เกษตรกรจำป่าหวาย เมืองพะเยา ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสด ควบคุมโรคหอมแดง

จังหวัดพะเยา เป็นแหล่งปลูกหอมแดงที่สำคัญอันดับสองของภาคเหนือตอนบน รองจากจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกหอมแดง รวมทั้งสิ้น 9,628 ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา, 2560) กระจายอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเชียงคำ และอำเภอภูซาง โดยตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา มีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากที่สุด และเป็นหอมแดงที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา เนื่องจากเป็นหอมแดงคุณภาพ รสเผ็ด หัวโต สีสวยสด เป็นที่ต้องการของตลาด

ในช่วงต้นเดือนมกราคมของปี 2560 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกติดต่อกันเกือบ 10 วัน ประกอบกับมีหมอกลงจัดในช่วงเช้าและกลางคืน ทำให้เกิดโรคระบาดในแปลงปลูกหอมแดง จำนวน 13 หมู่บ้าน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตหอมแดงเสียหายกว่า 1,400 ไร่

โรคหอมเลื้อย (หมานอน)
โรคหัวและรากเน่า
โรคเหี่ยว

เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 800 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,374,450 บาท ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของกลุ่มงานอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า หอมแดง ที่ได้รับความเสียหายแสดงอาการเหี่ยวเฉา เน่า และเป็นเชื้อรา ซึ่งโรคของหอมแดงที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวและรากเน่า โรคเหี่ยว โรคใบเน่าหรือแอนแทรกโนส โรคหอมเลื้อย โรคใบจุดสีม่วง โรคใบแห้ง โรคใบไหม้ และโรคราน้ำค้าง

การศึกษาการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสด
ในการควบคุม โรคหอมแดง

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยา และเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดพะเยา ทำการศึกษาการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสด ในการควบคุมโรคหอมแดง ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

เส้นใยเชื้อรา Fusarium oxysporum
เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

โดยศึกษาทดลองกับเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดพะเยา จำนวน 3 ราย ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ด้วยวิธีการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในบล็อก (Randomized Complete Block Design; RCBD) มี 4 กรรมวิธี วิธีละ 3 ซ้ำ ดังนี้
1. วิธีปฏิบัติของเกษตรกร (control)
2. แช่หัวพันธุ์หอมแดงก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นเวลา 15 นาที
3. หว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูก และ
4. ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหลังปลูก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 6 ครั้ง

จากผลการทดลองวิธีการต่างๆ พบว่า การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสดในกรรมวิธีที่ 3 โดยการหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูก สามารถควบคุมโรคหอมแดงได้ดีที่สุด ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเฉลี่ยน้อยที่สุด 0.05% ส่วนโรคที่ตรวจพบ ได้แก่ โรคหัวและรากเน่า โรคเหี่ยว และโรคหอมเลื้อย ซึ่งมีเชื้อสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium oxysporum นอกจากนี้ การหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูก สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,762.67 กิโลกรัม ต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต 1,900 บาท ต่อไร่

สปอร์เชื้อรา Fusarium oxysporum

เมื่อเทียบกับกรรมวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปของเกษตรกร และยังเป็นวิธีที่เกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมาก ทั้งในด้านการป้องกันและควบคุมโรค การเจริญเติบโตทางลำต้น ผลผลิต และต้นทุนการผลิต ตลอดจนยังส่งเสริมให้ผลผลิตหอมแดงมีคุณภาพ เนื้อแน่น สีสด กลิ่นฉุน เก็บรักษาได้นานขึ้น

ในด้านต้นทุนการผลิตต่อไร่ โดยทั่วไปการปลูกและการดูแลรักษาหอมแดงของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี ต้นทุนการผลิตต่อไร่ 14,400 บาท ต่อไร่ แต่เมื่อทดลองด้วยวิธีการหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกและการแช่หัวพันธุ์หอมแดงก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นเวลา 15 นาที มีต้นทุนการผลิต 12,500 บาทต่อไร่ สำหรับวิธีการฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหลังปลูก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 6 ครั้ง มีต้นทุนการผลิต 14,200 บาท ต่อไร่

ความพึงพอใจของเกษตรกร
ต่อการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

การหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูก เกษตรกรมีความพึงพอใจมาก รองลงมาคือ แช่หัวพันธุ์หอมแดงก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นเวลา 15 นาที และวิธีปฏิบัติของเกษตรกรแบบทั่วไป ความพึงพอใจอยู่ในระดับพึงพอใจปานกลางและในส่วนการฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหลังปลูก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 6 ครั้ง เกษตรกรมีความพึงพอใจด้านการป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในระดับเล็กน้อย

แปลงวิจัย

สรุปผลการทดลอง

1. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมกับปุ๋ยหมักหว่านรองพื้นก่อนปลูกหอมแดงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการควบคุมโรคหอมแดง ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

2. โรคที่สำคัญของหอมแดง ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum ที่ก่อให้เกิดโรคหัวและรากเน่า โรคเหี่ยว และโรคหอมเลื้อย (หมานอน) ซึ่งพบตั้งแต่ระยะกล้าไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

3. เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าไม่มีผลในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางลำต้นของหอมแดง (ความสูงต้น และจำนวนหัวต่อกอ)

4. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าที่ถูกวิธี (ผสมปุ๋ยหมักหว่านรองพื้นก่อนปลูกหอมแดง) สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตของหอมแดงได้ เนื่องจากสามารถป้องกันการเกิดโรคในหอมแดงทำให้ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรค และประหยัดค่าจ้างแรงงานในการฉีดพ่น

ผลผลิตคุณภาพที่ได้

ข้อเสนอแนะ

1. การปลูกหอมแดง ควรมีการเตรียมดินก่อนปลูก โดยการไถตากดิน อย่างน้อย 15 วัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ในดิน และควรปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ให้เหมาะสม (5.5-6.5 ) ด้วยปูนขาว

2. ควรหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าในแปลงก่อนปลูก ร่วมกับปุ๋ยหมัก โดยใช้อัตราส่วนเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสด 1 กิโลกรัม : ปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม : รำละเอียด 5 กิโลกรัม ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหว่านรองพื้นก่อนปลูกหอมแดง ในพื้นที่ 1 งาน (100 ตารางวา)

3. ควรยกร่องแปลงปลูกหอมแดง อย่างน้อย 50 เซนติเมตร และปรับพื้นที่บนแปลงให้เรียบสม่ำเสมอกัน เพื่อป้องกันน้ำขังเวลาฝนตก

4. การฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ควรใช้อัตราตามคำแนะนำและผสมสารจับใบด้วย เพื่อช่วยในการยึดเกาะกับใบหอมได้ดีขึ้น และควรฉีดพ่นเพื่อการป้องกันเท่านั้น ไม่ควรฉีดพ่นในช่วงที่เกิดโรคระบาด

ขอขอบคุณ ทีมงานการศึกษาทดลอง คุณศราวุธ พานทอง คุณนุชจารี วนาศิริ คุณยงยุทธ ดาวตาก คุณธราดล ปัญญาวิชา คุณเสาวภาคย์ ดาวตาก คุณจุลัยรัตน์ ยาฝั้น และ คุณท้าย สุนนท์ ที่ได้ศึกษาการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสดในการควบคุมโรคหอมแดง ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและให้คำแนะนำเกษตรกรในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเพื่อควบคุมโรคในหอมแดง เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นและพืชชนิดอื่นต่อไป