เตาแก๊สซิไฟเออร์ ผลงาน มทร. ล้านนา เชียงราย มีพลังงานความร้อนสูงกว่าเตาอั้งโล่ 30%

ปัจจุบัน บ้านเราประสบปัญหาเรื่องเชื้อเพลิงแทบทุกชนิด โดยเฉพาะแก๊สหุงต้ม หรือที่เรียกกันว่า แอลพีจี ที่ใช้ได้ทั้งในรถยนต์และการหุงต้มอาหาร ที่นับวันจะปรับราคาสูงขึ้นตลอด ในขณะเดียวกันในบ้านเรา ยังมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกมากมาย เช่น ฟืน แกลบ ขี้เลื่อย ฯลฯ สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้เป็นอย่างดี จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการผลิตแก๊สแอลพีจี เพื่อใช้ในครัวเรือน

ตัวอย่างเตา

อาจารย์สุริยงค์ ประชาเขียว สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เชียงราย ได้ออกแบบและสร้างเตาหุงต้มด้วยการใช้เทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์ เพื่อใช้ทดแทนเตาอั้งโล่แบบดั้งเดิม ที่มีประสิทธิภาพความร้อนต่ำและเป็นการสูญเสียเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก ซึ่งเตาหุงต้มเทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์ที่ทำการวิจัยนี้ อาศัยกระบวนการทางเคมี ความร้อนจากการเผาไหม้ในสภาวะจำกัดปริมาณอากาศ เพื่อให้ความร้อนชีวมวลร่วมกับเทคนิคการจำกัดอากาศหรือออกซิเจน เกิดสภาวะที่มีการควบคุมออกซิเจนในสัดส่วนที่ต่ำกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์

ทางคณะวิจัย ได้สร้างเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยออกแบบเตาเป็นผนังสองชั้นรูปทรงกระบอก ห้องที่หนึ่งเป็นห้องการเผาไหม้เป็นหลัก เจาะรูผนังด้านล่างและด้านบนของผนัง ชั้นที่สองเป็นผนังที่เป็นช่องรับอากาศออกซิเจนเข้ามา ทำให้เกิดกระบวนการเผาไหม้ เมื่อเกิดการเผาไหม้ความร้อนจะถูกบังคับให้ไหลจากด้านล่างสู่ด้านบนของเตา

ผู้เข้ารับการอบรม

และบางส่วนจะเกิดแก๊สไหลขึ้นไปยังช่องด้านบนของผนังที่มีความสูง ทำให้เกิดการลุกไหม้ของแก๊สชีวมวล อุณหภูมิประมาณ 800-1,000 องศาเซลเซียส ออกแบบให้สามารถเติมเชื้อเพลิงได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพพลังงานความร้อนสูงกว่าเตาอั้งโล่ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 หลังจากที่ทำการวิจัยและทดสอบแล้ว คณะวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่ผู้สนใจ โดยจัดฝึกอบรมแก่เกษตรกร ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ในตำบลดงมะดะ ตำบลจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (090) 893-6840