“โคเนื้อล้านนา” หวั่นเปิดเสรี FTA ออสซี่ เร่งของบ “กองทุน” พัฒนาสายพันธุ์-ลุยส่งออกจีน

พัฒนาสายพันธุ์ – การเปิดเสรีการค้าโคเนื้อตามข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลียส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อของไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากคุณภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังสูง ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องปรับตัวโดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้เนื้อโคที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้

เครือข่ายโคเนื้อล้านนาเตรียมสู้ศึกเปิดเสรี “โคเนื้อ” ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ เร่งของบฯกองทุน FTA พัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์สู้คุณภาพเนื้อนำเข้า

สืบเนื่องจากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดตลาดโคเนื้อ โดยลดภาษีเหลือ 0% นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 อาจส่งผลกระทบต่อราคาโคเนื้อในประเทศไทย

นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครือข่ายซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกในภาคเหนือจำนวน 415 ราย กำลังเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่ข้อตกลงการค้าเสรีโคเนื้อระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะเมื่อเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ย่อมมีต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างแน่นอน

เพราะปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโคเนื้อภายในประเทศมีอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และหากมีโคเนื้อจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว โดยทางเครือข่ายซึ่งแม่พันธุ์โคประมาณ 1,400 ตัว กำลังพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์ออกสู่ตลาด เพราะมีคุณภาพของสายพันธุ์และเนื้อที่นิ่งไม่ผันแปรไปตามรุ่นทำให้มีคุณภาพดีและสามารถมีอำนาจต่อรองราคาในตลาดได้ดีกว่า

นายนเรศกล่าวว่า เครือข่ายยังมีการตั้งเป็นคอกขุนกลางเครือข่ายเพื่อรับซื้อลูกโคขุนอายุ 6-8 เดือน เฉลี่ยตัวละประมาณ 20,000 บาท จากสมาชิกเกษตรกรแล้วนำมาขุนเพื่อให้ได้น้ำหนักประมาณ 350 กิโลกรัม ก่อนส่งจำหน่าย ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากทาง จ.เชียงราย ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท

ในปี 2563 ตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะผลิตโคขุนคุณภาพให้ได้เดือนละ 100 ตัว จากแม่พันธุ์ 3,000 ตัว ปี 2566 จะผลิตให้ได้เดือนละ 150 ตัว ปี 2567 ผลิตได้เดือนละ 250 ตัว และปี 2568 ผลิตได้เดือนละ 300 ตัวต่อไป “สำหรับตลาดมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมีการใช้ภูมิศาสตร์เมืองค้าชายแดนของ จ.เชียงราย เป็นจุดส่งออกโดยเฉพาะตลาดประเทศจีนที่มีความต้องการบริโภคเนื้อมหาศาล” นายนเรศกล่าว

นายนเรศกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากเหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 ปี ทำให้สมาชิกมีความตื่นตัวและทางเครือข่ายได้มีการรับซื้อลูกโคขุนมาเก็บไว้ที่คอกขุนกลางเพื่อทำการขุนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการเป็นเงินหมุนเวียน

ดังนั้น เครือข่ายโคเนื้อล้านนาจึงได้ร่วมกับเครือข่ายโคเนื้อไทยเสนอขอเงินกู้จากกองทุนเอฟทีเอของกรมปศุสัตว์แล้ว โดยเครือข่ายโคเนื้อล้านนาได้โควตาลูกโคขุน 50 ตัวต่อเดือน ซึ่งต้องใช้เงินกู้หมุนเวียนประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งหากว่าได้รับเงินกู้จะทำให้สามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีตลาดเพื่อระบายสินค้าภายในประเทศอยู่แล้วจำนวน 2 ราย และตามแผนการพัฒนาสายพันธุ์ และตลาดในอนาคตจะเพิ่มเติมไปยังตลาดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากทางรัฐบาลไม่มีการสนับสนุนเกษตรกรจะสู้ตลาดโคเนื้อในตลาดค้าเสรีไม่ได้อย่างแน่นอน

นายธงชัย จิตต์ใจฉ่ำ รองประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา กล่าวว่า การพัฒนาโคเนื้อสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์ถือว่ามีความจำเป็นเพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและอากาศของไทยที่ให้ปริมาณซากหรือเนื้อที่มากและมีไขมันต่ำ ปริมาณการให้ลูกก็คงเส้นคงวา ต้านทานโรค และที่สำคัญ เป็นสายพันธุ์ที่นิ่งไม่ผันแปร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อมาตรฐานสินค้าไทยและการต่อรองในตลาดอย่างมาก

ปัจจุบันเครือข่ายตั้งราคามาตรฐานกลางเอาไว้ที่กิโลกรัมละ 100-105 บาท แต่เมื่อถึงเวลาเปิดใช้เอฟทีเอโคเนื้อไทย-ออสเตรเลีย แล้วจะทำให้ภาษีนำเข้าเป็น 0% ซึ่งจะทำให้โคเนื้อจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองมีราคาต่ำกว่าทะลักเข้ามาตีตลาดได้ ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงต้องพยายามพัฒนาคุณภาพโคเนื้อด้วยการพัฒนาสายพันธุ์และดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จ.เชียงราย นายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์ จ.เชียงราย และคณะจากกรมปศุสัตว์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเครือข่ายโคเนื้อหลายแห่งในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรองรับเอฟทีเอโคเนื้อไทย-ออสเตรเลีย ดังกล่าวไว้แล้ว

โดยกำหนดยุทธศาสตร์รองรับ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การรักษาตลาดภายในประเทศ ซึ่งมีเนื้อบริโภคกันหลายระดับ ซึ่งจะมีการส่งเสริมทุกระดับ โดยพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่เครือข่ายโคเนื้อล้านนาส่งเสริมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเพิ่มประชากรโคเนื้อ

จากปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาความขาดแคลนโคเนื้อ โดยมีปริมาณรวมกันทั้งประเทศเพียงประมาณ 6 ล้านตัว ขณะที่ความต้องการในตลาดบริโภคปีละกว่า 1.2 ล้านตัว แต่มีการผลิตโคขุนเลี้ยงได้ปีละเพียง 1 ล้านตัว ทำให้ยังขาดอีกกว่า 200,000 ตัว และการลดต้นทุน ซึ่งทราบว่าทางเครือข่ายโคเนื้อล้านนาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์อาหาร ส่งเสริมการเลี้ยงด้วยข้าวโพดคอนสไลก์ เป็นต้น

สำหรับเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย จะเริ่มจากเรื่องโคเนื้อก่อน หลังจากนั้นอีกระยะหนึ่งจึงเป็นโคนม อย่างไรก็ตาม ทางกรมปศุสัตว์จะรับเรื่องการขอเงินกู้จากกองทุนเอฟทีเอไปพิจารณาให้กับเครือข่ายต่อไป ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้พิจารณาการให้เงินกู้จากกองทุนเอฟทีเอ ดังนั้น จึงมีการตั้งเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการแล้ว โดยผู้ที่สามารถกู้ยืมได้มีทั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือแม้แต่ภาคเอกชน สำหรับเครือข่ายโคเนื้อล้านนาถือว่ามีโอกาสดีมาก เพราะตั้งอยู่พื้นที่ชายแดนที่มีตลาดจีนรองรับจึงเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปตามเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์โคเนื้อของไทยในปี 2561 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนมิถุนายน 2561) พบว่า มีจำนวนโคเนื้อในประเทศทั้งหมด 4.92 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.89 และจากการติดตามสถานการณ์ด้านปศุสัตว์ของ สศก.พบว่า แม้การผลิตโคเนื้อ และเนื้อโคคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ไทยต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย