ทุเรียนไทย อยู่ในยุคกำลังรุ่งเรือง แต่ไม่ควรประมาท

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ปีนี้ทุเรียนราคาดีมาก ถือว่าเป็นปีทองก็ว่าได้ อยากทราบว่า อนาคตจะล้นตลาดเหมือนพืชเกษตรชนิดอื่นหรือไม่ ซึ่งมีการพูดคุยกับเพื่อนๆ ว่าเกรงจะเป็นเช่นนั้น หากมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น คุณหมอเกษตรมีความเห็นประการใด และผมอยากทราบว่า ดินภูเขาไฟมีข้อดีอย่างไรกับการปลูกทุเรียน ผมขอคำแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

สุรเวช ศิริวัฒนวงศ์

นครปฐม

ตอบ คุณสุรเวช ศิริวัฒนวงศ์

ขอพูดถึงเรื่องดินภูเขาไฟ กับการปลูกทุเรียนก่อนครับ โดยธรรมชาติของดินภูเขาไฟ จะอุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน และมีหินพรุน หรือหินภูเขาไฟปะปนอยู่ด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดาย ผมไม่มีข้อมูลรายละเอียดของดินภูเขาไฟที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง เพราะดินภูเขาไฟที่นี่เป็นภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ ธาตุสำคัญอื่นๆ อาจถูกชะล้างไปหมดแล้ว

แต่ที่แน่นอนจะยังคงอุดมไปด้วยหินกรวดภูเขาไฟ ที่โปร่งเบา ช่วยระบายน้ำได้ดี ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า ได้ยาก นี่คือจุดเด่นของการผลิตทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าว

กลับมาดูสถิติการผลิต การบริโภค และการส่งออกทุเรียนไทย จัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2561 รายงานว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว 605,000 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 634,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1,050 กิโลกรัม ต่อไร่ มีต้นทุนการผลิต 16,060 บาท ต่อตัน ได้ผลตอบแทนสุทธิ 55,750 บาท ต่อตัน ปริมาณที่ใช้บริโภคภายในประเทศ เพียง 121,000 ตัน เท่านั้น ส่วนอีก 513,000 ตัน ส่งออกไปยังจีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ เรามีประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ มาเลเซีย และออสเตรเลีย

ในปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน คาดว่าปีหน้าผลผลิตทุเรียนจะลดลงอย่างแน่นอน จึงยังทำให้ทุเรียนยังขายได้ราคาดีต่อไป

กรณีที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขอบเขต ย่อมเกิดปัญหาในระยะยาว จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ดี ภาครัฐต้องทำงานอย่างจริงจัง อย่าให้มีการปั่นราคาเหมือนกรณียางพาราก็แล้วกัน