ไม้สีทอง เป็นไม้มีเสน่ห์ของชาวใต้

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

เนื่องจากผมสนใจเกี่ยวกับต้นไม้ใบสีทอง จึงอยากขอให้ท่านช่วยลงเรื่องใบไม้สีทอง ว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพื้นเมือง จัดไว้ในวงศ์อะไร ลักษณะทั่วไป วิธีปลูก และการขยายพันธุ์ รวมทั้งวิธีการอัดแห้งให้กรอบ ในโอกาสนี้ผมขอทราบที่ตั้งของวัดสวนแก้วของท่านพระพยอมด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

พีรเดช ม่วงแสง

อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

ตอบ คุณพีรเดช ม่วงแสง

ใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ พบขึ้นอยู่ที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ทั้งนี้ ดร. ชวลิต นิยมธรรม บันทึกไว้ว่า พบไม้ชนิดนี้ที่บริเวณใกล้น้ำตก บาโจ จังหวัดนราธิวาส มีการจำแนกไว้อยู่ในวงศ์ Leguminoseae หรือวงศ์ถั่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia aureefolia เป็นไม้ประเภทเถาเลื้อย เนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ มีความสูงหรือความยาว ประมาณ 30 เมตร มักเลื้อยไปตามไม้หลัก แต่ไม่ทำอันตรายกับไม้หลักที่เกาะเลื้อยไป เพราะต้องการเคลื่อนที่ไปรับแสงแดดเท่านั้น ลักษณะใบค่อนข้างกลม ปลายใบฉีกลึกเข้าไป คล้ายรูปหัวใจ ใบออกเดี่ยวๆ เรียงสลับกัน ใบอ่อนออกเป็นสีทองแดง ตามบริเวณปลายกิ่ง สองสัปดาห์ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีสีเข้มข้นขึ้น แล้วกลายเป็นสีทอง อีก 3 เดือนถัดมา ในที่สุดเมื่อครบ 6-7 เดือน จะเปลี่ยนเป็นสีเงิน ใบจะเป็นสีทองกระจายทั่วลำต้น หรือเถา เมื่อมีอายุ 5 ปี ขึ้นไป ใบเป็นสีทองสวยงามที่สุดในเดือนมิถุนายน

ดอก รูปร่างคล้ายดอกเสี้ยว ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อย 8-10 ดอก ดอกย่อยสีขาว รูปใบพาย มี 5 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคมไปถึงเดือนกุมภาพันธ์

ผล เป็นฝัก คล้ายดาบ กว้าง 6 เซนติเมตร และยาว 23 เซนติเมตร ทั้งฝักปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ เมื่อผลแก่จะแตกออก

เมล็ด รูปแบน ยาว คล้ายดาบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-2.6 เซนติเมตร ใน 1 ฝัก มี 4-6 เมล็ด การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง

ไม้ใบสีทอง เชื่อว่าเป็นไม้มงคล นิยมนำใบสีทองมาอัดกรอบไว้ประดับบ้าน วิธีเตรียมใบสีทองก่อนนำมาอัดกรอบ ให้เก็บใบที่สมบูรณ์ สวยงาม ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน กรณีเก็บจากอุทยานแห่งชาติ ต้องขออนุญาตก่อน นำมาทับในสมุดหรือหนังสือที่มีน้ำหนัก เป็นเวลา 4-5 เดือน แล้วนำมารีดด้วยเตารีดให้ไฟอ่อนๆ ก่อนนำไปอัดกรอบ

ไม้ใบสีทอง หรือ ย่านดาโต๊ะ มีความสามารถปรับตัวได้ดี แม้นำมาปลูกที่กรุงเทพฯ ก็ติดดอกออกใบได้สวยงาม ท่านที่ต้องการไปชมความงาม อยู่ที่พิพิธภัณฑ์พืชศิรินทร์ ภายในเกษตรกลาง บางเขน บริเวณติดต่อกับสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ในวัน และเวลาราชการ