ตดหมูตดหมา เป็นผักเป็นหญ้า และเป็นยา

ขึ้นชื่อว่า “ตด” บางคนก็กำลังยิ้มกริ่ม บอกว่าก็พอรู้จักอยู่บ้าง กำลังปล่อยแบบแผ่วๆ เมื่อกี้นี้เอง มีบางคนอยากปล่อยแบบไม่เกรงใจใคร โดยเฉพาะเมื่อตอนอยู่คนเดียว คิดว่าไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น แต่ลืมคิดไปว่ามีคนได้ยิน บางคนไม่ถนอมกลิ่นเลย ปล่อยไม่มีเสียงแต่กลิ่นอื้อฮือ เคยมีในกลุ่มคนสวยๆ คุยกันเรื่อง สเปกชายชอบ และแอบปล่อยกลิ่นแบบไร้เสียง เป็นที่น่าเอ็นดู

ชวนคุยเรื่องไม่เป็นสาระ เข้าหาสารประโยชน์ของ “ตดหมูตดหมา” กันดีกว่า พืชชนิดนี้ เป็นไม้เถาเลื้อยประเภทล้มลุก ลำต้นขนาดเล็ก ลำต้นและใบมียางสีขาว เมื่อเด็ดขยี้ มีกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นตด ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว รูปเรียวยาว หรือรูปหอก ออกเป็นคู่ตรงข้าม สีเขียว เนื้อใบบาง ก้านใบสั้น เส้นใบโค้งจรดกันที่ใกล้ขอบใบ ใบกว้าง 10-25 มิลลิเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อตรงซอกใบหรือโคนก้านใบ ช่อละ 2-3 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก กลีบดอก 5 กลีบเชื่อมติดกันตรงโคนกลีบ ปลายกลีบแยกจากกัน กลีบด้านนอกสีขาว ด้านในสีม่วงแดงหรือสีชมพู ปะด้วยจุดสีม่วงจุดสีน้ำตาล เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อันอยู่ตรงกลาง ผลเป็นฝักยาวสีเขียว ยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-4 เซนติเมตร

ตดหมูตดหมา เป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกัน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กระพังโหม” เป็นพืชในวงศ์ ASULEPIADACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxystelma esculentum Linn.R.Br เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไป ในป่าธรรมชาติและบริเวณในสวน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและเพาะเลี้ยงต้นอ่อน นิยมปลูกขึ้นเลื้อยตามรั้วบ้าน เพื่อเก็บยอดอ่อน ใบอ่อน รับประทานเป็นผักแกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย หรือน้ำพริก มีบางท้องถิ่นเห็นเก็บมาวางขายตลาดสดกันก็มี

ตดหมูตดหมา หรือกระพังโหม เป็นที่นิยมในมวลหมู่ชาวเมืองเหนือ อีสาน ใช้รับประทานเป็นผักสด ร่วมกับน้ำพริก ลาบขม ก้อย ชาวใต้นิยมนำไปหั่นฝอย ผสมปรุงข้าวยำ คนโบราณใช้น้ำคั้นจากเถาและใบ ผสมปรุงขนมขี้หนู ทำให้ขนมมีสีเขียว ส่วนดอกมีการนำมารับประทานกันเป็นผักสดบ้าง แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ยอดอ่อนและใบมีรสขมมัน กลิ่นเหม็นเขียว บางคนก็ว่าหอมเหมือนตดตนเอง ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ประโยชน์ทางยา นับได้ว่าเป็นสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่มีสรรพคุณรักษาอาการอักเสบบริเวณคอ ปาก รักษาบาดแผล เป็นยาระบายอ่อนๆ สำหรับเด็ก รากมีสรรพคุณแก้โรคดีซ่าน

มักพบพืชชนิดนี้ในสวน ป่าละเมาะ ชาวบ้านต้องตัดฟันทิ้ง เพราะเป็นเถาเลื้อยพันต้นไม้อื่นไปทั่ว ยอดอ่อนสีเขียวอมแดง มีขนอ่อนคลุม บางพื้นที่ที่มีดินดี น้ำสมบูรณ์ จะแตกยอดอวบอ้วน ที่กันดาร ยอดจะลีบเล็ก แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ กลิ่นเดียวกันเลย บางทีคนเดินกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ผ่านเข้าป่าหญ้า สวน   ผลไม้ สวนผัก เดินไปเหยียบเถาตดหมูตดหมา หรืออาจจะเดินไปเกี่ยวเถาใบเข้า หรือเด็ดมาขยี้บี้เล่น หมู่เพื่อนร่วมกลุ่ม คงหันซ้ายหันขวามองหาที่มาของกลิ่น และคงจ้องมองไปที่บั้นท้ายของคนนั้นคนนี้เป็นแน่

ตอนเริ่มบทมาอธิบายเรื่องของตด จึงขออนุญาตขยายต่อคำอื่นที่เกี่ยวข้องบ้าง คำว่า “กระพัง” แปลว่า แอ่งน้ำ บ่อน้ำ หนองน้ำ “โหม” แปลว่า บูชายัญ เซ่นบวงสรวง กระพังโหม จึงเป็นชื่อที่เพราะกว่า มีความหมายว่า เครื่องเซ่นบวงสรวงบูชาแอ่ง บ่อ หนองน้ำ เพราะกว่าตดหมูตดหมา ซึ่งเป็นคำที่อธิบายคุณลักษณะชัดเจนเกินไป จนมีบางคนเรียกว่า ตูดหมูตูดหมา ฟังดูนุ่มนวลขึ้นหน่อย แต่ทางเหนือมักพบในสวนในป่าละเมาะ ที่ต้องตัดทิ้ง เรียกว่า หญ้าตดหมา เป็นวัชพืชที่ทำให้ต้นพริก มะเขือตายได้ แต่ถ้าตั้งใจปลูกเลี้ยงไว้ขึ้นค้างขึ้นรั้วไว้เก็บกิน ก็จะเรียกว่า ผัก ส่วนใหญ่หลายพื้นที่จะเรียกต่างกัน ก็ดูจากคุณลักษณะของพืชนี้เป็นสำคัญ ในภาคกลางบางแห่งเรียก สะอึก คงเพราะแก้อาการสะอึกได้ โดยการขยี้ดม หรือบางที่เรียก จมูกปลาหลด จมูกปลาไหล เพราะใบยอดมีลักษณะเหมือน  มีสีคล้ายๆ ทางโคราช เรียก ตะมูกปลาไหล อุดรธานี เรียก ตะมูกปลาไหล มหาสารคาม เรียก เครือไส้ปลาไหล สกลนคร เรียก กระเดียวเผือ เชียงใหม่ เรียก ผักไหม คงเป็นเพราะใบมีขนอ่อนสีเขียวอมแดง เลี่ยมเงาคล้ายผ้าไหม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560