรับข้อเสนอนี้ จึงเร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการรับรองพันธุ์ข้าวในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับรองพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่ที่มีความโดดเด่นที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 1 ตัน ต่อไร่ และมีความต้านทานต่อโรคและแมลงกว่าพันธุ์อื่น โดยกำหนดเป็นพันธุ์ กข 79 พร้อมทั้งเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์และวางแผนการกระจายพันธุ์ไปสู่พื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เพาะปลูกได้โดยเร็วที่สุด พร้อมเชื่อมโยงกับตลาดรับซื้อไว้ด้วย