นักวิจัยชี้แผ่นดินไหวลำปางสัญญาณอันตราย ชี้ภาคเหนือเสี่ยงทุกพื้นที่-อาคารเรียนอ่อนแอ

นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว. สำรวจความเสียหายพบมีทั้งระดับเหลืองถึงแดง ขณะที่ ศ.ดร. เป็นหนึ่ง      วานิชชัย หัวหน้าทีมฯ ชี้ภาคเหนือมีความเสี่ยงทั้งหมด เพราะมีรอยเลื่อนฝังตัวใต้เปลือกโลกที่อาจทำให้เกิดธรณีพิโรธได้ทุกที่ กระตุ้นการสร้างความตระหนักและเสริมกำลังอาคารอ่อนแอ โรงเรียน โรงพยาบาล น่าห่วงสุด

 

เสาพื้นที่สีเหลือง

หลังเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีความเสียหายของอาคารบ้านเรือนประชาชนในตำบลทุ่งฮั้ว และเจดีย์วัดพระเกิดที่ยอดฉัตรเอียง นอกจากนี้  ยังพบความเสียหายในตำบลวังแก้ว ตำบลวังซ้าย และตำบลวังเหนือ ล่าสุด ผศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าโครงการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวประเทศไทยแบบบูรณาการข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในบริเวณทั้งหมดในหมู่ที่ 11 ตำบลทุ่งฮั้ว เบื้องต้นพบว่าอาคารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว ได้รับความเสียหายในส่วนกำแพงเท่านั้น ส่วนโครงสร้างหลักอย่างเสาและคานไม่ได้รับเสียหายใดๆ  ขณะที่อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านในละแวกตำบล  ทุ่งฮั้ว พบว่ามีบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง ได้รับความเสียหายที่บริเวณเสา อยู่ในระดับสีเหลือง ส่วนอาคารทั่วไปมีเสาเสียหายจนเห็นเหล็กภายในและอยู่ในระดับสีแดง 1 หลัง ทั้งนี้ อาจจะต้องให้ช่างกะเทาะเสาดูว่าคอนกรีตได้รับความเสียหายหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มาก

อาคาร อบต.ทุ่งฮั้ว

“ในภาพรวมทั่วไปแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ประชาชนก็ควรอยู่นอกอาคารสักระยะหนึ่ง เพราะไม่ทราบว่าอาคารผนังจะเสียหายถึงขั้นถล่มลงมาหรือไม่หากเกิดอาฟเตอร์ช็อครุนแรง ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้”

ทั้งนี้ นักวิจัยได้รายงานผลการสำรวจความเสียหายต่อ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว ซึ่งทางนายทรงพลจะสั่งการให้ทีมโยธาธิการจังหวัดลำปางและวิศวกรรมอาสามาสำรวจให้ครบถ้วนเพิ่มเติม รวมถึงสั่งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังด้วย

ด้าน ผศ.ดร. ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การเกิดอาฟเตอร์ช็อคถี่ๆ เป็นเรื่องปกติ เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังของไทย จึงตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอีกกี่ครั้งและรุนแรงเท่าใด จะมีขนาดใหญ่กว่า 4.9 หรือไม่ หรือพลังงานจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นประชาชนและหน่วยงานต่างๆ จึงควรจะต้องมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ควรจะตื่นตระหนกกันมากนัก

“แผ่นดินไหวครั้งนี้แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนหลายแห่ง สะท้อนได้ว่าโครงสร้างอาคารบ้านเรือนยังไม่ได้รับการเสริมแรงต้านทานแผ่นดินไหวมากนัก จึงเป็นประเด็นทางสังคมที่จะต้องมาต่อยอดขบคิดกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือให้มากกว่านี้”

ขณะที่ ศ.ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่าโดยหลักวิชาการแล้วแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ถือว่าเริ่มเข้าสู่อันตราย เพราะใกล้เคียงกับขนาด 5.0 ที่ถือว่าอันตราย และขนาด 6 ขึ้นไปถือว่าอันตรายมาก ส่วนสาเหตุที่คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้น ตนคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่างๆ จริงๆ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อนที่เรารู้จักก็เป็นได้

“เราอาจจะห่วงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน แต่สำหรับผมแล้วเป็นห่วงทั้งภาคเหนือ เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ดังที่เคยเกิดขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 การเกิดที่ลำปางจึงทำให้เราตระหนักได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในพื้นที่ใดก็ได้ไม่ใช่แค่ที่เชียงราย สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือเราต้องทำให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจว่าตนมีความเสี่ยงเพียงใด ประการต่อมาคือการเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทดลองเสริมกำลังให้กับอาคารเรียนไปแล้ว 4 หลัง และจะดำเนินการเพิ่มอีก 4 หลัง หากรัฐบาลเอาจริงก็ควรทำเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเสริมกำลังอีกเพียง ร้อยละ 15 ของงบก่อสร้าง เราก็จะได้อาคารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่เสียหายแล้วก็ทุบทิ้งสร้างใหม่ โดยอาคารที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วงที่สุดคือ โรงพยาบาลและโรงเรียน โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่งสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ชั้นบนมีผนังและห้องเรียน”