ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า การบริหารจัดการพื้นที่ภาคการเกษตรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ Agri-Map หรือ Agricultural Map For Adaptative Management คือ แผนที่เกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก ซึ่งรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์และข้อมูลประกอบอื่นๆ เช่น ดิน น้ำ พืช ประมง ขอบเขตการปกครองการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประชากร ทะเบียนเกษตรกร การตลาด และโลจิสติกส์ ซึ่งจะบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การใช้งาน Agri-Map มีแนวคิดที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตร แผนที่ความเหมาะสมของการปลูกพืช (Zoning ดิน น้ำ พืช) ปัจจัยการผลิต พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลทำเป็นแผนที่รายจังหวัด จากข้อมูลขอบเขตการปกครอง การใช้ที่ดินในปัจจุบัน พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจรายชนิดที่ปลูกในปัจจุบัน แหล่งน้ำ ผิวดิน/บ่อบาดาลในปัจจุบันและแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ระหว่างปี 2560-2570 ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านการบริหารจัดการด้านเกษตรในการปลูกพืชให้เหมาะสม
“พื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ประกอบไปด้วยพื้นที่ถึง 23 อำเภอ ซึ่งการทำเกษตรส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การรวมกลุ่ม จึงทำให้ในเรื่องของการลดต้นทุน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตไม้ผล ซึ่งจังหวัดของเราก็ถือว่าผลิตไม้ผลมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น จึงทำให้เกษตรกรในทุกสาขาของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปรับตัว และนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้การผลิตพืชผลทางการเกษตรมีผลกำไรมากขึ้น” คุณขจรเกียรติ กล่าว
ทำเกษตรเน้นเชิงท่องเที่ยว
เพื่อให้ผู้บริโภคชิดใกล้เกษตรกร
ซึ่งภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย จึงทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมประจำถิ่นต่างๆ ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ในภาคการเกษตรเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสกับวิถีการทำเกษตรต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะเรื่องสามารถเข้าไปสัมผัสกับการทำเกษตรในแบบที่ตนเองชื่นชอบได้อย่างใกล้ชิด
“แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก็มีเกษตรกรหลายๆ พื้นที่ที่มีการปรับตัวมาดำเนินการอย่างนี้มากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในการทำเกษตรที่หลากหลาย สามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้อย่างใกล้ชิด ทุกขั้นตอนการผลิต เช่น คนชอบไม้ผล ก็มีสวนที่ผลิตไม้ผลให้เข้าไปชม สามารถทานผลไม้สดๆ จากสวน จึงเป็นจุดเด่นสร้างจุดขายให้กับเกษตรกรได้ดีทีเดียว ส่วนตามชายฝั่งที่มีการเลี้ยงปูทะเล นักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องนี้ก็สามารถไปดูการเลี้ยงได้เช่นกัน จึงเรียกได้ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ครอบคลุมให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสในวิถีเกษตรนั้นๆ” รองผู้ว่าฯ บอก
ส่งเสริมสินค้าคุณภาพ
ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน
ในด้านของการส่งเสริมให้การทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของเกษตรกรภายในจังหวัดนั้น คุณขจรเกียรติ บอกว่า ได้มีการส่งเสริมไปยังสำนักงานเกษตรต่างๆ ในแต่ละอำเภอ ให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างผลกำไรที่ทำต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“ในเรื่องของการตลาดเอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้มีการติดต่อกับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรภายในจังหวัดสามารถระบายออกไปได้ทุกทิศทาง นำรายได้สู่เกษตรกร ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างที่บอก เราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชื่นชอบอะไรที่หลากหลาย จึงทำให้ของฝากต่างๆ ทั้งสินค้าพื้นบ้าน และผลผลิตทางการเกษตรเอง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจและซื้อไปมอบให้แก่กัน ดังนั้น ในเรื่องของสินค้าปลอดภัยทางเราเองก็ได้มีการรับมือ และเน้นย้ำในการผลิตอยู่เสมอ นักท่องเที่ยวจึงมั่นใจได้ว่า ได้ซื้อสินค้ามีคุณภาพ เป็นอาหารปลอดภัย และที่สำคัญราคาเหมาะสม” คุณขจรเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ คุณขจรเกียรติ รองผู้ว่าฯ ทิ้งท้ายไว้ว่า การทำเกษตรกรรมเพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้นั้น ในเรื่องของการปรับตัวในทุกด้านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เกษตรกรควรให้ความสำคัญ อย่างเช่น การรวมกลุ่ม เป็นการสร้างความเข้มแข็งทั้งการผลิตและการตลาดที่ทำให้สินค้ามีการต่อรองในเรื่องของราคาได้ ส่วนในเรื่องของการลงทะเบียนเกษตรกรเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ จึงขอให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในการทำเกษตรในสาขาต่างๆ ขอให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เมื่อมีปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติหรือในเรื่องของราคาตกต่ำ ทางหน่วยงานต่างๆ จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที