งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง ปล่อยหอยลาย เพิ่มผลผลิต-ส่งออก

ชาวประมงทำหอยลาย

“หอยลาย” เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศ ปัจจุบัน มีการแปรรูปส่งออกตลาดต่างประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของ สวก. ระบุว่า ปี 2531 ไทยส่งออกหอยลายบรรจุภาชนะอัดลม ปริมาณ 10,022 ตัน มูลค่า 617.15 ล้านบาท และเนื้อหอยมิได้บรรจุภาชนะอัดลม 1,374 ตัน มูลค่า 93.22 ล้านบาท ซึ่งปี 2554 ปริมาณหอยลายและมูลค่าได้ลดลงอย่างมาก หอยลายบรรจุภาชนะอัดลมส่งออก 2,038 ตัน มูลค่า 240.18 ล้านบาท และเนื้อหอยมิได้บรรจุภาชนะอัดลม 205 ตัน มูลค่า 42.44 ล้าน และจำนวนหอยลายที่จับได้ลดจำนวนลงอย่างมาก

หอยลาย ที่จับได้ ปี 2531 มีปริมาณ 115,400 ตัน คิดเป็นมูลค่า 603.18 ล้านบาท แต่ปี 2555 ปริมาณลดลงเหลือเพียง 8,700 ตัน คิดเป็นมูลค่า 217.0 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกในยุโรป สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมงต้องเร่งเพิ่มปริมาณของหอยลายในท้องทะเล เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการส่งออก

 

ลูกพันธุ์หอยลาย

ปล่อยพันธุ์หอยลาย ช่องช้าง 1 ล้านตัว

นำร่องพื้นที่จังหวัดตราด ให้ชุมชนมีส่วนร่วม

คุณพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สวก. (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยสภาพการขาดแคลนหอยลายที่รุนแรงขึ้น สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การเพาะเลี้ยงและการจัดการทรัพยากรหอยลาย (Paphia undulata) เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการส่งออก” แก่กรมประมง งบประมาณ 6,503,125 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558-1 พฤศจิกายน 2561 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงหอยลาย จัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่หอยลาย รวมทั้งวิธีการจัดการทรัพยากรหอยลายแบบชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งกิจกรรมคืนหอยลายสู่ทะเลตราด สนองแนวพระราชดำริ ด้านการจัดการทรัพยากรประมง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน จึงนำลูกหอยลายจากการเพาะเลี้ยง 1 ล้านตัว มอบให้ชุมชนนำไปปล่อยบริเวณช่องช้างของจังหวัดตราด

คุณพรพรรณ ชัญญานุวัตร ผอ. สวก.

ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง กล่าวถึงที่มาของโครงการคือ จากสภาพความต้องการหอยลายทั้งการบริโภคภายในประเทศ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกอย่างต่อเนื่อง และหอยลายที่ต้องการเป็นขนาดเล็ก ทำให้ชาวประมงจับหอยลายจำนวนมากจนเติบโตไม่ทัน และแหล่งหอยลายไม่สามารถจับได้ตลอดปี ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแหล่งหอยลายตามธรรมชาติ ประกอบกับมีข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงคราดหอยลายและชาวประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงหอยลายจึงเป็นช่องทางที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และการจัดการทรัพยากรหอยลายโดยชุมชนมีส่วนร่วม จึงเป็นการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและช่วยแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง

ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง (ขวาสุดชุดดำ) มอบพันธุ์หอยลาย

โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงหอยลายในที่กักขังควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรหอยลายโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นกรณีศึกษา เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการส่งออก ซึ่งการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม

กิจกรรมที่ 1 การเพาะเลี้ยงหอยลายในที่กักขัง ซึ่งครอบคลุมการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยลาย เทคนิคที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ การอนุบาลลูกหอยในโรงเพาะฟักในบ่อดิน และการเลี้ยงหอยลายในบ่อดิน การศึกษาการเพาะพันธุ์หอยลายด้วยเทคนิคต่างกันระหว่างขุนหอยลายเลี้ยงในถัง พ่อแม่พันธุ์หอยลายปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาเองตามธรรมชาติ กิจกรรมนี้ผลิตลูกหอยลาย ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร เพื่อส่งต่อให้กิจกรรมที่ 3 นำไปปล่อยในแหล่งผลิตตามธรรมชาติ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ล้านตัว ต่อปี

