ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ให้ผลเร็ว เนื้อสีเหลืองสวย เนียนเหนียว รสชาติหวานอร่อย อัพราคา กิโลกรัมละ 150

เนื้อทุเรียนชะนีเกาะช้าง

“เกาะช้าง” แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามสุดตะวันออก จังหวัดตราด เป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ก่อนที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อาชีพหลักชาวบ้านทำสวนผลไม้ ยางพารา ประมง  

ทุเรียนพันธุ์ชะนีนั้น ปลูกกันมานานร่วม 50 ปี ระยะหลังหลายคนปรับเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์หมอนทองตามความนิยมของตลาดบ้าง หรือปลูกยางพาราทดแทน เพราะราคาดีกว่า ชาวสวนทุเรียนจึงเหลือเพียง 111 ราย พื้นที่ปลูก 843 ไร่ มีพันธุ์ชะนีที่ปลูกดั้งเดิมอายุ 30-50 ปี เหลืออยู่ 348 ไร่ กระดุม 52 ไร่ พวงมณี 5 ไร่  และหมอนทอง 437 ไร่ ปริมาณทุเรียนเกาะช้างปีละ 476.43 ตัน เป็นทุเรียนชะนีเกาะช้าง ประมาณ 100 ตัน

 

ตรวจพบ วิตามินอี-ไอโอดีน อพท. ต่อยอดลดปริมาณคาร์บอน ประมูล กิโลกรัมละ 4,000 บาท

ช่วงปี 2553-2555 “ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อปี 2553 คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกาะช้าง เห็นว่าทุเรียนชะนีเกาะช้างอายุ 30-50 ปี ปลูกในพื้นที่สภาพดินเป็นดินภูเขาไฟ ลาดเอียง มีไอน้ำทะเล อากาศโปร่ง ให้ผลเร็ว เนื้อสีเหลืองสวย เนียนเหนียว รสชาติหวานอร่อย จึงส่งไปทดสอบจาก บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)จำกัด พบว่า มีวิตามินอี 9.45 mg/100 กรัม และธาตุไอโอดีน 54.27 ug/100 กรัม

ใบรับรอง วิตามินอี-ไอโอดีน

ปี 2555 พล.ต. หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), (อพท.) ได้พัฒนาต่อยอดผลวิจัยภายใต้ธีม (Theame) โลว์คาร์บอน เนื่องจากต้นทุเรียนชะนีอายุ 40-50 ปี สูง 10-20 เมตร ดูดซับคาร์บอนได้ดี และสวนส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องการให้ชาวสวนได้อนุรักษ์ จึงช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เปิดตัวจัดประมูลทุเรียนชะนีเกาะช้างคุณภาพ งาน “เทศกาลผลไม้และของดีเกาะช้าง ประจำปี 2555” ได้ราคาสูงสุด ถึงลูกละ 15,000 บาท ตกกิโลกรัมละ 4,000 บาท สร้างความฮือฮาให้ทุเรียนชะนีเกาะช้าง นับจากนั้นมา เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเกาะช้างได้แวะชิมและซื้อเป็นของฝาก ราคาทุเรียนที่เคยขายกัน กิโลกรัมละ 20-30 บาท เพิ่มขึ้นเรื่อยๆล่าสุดปี 2559 ราคาเฉลี่ย อยู่ที่ 70-100 บาท/กิโลกรัม เป็นราคาที่ชาวสวนทุเรียนเกาะช้างไม่เคยขายได้มาก่อน

เนื้อทุเรียนชะนีเกาะช้าง 

ปี 2560 ชูแบรนด์ ขายตลาดออนไลน์ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ต้องกินที่เกาะช้าง

ดร. ประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ทุเรียนชะนีเกาะช้างมีคุณภาพและมีปริมาณไม่มากนัก แต่ต้องขายตามราคาท้องตลาด บางครั้งเหมาสวนทำให้เสียโอกาสทางการตลาด 3-4 ปีที่ผ่านมาทุเรียนชะนีเกาะช้างเริ่มมีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่นิยมกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะช้างทั้งคนไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน จังหวัดจึงมีแนวคิดชูแบรนด์ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ต้องกินที่เกาะช้าง และขายตลาดออนไลน์ จึงตั้งคณะทำงานแบบ 3 ประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน เช่น สำนักงานเกษตรทำคุณภาพ พาณิชย์จังหวัด ททท. สำนักงานตราด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด (วิสาหกิจเพื่อชุมชน) จำกัด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ช่วยด้านการตลาด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้านสินเชื่อ รวมทั้งเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนที่ต้องพัฒนาคุณภาพ

เยี่ยมสวนสมาชิก บริษัท ประชารัฐฯ

“เมื่อทำคุณภาพทุเรียนชะนีเกาะช้างได้มาตรฐาน จะเชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยว ปี 2560 นำร่องแบรนด์ทุเรียนชะนีเกาะช้าง โดย ททท. สำนักงานตราด มีแผนการตลาดดึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะช้างมากินทุเรียนชะนีที่เกาะช้าง อีกทางหนึ่งส่งเสริมให้ชาวสวนขายผ่านออนไลน์ เปิดจองตั้งแต่เริ่มออกดอกจนผลสุกโดยเจ้าของสวนจะดูแล ลูกค้าสามารถมาเที่ยวชมสวนที่จองไว้รู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ นอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าแล้วยังตัดปัญหาคนกลาง การตัดทุเรียนอ่อน และช่วยให้เกษตรกรทำสวนทุเรียนต่อไป จริงๆ แล้วส่งเสริมให้ชาวสวนทำคุณภาพและขายทุเรียนออนไลน์ทุกอำเภอที่มีสวน แต่ทุเรียนชะนีที่เกาะช้างมีลักษณะพิเศษเฉพาะสีเหลืองสวย เนื้อเนียนละเอียด รสชาติอร่อย จึงมีเป้าหมายให้คนอยากกินทุเรียนชะนีเกาะช้างต้องมากินที่เกาะช้าง ถ้าทำได้เกษตรกรจะอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าว

 

เกษตรกรหัวไว สมัครทำตลาดออนไลน์ บริษัท ประชารัฐฯ ตราด รับซื้อ กิโลกรัมละ 150 บาท

คุณพงษ์ศักดิ์ เอมดวง เกษตรจังหวัดตราด กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพทุเรียนชะนีเกาะช้าง เริ่มจากการรับสมัครเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนชะนีเกาะช้าง ที่ได้ใบรับรองมาตรฐานการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP แล้ว และดำเนินการให้สวนที่เข้าร่วมให้ได้ใบรับรอง GAP ต่อไป จากนั้นจะดูแลอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ออกดอก การผสมเกสร ดอกบานการตกแต่งดอก การบำรุง รักษา มีการเยี่ยมสวน ติดตามผลไปจนกระทั่งผลผลิตเก็บได้ จะคัดเลือกทุเรียนคุณภาพทุกลูกส่งจำหน่าย ส่วนการทำตลาดหน่วยงานพาณิชย์จังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด (วิสาหกิจเพื่อชุมชน) จำกัด สมาคม ชมรมต่างๆ จะช่วยกัน

คุณพงษ์ศักดิ์ เอมดวง เกษตรจังหวัดตราด

“มั่นใจว่าเกษตรกรประเภทหัวไว ใจสู้ สนใจทำตลาดทุเรียนคุณภาพและขายออนไลน์ที่ผ่านมามีทำอยู่บ้างแล้ว ขณะที่มีเจ้าของสวนร่วมทำทุเรียนชะนีเกาะช้างคุณภาพ 27 ราย เบื้องต้น บริษัท ประชารัฐฯ จะรับซื้อสวนละ 100 ลูก โดยทำตลาดที่เกาะช้าง คาดว่าจะรับซื้อได้ 30-50 ตัน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกษตรกรอาจจะขายเองโดยเปิดจองผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เฟซบุ๊ก ไลน์ เว็บไซต์ ที่อัพเดทข้อมูลกระบวนการผลิตทุกระยะทำให้ลูกค้าสนใจ สร้างความรู้สึกให้ลูกค้าเป็นเจ้าของสวน และมั่นใจคุณภาพแม้ว่าจะราคาสูง ตัดคนกลาง ช่วยแก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน” คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าว

