“สู้ภัยแล้ง” ด้วยนวัตกรรมซอยซีเมนต์

ทุกวันนี้ ภาคเกษตรของไทยได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เจอปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม พายุฝนและอากาศหนาวที่มาผิดฤดู ทำให้ปริมาณฝนลดลง อากาศขาดความชุ่มชื้น ส่งผลกระทบทำให้พืชขาดน้ำ ชะงักการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิตลดลง และมีคุณภาพต่ำ เพื่อความอยู่รอด เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างดิน น้ำ และพืช เพื่อปรับปรุงแผนการใช้ทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของพืชแต่ละชนิด เพื่อจะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดในอนาคต

ประชารัฐร่วมแก้วิกฤติน้ำแล้ง

จากวิกฤตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2560 ศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน กำลังพลในสังกัดมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ กองพลทหารม้าที่ 3 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ ได้บูรณาการร่วมกันบรรเทาภัยทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างนวัตกรรมแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อถ่ายทอดให้กลุ่มเกษตรกรสามารถทำขึ้นใช้เองได้

อาจารย์สุภัทรดิส ราชธา

อาจารย์สุภัทรดิส ราชธา อดีตวิศวกรที่ผันตัวมาเป็นจิตอาสาคอยช่วยเหลืองานของโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 โดยให้ความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการฝายชะลอน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง โครงการชลประทานระบบน้ำหยด โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ยึดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

อาจารย์สุภัทรดิส ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (โทร. 081-2600794 ) กล่าวว่า ทางศูนย์ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอน้ำมาประยุกต์ใช้ออกแบบและพัฒนาตามหลักวิศวชลประทาน และคิดค้นนวัตกรรมซอยซีเมนต์ (Soil Cement) มาใช้ในการก่อสร้างฝายชะลอน้ำประชารัฐแบบมีร่องแกนซอยซีเมนต์ เพื่อเสริมความแข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าฝายชะลอน้ำแบบอื่นๆ และสามารถรับน้ำหนักของตัวฝายได้มากกว่า 3 ตัน ต่อตารางเมตร ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำที่เก็บกักในตัวฝายได้มาก และช่วยให้ฝายชะลอน้ำแบบนี้มีอายุการใช้งานยืนยาวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่อยู่อาศัยนอกเขตชลประทานมีน้ำใช้ในการทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี นวัตกรรมนี้ช่วยเก็บกักน้ำได้ดี โดยเฉพาะสภาพดินทรายในพื้นที่ภาคอีสาน

ฝายชะลอน้ำประชารัฐ แก้ไขภัยแล้งได้ดี

ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในการทำเกษตรกรรมเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ หนองแวงโมเดล อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ทำฝายชะลอน้ำประชารัฐตามแนวพระราชดำริ เป็นหนึ่งในการบูรณาการตามแบบประชารัฐ ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชน

โครงการ “หนองแวงโมเดล” ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ หนึ่งในการบูรณาการตามแบบประชารัฐ ด้านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชนในพื้นที่ เกิดเป็นฝายชะลอน้ำที่ช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก ราคาประหยัด มีความคงทนแข็งแรง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการทำเกษตรได้ทั้งปี

หนองแวงโมเดล ฝายชะลอน้ำประชารัฐ ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีน้ำใช้ทำการเกษตร อีกทั้งในชุมชนยังมีการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชใช้น้ำน้อยตามรูปแบบชลประทานน้ำหยด รวมถึงการนำพลังงานโซลาร์เซลล์มาใช้ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้ตลอดทั้งปีด้วย

สร้างสระกักเก็บน้ำ
นวัตกรรมซอยซีเมนต์

อาจารย์สุภัทรดิส กล่าวว่า เนื้อดินภาคอีสานส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินทราย ทำให้มีปัญหาในการกักเก็บน้ำ จึงขอแนะนำให้เกษตรกรทดลองใช้นวัตกรรมซอยซีเมนต์ (Soil Cement) ในการสร้างสระกักเก็บน้ำไว้ใช้งานได้ตลอดทั้งปี

นวัตกรรมซอยซีเมนต์ คือการปรับปรุงดินด้วยปูนซีเมนต์ โดยการผสมผงปูนซีเมนต์เข้าไปในเนื้อดินให้เข้ากัน ในอัตราส่วน 1 : 20 – 1 : 40 ให้กำหนดอัตราส่วนของดินที่ใช้ผสมตามคุณสมบัติและสัดส่วนจำนวนคละแล้วสเปรย์น้ำให้ทั่ว จากนั้นจึงบดอัดแน่น เพื่อเป็นการปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติต่างๆ ทางวิศวกรรมของดินในหลายๆ ด้านได้ดีขึ้น เช่น กำลังต้านแรงทานแรงเฉือนสูงขึ้น กำลังรับน้ำหนักแบกทานเพิ่มมากขึ้น การยึดเกาะระหว่างเม็ดดินมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์การซึมผ่านของน้ำลดลง มีความทนทานต่อการกัดเซาะและทนทานต่อการเปลี่ยนรูปมากยิ่งขึ้น และคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นผลดีทางด้านวิศวกรรมของดิน

ขั้นตอนการสร้างสระน้ำด้วยนวัตกรรมซอยซีเมนต์ ได้แก่

1. การขุดบ่อก่อสร้างและพรวนดินก้นบ่อให้มีความลึก 20 เซนติเมตร

2. ทำซอยซีเมนต์ก้นบ่อ โดยนำดินมาผสมปูนซีเมนต์ ในสัดส่วน 1 : 20 – 1 : 40 ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน

3. ใช้เครื่องพรวนคลุกเคล้าดินกับปูนซีเมนต์ให้เข้ากัน พร้อมรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ (ปั้นเป็นก้อนได้)

4. บดอัดดินให้แน่นด้วยเครื่องตบดินแบบเขย่าและปรับให้พื้นมีขนาดความสูงก้นบ่อเท่ากัน

5. พรวนดินด้านข้างหรือถากดินด้านข้างด้วยจอบหรือพลั่ว

6. นำดินที่ถากออกจากด้านข้างผสมกับปูนซีเมนต์ ในอัตราส่วนผสมปูนซีเมนต์กับดิน อยู่ระหว่าง 1: 20 – 1 : 40 ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน คลุกเคล้าดินและปูนให้เข้ากัน พร้อมรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ (ปั้นเป็นก้อนได้)

7. นำดินที่ผสมปูนซีเมนต์แล้วสาดขึ้นบริเวณด้านข้าง ให้มีความหนา 10-15 เซนติเมตร และบดอัดด้วยเครื่องตบดินแบบเขย่าหรือใช้สองเกลอกระทุ้งดินให้แน่น

8. ทำตามตัวอย่าง ข้อที่ 7 ให้ทั่วบริเวณด้านข้างขอบบ่อ
9. ขอบบ่อด้านบนให้ทำเหมือนก้นบ่อ มีความกว้าง 1 เมตร และเอียงออกนอกบ่อโดยรวม

10 . เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถปล่อยน้ำเข้ากักเก็บได้ทันที และสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้โดยไม่ต้องพักบ่อ เพราะมีตะไคร่น้ำเกาะ


อาจารย์สุภัทรดิส กล่าวว่า การสร้างสระน้ำด้วยนวัตกรรมซอยซีเมนต์ใช้เงินลงทุนไม่มาก มีความแข็งแรงทนทาน มากกว่าการสร้างสระน้ำรูปแบบอื่นๆ มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