กิจกรรมที่ 2 สารสนเทศเชิงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่หอยลาย โดยศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของพื้นที่หอยลายในอ่าวไทย เพื่อนำไปประเมินพื้นที่แหล่งที่เหมาะสม จำแนกได้ 3 ตัวแปรหลัก คือ เส้นชั้นความลึก ระยะห่างจากชายฝั่ง และลักษณะพื้นท้องทะเล ชั้นข้อมูลแสดงค่าเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งหอยลายพบในจังหวัดตราด ประมาณ 1,290.8 ตารางกิโลเมตร ระยอง 181.2 ตารางกิโลเมตร ชลบุรี 79.7 ตารางกิโลเมตรประจวบคีรีขันธ์ 51.2 ตารางกิโลเมตร เพชรบุรี 27.4 ตารางกิโลเมตร และปัตตานี 24.7 ตารางกิโลเมตร

กิจกรรมที่ 3 การจัดการทรัพยากรหอยลายแบบชุมชนมีส่วนร่วม โดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศ กรณีศึกษาจังหวัดตราดเพื่อศึกษาสภาวะทรัพยากรหอยลาย สภาพแหล่งที่อยู่อาศัย การปล่อยลูกพันธุ์เพื่อฟื้นฟูแหล่งหอยลายและการพัฒนาการของการจัดการประมงโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในบริเวณจังหวัดตราด

“กรณีศึกษาจังหวัดตราด” เพื่อศึกษาสภาวะ สภาพแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยลาย การปล่อยลูกพันธุ์เพื่อฟื้นฟูแหล่งหอยลาย และการพัฒนาการของการจัดการประมงโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในบริเวณจังหวัดตราด ปี 2558 ทดลองนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยลายไปปล่อยที่บ้านแหลมเทียน ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด แต่พบว่าสภาพน้ำไม่เหมาะสม มีปริมาณน้ำจืดมากเกินไป ครั้งนี้จึงนำลูกหอย 1 ล้านตัว ไปปล่อยบริเวณอ่าวช่อ-อ่าวขาม อำเภอเมืองตราด หรือบริเวณช่องช้าง เพื่อฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรหอยลายให้เติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์และให้ผลผลิตปริมาณสูงขึ้น โดยชุมชนมีส่วนร่วม เฝ้าระวัง การลักลอบการทำประมงคราดหอยลายที่ทำลายระบบนิเวศ เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหอยลายอย่างยั่งยืน จากนี้จะมีการประเมินผลเป็นระยะๆ ในช่วง 1 ปีเศษ เมื่อสิ้นสุดโครงการจึงสามารถสรุปข้อมูล และกรมประมงสามารถนำไปขยายผลได้

เรือประมง ปล่อยหอยลาย

“จังหวัดตราด เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแหล่งหอยลายตามธรรมชาติ และปี 2551 หายไป จึงเลือกเป็นพื้นที่กรณีศึกษา ต่อไปจะมีการประเมินผลเป็นระยะจนกว่าจะจบโครงการอีก 1 ปีเศษ เมื่อได้ข้อสรุปจะเป็นโมเดลขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ส่วนของชุมชนนั้นจะจัดอบรมให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกร่วมกันและชุมชนต้องเข้มแข็ง ควรมีมาตรการที่ช่วยกันดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น” ดร. วารินทร์ กล่าว

ทางด้าน น.ต. สรรเสริญ เสรีรักษ์ ประมงจังหวัดตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริเวณอ่าวตราดเป็นแหล่งหอยลายตามธรรมชาติที่สำคัญอยู่คู่กับจังหวัดตราด เพราะสภาพปากอ่าวดินเลนเหมาะกับการเติบโต ที่ผ่านมา ปี 2552-2555 มีหอยลายเกิดขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมากและปีต่อๆ มาหายไป เพิ่งจะเริ่มมีอีกในปี 2559 เมื่อมีโครงการวิจัยนี้จะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการที่จะทำให้เพิ่มผลผลิตหอยลายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกได้

