“กล้วยหอมทอง” สร้างอาชีพเงินล้าน ของวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองปทุมรัตน์

อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งทำเลทองของการปลูกกล้วยหอมเพื่อการส่งออกรายใหญ่ของไทย โดยอำเภอหนองเสือมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมมากถึง 14,170.10 ไร่ กล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่นี้ได้รับการยกย่องว่า มีคุณภาพดี รสชาติอร่อย ถูกใจผู้บริโภค เพราะปลูกในแหล่งดินเหนียวที่มีแหล่งน้ำชลประทานทั่วถึง มีการดูแลจัดการสวนอย่างเป็นระบบ ทำให้กล้วยหอมที่ปลูกได้สามารถส่งออกไปขายถึงประเทศญี่ปุ่น

เมื่อ ปี 2558 เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ ภายใต้การนำของประธานกลุ่มฯ คือ คุณนุกูล นามปราศัย ได้รวมตัวกันจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกล้วยหอมทองปทุมรัตน์ เพื่อผลิตกล้วยหอมพันกว่าไร่ และจำหน่ายผลผลิตเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและส่งออก เนื่องจากกล้วยหอมจัดอยู่ในกลุ่มผลไม้เพื่อสุขภาพ ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

คุณนุกูล นามปราศัย

ผลดีของการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกล้วยหอมทองปทุมรัตน์ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมมีโอกาสสร้างอำนาจต่อรองราคากับผู้ซื้อสินค้า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการปลูกดูแลสวนกล้วยหอมอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เช่น การจัดตั้งธนาคารปุ๋ย การหมุนเวียนแรงงาน การตั้งราคากลางสินค้า ฯลฯ ทำให้ทางกลุ่มฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับราคาสินค้า ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร

กศน. อำเภอหนองเสือ สนับสนุน

การทำสวนกล้วยหอมอินทรีย์

ในอดีต คุณนุกูล และภรรยาคือ คุณปราณี เหมเชื้อ ประสบปัญหาการขาดทุนในการดำเนินธุรกิจ ทาง กศน.อำเภอหนองเสือจึงเข้ามาส่งเสริมอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าให้คุณปราณีใช้สร้างอาชีพเสริมรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ต่อมาคุณนุกูลหันมาเริ่มปลูกกล้วยหอมทอง บนเนื้อที่ 5 ไร่ โดยใช้สารเคมี ปรากฏว่า อาชีพการทำกล้วยหอมทองสร้างรายได้ก้อนโต จนต้องขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

คุณนุกูล นามปราศัย และคุณกรรณกร ชูเทพ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหนองเสือ

ต่อมา คุณกรรณกร ชูเทพ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหนองเสือ ประกาศขับเคลื่อนนโยบายเกษตรธรรมชาติ ด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทองอย่างแท้จริง โดย ผอ.กรรณกร ได้ชักชวนให้คุณนุกูลและภรรยาหันมาทำสวนกล้วยหอมทองแบบเกษตรอินทรีย์ เป็นรายแรกในอำเภอหนองเสือ ปรากฏว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สินค้ากล้วยหอมทองของคุณนุกูล มีคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำให้บริษัทผู้นำเข้าของญี่ปุ่นตัดสินใจสั่งซื้อกล้วยหอม จากสวนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณนุกูลมีรายได้ก้อนโต ชำระหนี้สินได้หมดและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

การปลูกดูแล

การปลูกกล้วยหอมทอง ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาดูแล ประมาณ 9-10 เดือน หากอยู่ในแหล่งชลประทาน เกษตรกรสามารถปลูกต้นกล้วยหอมทองได้ทั้งตลอดปี ทั้งนี้ เกษตรกรในอำเภอหนองเสือ นิยมทำสวนกล้วยแบบยกร่อง เนื้อที่ประมาณ 5.5-6.5 เมตร ร่องน้ำมีขนาดความกว้างประมาณ 1.0-1.5 เมตร เกษตรกรจะเลือกใช้หน่อพันธุ์กล้วยหอมทองที่เป็นหน่อใบแคบหรือหน่อดาบ ที่มีใบอยู่ประมาณ 3-4 ใบ เพื่อให้ต้นกล้วยตกเครือพร้อมๆ กัน ขุดหลุมลึกและกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ศอก ก่อนปลูกต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปลูกต้นกล้วยหอมทองในระยะห่างประมาณ 1.0×1.5 เมตร หรือ 1.5×1.5 เมตร

หลังจากปลูก 10 วัน จะใส่ปุ๋ยยูเรียเร่งให้ต้นกล้วยแตกกอ เติบโตแข็งแรงสวยงาม ง่ายต่อการบริหารจัดการ ไม่ต้องซ่อม หลังปลูก ด้านการให้น้ำ จะใช้เรือรดน้ำต้นกล้วยหอม ประมาณวันละ 1-2 ครั้ง และรักษาระดับน้ำในร่องสวนให้มีความลึก 1 เมตร และต่ำกว่าระดับดินท้องร่อง ทประมาณ 50-80 เซนติเมตร

เรือรดน้ำในแปลงปลูกกล้วยหอม

เมื่อต้นกล้วยอายุ 20 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 บำรุงต้น พอกล้วยอายุ 2-3 เดือน ปุ๋ยตร 16-16-16 ต้นกล้วยอายุ 5 เดือน มักเจอปัญหาการชะล้างหน้าดินบริเวณโคนต้น ทำให้โคนต้นตื้นและรากลอยง่ายต่อการโค่นล้ม จึงนิยมโกยเลนจากร่องน้ำขึ้นมาสุมโคนต้นกล้วย ประมาณ 2 ครั้ง ข้อดีของการโกยเลนท้องร่องมากองที่โคนต้นกล้วย ถือเป็นอาหารบำรุงต้นกล้วยที่ดี ช่วยให้ต้นกล้วยแตกกองอกงามได้ดีขึ้น

เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นกล้วยตามช่วงอายุ  ต้นกล้วยอายุ 20 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 กล้วยอายุ 1-4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 และ 16-16-16 สำหรับต้นกล้วยอายุ 5-7 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 สูตร 0-0-60 บำรุงต้นกล้วย สำหรับสวนกล้วยอินทรีย์ของคุณนุกุล เมื่อต้นกล้วยอายุ 4 เดือน จะใส่ปุ๋ยคอกจากมูลสุกร มูลไก่ และคอยรดน้ำตลอด เพื่อบำรุงให้ต้นกล้วยมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ไม่ต่ำกว่า 5-7 หวี ต่อเครือ

ต้นกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมเขียวที่ปลูกเป็นแปลงกันลม

โดยทั่วไป พื้นที่อำเภอหนองเสือมักประสบปัญหาภัยธรรมชาติ คือลมพายุในช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายนเป็นประจำทุกปี นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สวนกล้วยได้รับความเสียหายจากปัญหาคอกล้วยหัก หรือเครือกล้วยผิดรูป เกษตรกรพยายามลดความเสียหายโดยใช้ไม้ไผ่ค้ำพยุงต้น

แปลงปลูกกล้วยหอมทอง

ช่วงอายุ 7-8 เดือน เป็นระยะต้นกล้วยเริ่มแทงปลี  พร้อมออกผล สวนกล้วยของคุณนุกูลจะใช้ไม้ค้ำพยุงลำต้นด้านขวาของต้นกล้วย เพื่อรองรับน้ำหนักของเครือกล้วยที่กำลังเจริญเติบโต ระยะนี้ เกษตรกรบางรายนิยมใส่กระดูกป่นบำรุงต้นกล้วย เพื่อให้ต้นกล้วยขยายปลีได้ดียิ่งขึ้น เพราะต้นกล้วยที่มีขนาดปลีใหญ่ มักจะได้เครือกล้วยขนาดใหญ่ตามไปด้วย

เมื่อปลีกล้วยเติบโตเต็มที่ เริ่มเปิดกาบปลี เห็นผลอ่อน เกษตรกรจะตัดปลีเพื่อให้ผลอ่อนเจริญเติบโตได้เต็มที่ ตัดแต่งใบกล้วยไม่ให้ทึบหนาจนเกินไป เปิดทางให้แสงแดดและกระแสลมพัดผ่านในสวนกล้วยได้อย่างสะดวก ลดการเกิดโรคและป้องกันแมลงเข้าทำลายต้นกล้วย พร้อมตัดแต่งใบที่เบียดกับหวีกล้วยออก เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกล้วยลาย ช่วงที่ต้นกล้วยกำลังตั้งท้อง คุณนุกูลจะปล่อยให้ต้นกล้วยมีใบ 10-12 ใบ เพื่อให้ใบกล้วยสร้างอาหารบำรุงเลี้ยงเครือกล้วยในอนาคต

เมื่อเครือกล้วยเติบโตเริ่มมีลูกเข้าทรงแล้ว คุณนุกูลจะใส่ถุงพลาสติกบางสีฟ้าใส ขนาด 1.0×1.2 เมตร ที่เจาะรูระบายอากาศห่อเครือกล้วยหอมทอง เพื่อป้องกันแมลงวันทองไม่ให้รบกวนผลกล้วย เมื่อครบกำหนดจึงตัดเครือกล้วยออกไปในจุดรวบรวมผลผลิต เพื่อล้างทำความสะอาดก่อนส่งขายตลาด

ภายหลังการเก็บเกี่ยวหมดทั้งแปลง เกษตรกรจะโค่นต้นกล้วยทิ้ง ทำความสะอาดแปลง กำจัดวัชพืชและตากดิน เพื่อรอการผลิตรอบใหม่ ระหว่างพักแปลงเพื่อป้องกันโรคและหนอนกอ คุณนุกูลมักแนะนำให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพด ฯลฯ เพื่อเสริมรายได้และไถกลบเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน

 

ต้นกล้วยหอมเขียวด้านการตลาด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกล้วยหอมทองปทุมรัตน์ จำหน่ายผลผลิตให้คู่ค้าสำคัญคือ บริษัทส่งออกของญี่ปุ่น  ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โดยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยจำหน่ายผลกล้วยสดตามคุณภาพผลผลิต ในราคาเครือละ 120-150 บาท ทั้งนี้ กล้วยหอมจะขายได้ราคาดี 250 บาท ต่อเครือ ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน เป็นต้น

กล้วยหอมทองที่เตรียมส่งขายตลาด

โดยทั่วไป กล้วยหอมทอง 1 เครือ จะมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม มี 6-7 หวี กล้วยหอมทองมีผลยาว สวย กล้วย 1 หวี มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1.8 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดพอเหมาะที่ตลาดต้องการ ทำให้ขายได้ราคาดี นอกจากขายผลสดแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้จากการขุดหน่อพันธุ์ขายได้อีกด้วย

สวนกล้วยหอมทอง เนื้อที่ 200 ไร่ ของคุณนุกูล ใช้คนงานเพียง 8 คน ดูแลสวนทั้งหมด เนื่องจากวางแผนการจัดสวนอย่างเป็นระบบ ทำให้ดูแลจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้นกล้วยหอมทอง 1 ต้น ใช้เงินลงทุน 70 บาท ขายกล้วยได้เครือละ 160-170 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่ามีผลกำไรเท่าตัว

คุณนุกูล กับคณะครู กศน. อำเภอหนองเสือ

ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ปลูกกล้วยหอมทอง 300 ต้น ต่อไร่ มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้อยมาก ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ของการลงทุน เพราะทำสวนกล้วยหอมทองแบบประณีต มีคุณภาพมาตรฐาน GAP และมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ ในอนาคตคุณนุกูลวางแผนพัฒนาต่อยอด โดยมุ่งแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยเพื่อส่งออก และเตรียมลงทุนสร้างร้านกาแฟในสวนกล้วย เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของอำเภอหนองเสือ

หากใครสนใจ อยากเรียนรู้การทำสวนกล้วยหอมเพื่อการส่งออก สามารถแวะเข้าเยี่ยมชมกิจการได้ตลอด โดยติดต่อประสานงานล่วงหน้าได้ทางเบอร์ โทร. 084-673-0665