คุณพิทยา หอมไกรลาศ ผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด (วิสาหกิจเพื่อชุมชน) จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้มีพันธมิตรที่ช่วยทำการตลาด คือ อำเภอเกาะช้าง เกษตรอำเภอเกาะช้าง ททท. สำนักงานตราด บริษัททัวร์ โรงแรมต่างๆ เนื่องจากเป็นปีแรกจึงรับซื้อไม่มาก แนวทางเบื้องต้นคือ ซื้อจากชาวสวนที่เป็นสมาชิกสวน สวนละ 100 ลูก ราคากิโลกรัมละ 150 บาท โดยทำตลาดจากอีเว้นท์ต่างๆ บนเกาะ การจัดทัวร์สวนผลไม้ เป้าหมายใหญ่คือ ดึงให้นักท่องเที่ยวมากินทุเรียนชะนีเกาะช้างที่เกาะช้าง ระยะยาวขึ้นอยู่กับผลผลิตและปริมาณความต้องการและราคาทุเรียนบนเกาะช้างต้องสูงกว่าบนฝั่ง จึงจะทำให้ชาวสวนขายทุเรียนที่เกาะช้าง

ดอกทุเรียนชะนี เริ่มออกเดือนธันวาคม

ด้านผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดตราด คุณวรรณประภา สุขสมบูรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ททท. ช่วยประชาสัมพันธ์และหาตลาดให้บริโภคทุเรียนจังหวัดตราด แคมเปญ “ตราดอร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ทุกปี ส่วนทุเรียนชะนีเกาะช้างที่มีความพิเศษและมีชื่อเสียงอยู่แล้วการทำตลาดจะง่ายขึ้น ปี 2560 ททท. ได้จัดลงปฏิทินท่องเที่ยวจังหวัดตราด “วันทุเรียนชะนีเกาะช้าง” ในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นพฤษภาคม 2560 และอยู่ในแพกเกจ ตราดราคาเดียวเที่ยวทุกเกาะ

“เป้าหมายให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะช้างกินทุเรียนชะนีเกาะช้าง ททท. ร่วมกับชมรมธุรกิจนำเที่ยวจังหวัดตราด เตรียมจัดทำแพกเกจเที่ยวสวนทุเรียนและกินทุเรียนในสวน นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาเที่ยวเองที่เกาะช้าง ปีละ 20,000 คน นิยมกินทุเรียนมาก เฉลี่ยคนละ 2-3 ลูก จะหาซื้อได้ตามแผงร้านหน้าสวนริมทาง ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยมีการบอกกันปากต่อปาก ที่ผ่านมาและมีการจองข้ามปีทางเฟซบุ๊ก ไลน์” ผอ. ททท. สำนักงานตราด กล่าว

เครื่องชั่งทุเรียน

เกษตรกรขานรับทำคุณภาพ อนาคตขายทุเรียน ต้นละ 50,000 บาท

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกาะช้าง และเจ้าของสวนทุเรียนชะนีเกาะช้างคีรีบัญชร กล่าวว่า การเพิ่มมูลค่าทุเรียนชะนีเกาะช้างจะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาทุเรียน ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ชาวสวนทุเรียนมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท การทำคุณภาพทุเรียนนี้ ธ.ก.ส. เข้าไปช่วยด้านสินเชื่อให้เกษตรกรสวนขนาดกลาง ขนาดย่อม จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรจะทำทุเรียนคุณภาพขายเป็นต้นๆ ดีกว่าทำปริมาณมาก แต่ต้องขายเหมาทั้งสวน

ทุเรียนชะนีเกาะช้าง สูง 10-20 เมตร

“ปีนี้ตลาด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด ซื้อ 100 ลูก หากมีคุณภาพดีจริง ปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสวนละ 200-300 ลูก สวนทุเรียนที่เกาะช้างเล็กขนาด 2-5 ไร่ ถ้ากิโลกรัมละ 150-200 บาท ขายทุเรียน 1 ลูก ลูกละ 4 กิโลกรัม มีทุเรียน 5-6 ต้น ต้นละ 100 ลูก เฉลี่ยลูกละ 4 กิโลกรัม มีรายได้ ต้นละ 40,000-50,000 บาท ปีหนึ่งจะมีรายได้อยู่ที่ 200,000-300,000 บาท ชาวสวนอยู่ได้ต่อไปจะไม่คิดขายที่ดิน หรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น”