เปิดอาการป่วย ‘โรคภัตตาคารจีน’ รู้ไว้ป้องกันก่อนสายเกินไป

โรคภัตตาคารจีน-เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้บริโภคที่นิยมใส่ผงชูรสในอาหาร โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น ความจริงแล้วผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ และกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอ ทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า ไชนีส เรสเตอรองต์ ซินโดรม หรือรู้จักกันในชื่อของ “โรคภัตตาคารจีน” ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ

ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมากๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในเวลา 2 ชม. รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีก โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้กินผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้อีกด้วย

 

 

พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า จากความนิยมกินผงชูรส จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายใช้สารปลอมปนในผงชูรสเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสารที่ใช้มีทั้งที่เป็นวัตถุไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ได้แก่ เกลือ น้ำตาล แป้ง ส่วนวัตถุที่เป็นอันตราย เช่น บอแรกซ์ ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในอาหาร เพราะหากร่างกายได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือถ้าได้รับในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะสะสมในร่างกายก่อให้เกิดอาการพิษแบบเรื้อรัง ทำให้เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย สับสน ระบบย่อยอาหารถูกรบกวน ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังมีสารอีกชนิดที่นิยมใส่ปะปนในผงชูรสคือ โซเดียมเมตาฟอสเฟต ซึ่งปกติจะใช้เป็นน้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์ เมื่อกินเข้าไปจะออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าผงชูรสที่ใช้นั้นปลอดภัยจากสารปลอมปนหรือไม่ สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการง่ายๆ คือ ให้นำผงชูรสที่สงสัยประมาณครึ่งช้อนชาใส่ลงในช้อนโลหะ เผาจนไหม้ หากเป็นผงชูรสแท้สารนั้นจะไหม้ไฟเป็นถ่านสีดำที่ช้อน แต่ถ้าเป็นผงชูรสที่มีส่วนผสมของบอแรกซ์ หรือโซเดียมเมตาฟอสเฟตผสมอยู่ จะพบว่ามีทั้งส่วนที่ไหม้เป็นสีดำและส่วนที่เหลือค้างเป็นสีขาวที่ช้อน ที่สำคัญกลุ่มแม่บ้านหรือร้านอาหาร ที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหรือมีเมนูชูสุขภาพประจำร้านและใช้น้ำเคี่ยวกระดูกสัตว์อยู่แล้ว ผงชูรสก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในการปรุงประกอบอาหาร แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ผงชูรสจริงๆ ผู้บริโภคควรเพิ่มความพิถีพิถันในการเลือกซื้อ โดยการสังเกตหีบห่อหรือกระป๋องบรรจุ ขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิ ฉลากพิมพ์เป็นตัวหนังสือภาษาไทยชัดเจน ไม่เลอะเลือน และต้องระบุชื่ออาหารแสดงคำว่า “ผงชูรส” ตลอดจนมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร(อย.) ระบุชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต เดือนปีที่ผลิต รวมทั้งน้ำหนักสุทธิอย่างชัดเจน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว