เปิดใช้แล้ว “ท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลสู่เกาะสมุย” แก้วิกฤต “น้ำแล้ง-น้ำไม่พอใช้” คาดรองรับ นทท. วันละแสนราย

“เกาะสมุย” แล้งนี้ไม่ไร้น้ำ เพราะได้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กระทรวงมหาดไทย เข้าดำเนินการ “ก่อสร้างระบบส่งน้ำจืดมายังเกาะสมุยด้วยเทคโนโลยีการขุดท่อลอดใต้ทะเลตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาล กว่า 2 พันล้านบาท แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และได้เปิดวาล์วใช้อย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งได้ “บิ๊กตู่” บินลงใต้มาเป็นประธานในพิธีเปิด ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ท่าเทียบเรือเกาะสมุย (หน้าทอน) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

สำหรับ เกาะสมุย นั้นถือได้ว่าเป็นเมืองสวรรค์อับดับต้นๆ ของทะเลอ่าวไทยเลยก็ว่าได้ โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลมาเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่ไม่ขาดสาย สร้างรายได้เข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีปีละประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวทั้งประเทศ

แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะมีพื้นที่จำกัด ทั้งพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ พื้นที่ของนายทุน จำนวนนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 3 ล้านคน ที่ต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แน่นอนว่าน้ำในพรุกักเก็บตามธรรมชาติซึ่งปัจจุบันมี 5 พรุ ต้องไม่เพียงพอ และในปี 2559 เป็นปีที่เรียกได้ว่าน้ำในพรุแห้งขอด ดินถึงกับแตกระแหง และต้นหญ้าก็ขึ้นไปทั่วพื้นดิน ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ที่ต้องซื้อน้ำจากเอกชนเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนัก แต่บ้านเรือนประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ที่ต้องใช้น้ำประปา ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาโดยการซื้อน้ำในราคา คิวละ 60-70 บาท ขณะที่ด้านการผลิตประปาของเกาะสมุยเอง ก็ทำได้เพียงปรับปรุงขยายแหล่งน้ำดิบสำรองให้สามารถกักเก็บน้ำดิบได้มากขึ้น และผลิตน้ำจืดจากทะเลจ่ายให้ประชาชน

หากปล่อยเกิดภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น ย่อมมีผลต่อพัฒนาธุรกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและบนเกาะสมุย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย กปภ. จึงได้คิดค้น “ระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย” ท่อประปาเส้นแรกที่ยาวที่สุดในประเทศไทยที่วันนี้จ่ายน้ำประปาลอดใต้ทะเลได้แล้วเต็มระบบ ด้วยระยะทางเกือบ 140 กิโลเมตร

“นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย” ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กปภ. สาขาสุราษฎร์ธานี มีกำลังผลิตรวม (โรงผลิต) 4,730 ลบ.ม./ชม. (113,520 ลบ.ม./วัน) ซึ่งสถานีผลิตน้ำบ้านนาทรายที่รับน้ำดิบมาจากแม่น้ำคลองพุมดวง ขณะนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./ชม. (48,000 ลบ.ม./วัน) แบ่งจ่ายน้ำพื้นที่ฝั่งสุราษฎร์ธานี 1,000 ลบ.ม./ชม. และบน อ.เกาะสมุย 1,000 ลบ.ม./ชม. เมื่อโครงการส่งน้ำประปาผ่านท่อลอดใต้ทะเลเดินเครื่องส่งน้ำประปาเต็มระบบ จะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 3100 ลบ.ม./ชม. และสามารถผลิตน้ำได้เต็มกำลังที่ 4,000 ลบ.ม./ชม. นอกจากนี้ ประชาชนตลอดแนวเส้นท่อประปา ซึ่งประกอบด้วย อ.พุนพิน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก บางส่วนของ อ.ขนอม ยังจะได้มีน้ำสะอาดใช้เป็นจำนวนโดยประมาณ 65,580 ครัวเรือน อีกด้วย

“กปภ. ภูมิใจมีส่วนร่วมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เสริมความมั่นคงในด้านความต้องการใช้น้ำประปาให้กับชาวสมุย โครงการนี้ใช้เวลาประมาณ 5 ปี วางท่อส่งน้ำตั้งแต่บนฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านเนินเขา 3 ลูก ลอดใต้ทะเลมาสมุย เป็นท่อประปาที่ยาวที่สุดในไทย โดยภาพรวมเบื้องต้นของน้ำ 20% ที่ส่งมาสมุย ถือได้ว่ามีคุณภาพทัดเทียมบนฝั่ง ดื่มได้ และเพียงพอต่อนักท่องเที่ยววันละแสนคน”

ขณะที่ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า โครงการส่งน้ำประปาผ่านท่อลอดใต้ทะเล ได้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลตามนโยบาย ข้อ 6 ในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และข้อ 3 ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งสร้างโอกาสให้ประชาชน 5 อำเภอ ตามแนวท่อ ได้เข้าถึงการบริการของรัฐ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีและอยู่ในสังคมที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ เมื่อมีน้ำลอดใต้ทะเลมาเสริมความมั่นคงแล้ว ต้องใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืน

ด้าน “ว่าที่ร้อยตรี กิตติภพ รอดดอน” นายอำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า ปัจจุบันเกาะสมุยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นปีละ 10% เมื่อเทียบกับปริมาณแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ 5 พรุ นั้นถือว่าไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำเป็นต้องนำน้ำจากบนฝั่งมาใช้ และโครงการส่งน้ำประปาผ่านท่อลอดใต้ทะเลมาสมุยเป็นโครงการที่ตอบโจทย์พื้นที่ซึ่งมีความเจริญและปริมาณคนเพิ่มขึ้น จากที่แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาด้วยการซื้อน้ำในราคาคิวที่สูง  ก็ซื้อได้ในราคาใกล้เคียงกับราคาปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เมื่อเราได้น้ำประปามาช่วยในพื้นที่ ก็ได้สร้างจิตสำนึกให้ชาวสมุย “ใช้น้ำอย่างประหยัด” มีการปลูกต้นไม้เพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมไปถึงจัดทำฝายชะลอน้ำ “ฝายเพื่อชีวิต” ที่ปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ 10 ฝาย

แม้ว่าจะไม่มีฝนตกหรือมีน้ำดิบเข้ามาเพิ่มเติมพรุในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถใช้ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร เช่น ปลูกมะพร้าว ทำสวนทุเรียน และเพียงพอต่อการคาดการณ์ที่ว่า ในปี 2571 สมุยจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,394 คน