เผยแพร่ |
---|
กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลสำเร็จเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีกว่า 40 ล้านบาท/ปี แนะใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสม ลดต้นทุนอย่างยั่งยืน
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ผสมแม่ปุ๋ยเคมีใช้เองตามคำแนะนำจากผลวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยเคมีตามความจำเป็นเพื่อลดต้นทุนการผลิต ร่วมกับการไถกลบตอซัง ไม่เผาเศษซากพืช ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง รวมทั้งใช้ปุ๋ยชีวภาพในพืชที่สามารถใช้ได้ร่วมด้วย เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง โดยจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่บริหารจัดการโดยเกษตรกร จำนวน 882 ศูนย์ อำเภอละ 1 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอเป็นพี่เลี้ยง และพัฒนา ศดปช. ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบดินแบบรวดเร็ว และให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น ถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ จุดสาธิต รวบรวมความต้องการและบริการจัดหาแม่ปุ๋ยให้สมาชิกใช้ตามคำแนะนำ
ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก ศดปช. อย่างน้อย 17,640 ราย จาก 882 ศูนย์ มีความรู้เรื่องดินและปุ๋ย สามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 21-28 คิดเป็นมูลค่าปุ๋ยเคมีที่ลดลง รวมประมาณ 39-43 ล้านบาท/ปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-12 เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยตามวิธีเดิมของเกษตรกร มีพื้นที่การนำเทคโนโลยีไปใช้ จำนวน 156,262 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ปลูกของสมาชิก ศดปช. และวางแผนขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม จาก ศดปช. ไปสู่ชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี มีรายได้เพิ่มขึ้น ทรัพยากรดินได้รับการบำรุงรักษาให้สามารถผลิตพืชผลได้อย่างยั่งยืน และลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค
การใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช เป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างถูกวิธี เนื่องจากต้นทุนการผลิตพืชของเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าปุ๋ยเคมี ซึ่งกว่า 90% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับเกษตรกรมักใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่แล้วในดิน บางครั้งใส่ปุ๋ยเคมีเกินความต้องการของพืช ทำให้สิ้นเปลืองและต้นพืชอ่อนแอ ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงเป็นอันตรายต่อเกษตรกร และอาจปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอกับความต้องการธาตุอาหารของพืช ก็จะทำให้ได้ผลผลิตต่ำและดินเสื่อมโทรม