น.ต. สรรเสริญ เสรีรักษ์

“คณะกรรมการประมงจังหวัดตราด ได้เสนอให้กรมประมงประกาศเขตประมงพื้นบ้าน จาก 3 ไมล์ทะเล เป็น 5 ไมล์ทะเล แสดงให้เห็นเจตนาของชาวบ้านในท้องถิ่นหวงแหนพื้นที่ต้องการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ต่อไปพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตหอยลายจะเพิ่มขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้ ส่วนการดูแลการลักลอบการประมงที่ผิดกฎหมาย มีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในจังหวัดตราด 50 องค์กร ช่วยกันดูแลอยู่แล้ว ต่อไปจะจัดฝึกอบรมเพิ่ม” ประมงจังหวัดกล่าว

 

ท้องถิ่นขานรับผลดี ประมงพื้นบ้านมีรายได้

คุณสาธิต ห้วงน้ำ กำนันตำบลอ่าวใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธุ์หอยลายที่นำมาปล่อย 1 ล้านตัว อยู่ใกล้ชุมชนเปรียบเสมือนอยู่หลังบ้านจะได้รับการเฝ้าระวังจากชุมชนอย่างดี ซึ่งปริมาณหอยลายที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้าน 200-300 ราย เมื่อวางอวนปู อวนปลาไม่ได้ จะมีรายได้จากการคราดหอยลายทดแทน ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือคราดหอยด้วยมือ (กระดิ๊บ) มีรายได้จากการคราดหอย ลำละ 600-1,000 บาท แต่ประเด็นสำคัญคือ การลักลอบทำคราดหอยด้วยเครื่องยนต์ ในพื้นที่ระยะ 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร ทำให้หอยลายตัวเล็กๆ ตายหมด ชาวบ้านที่ลักลอบรู้ดี แต่เคยทำได้ก็ทำต่อๆ กันมา และราคาหอยลายที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงมีการลักลอบทำกันตลอด แม้จะมีชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) ช่วยการเฝ้าระวัง แต่ผู้ลักลอบจะไม่กลัวเกรง หากเจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจตราอย่างเข้มงวดไม่ให้เรือยนต์เข้ามาคราดหอยด้วยเครื่องยนต์ระยะเขตประมงชายฝั่ง จับ ปรับ ลงโทษตามกฎหมายจะทำให้ผู้ลักลอบเกรงกลัว เพราะบางครั้งเรือคราดหอยมาจากจังหวัดอื่นด้วย

ชาวประมงทำหอยลาย

“หอยลาย จะมีเฉพาะช่วงฤดูกาล ไม่มีทั้งปีและไม่ได้มีประจำทุกๆ ปี บางครั้งเว้น 5-6 ปี ผู้ลักลอบจะใช้เรือเข้ามาสุ่มคราดหอยลายก่อน ถ้าพบว่าเป็นแหล่งใหญ่จะมีเรือเข้ามาคราด 4-10 ลำ ตั้งแต่ 3,000-500 เมตร จากชายฝั่งเข้ามา ที่พบมีเรือลากแขกที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนมาก การลักลอบนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราจับกุมจะหายไป” กำนันสาธิต กล่าว

ปลายปี 2561 งานวิจัยนี้จะตอบโจทย์การเพิ่มผลผลิตหอยลายทั้งจากการเพาะเลี้ยงและการเติบโตตามธรรมชาติ สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมของแหล่งหอยลาย รวมทั้งการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน น่ายินดีที่มีหน่วยงาน สวก. สนับสนุนงบประมาณ และคณะวิจัยที่คิดทำงานวิจัยนี้ ต่อไปกรมประมงคงมี “โมเดลขยายผล” แหล่งหอยลายในอีกหลายๆ พื้นที่ สนใจสอบถามข้อมูล ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง โทร. (02) 940-6529