ตำนานการผลิตวัวนมและการจัดการ (ตอนที่ 1)

ความเป็นมา

ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายๆ ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรไม่ได้บริโภคนมมาแต่ก่อน แต่เรามีอาหารอื่นๆ โดยธรรมชาติชดเชยให้ เราจึงไม่ได้คิดถึงนมกันเท่าไร จึงไม่มีวัวนมเลี้ยงกันในเขตเหล่านี้แต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทยไม่เคยรู้จักนม และวัวนมมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง วัวนมพันธุ์ขาวดำ ที่ทหารญี่ปุ่นเอามารีดนมกินกันในช่วงสงคราม จึงเหลือตกทอดมาสู่คนบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะแขก (ชาวอินเดีย-ปากีสถาน) เอาวัวพวกนี้มาเลี้ยงและผสมพันธุ์กับวัวบังกาลา ของตน จนมีวัวลูกผสมเลือดจางๆ ของวัว  ขาว-ดำที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้

ชาวอินเดียซึ่งเขากินนมกันอยู่แล้ว ถ้าเอาวัวพวกนี้มารีดนมขายด้วย มีมากแถวๆ ท่าดินแดง บุคคโล ดาวคะนอง ฝั่งธนบุรี ฝั่งพระนครก็มีมาก แถวสะพานควาย ถนนตก (สีลม) นอกจากนมวัวแล้ว เขายังรีดนมแพะมาขายด้วย นมที่แขกเอามาขาย ผู้ซื้อจะเอามาต้มให้เดือดเสียก่อน จึงจะใช้ดื่ม หรือเติมผิวหน้ากาแฟ ร้านกาแฟที่ใช้ครีมนมสด และกาแฟนมสด ชื่อดังที่สุดในสมัยเมื่อ 50 กว่าปีมา คือร้าน กาแฟนายปอ เวิ้ง นครเกษม ต่างจังหวัดก็มีมากหน่อย ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้มมาขายกันริมทางทีเดียว

ต่อมากลิ่นอายโคนมเริ่มโชยมาเมื่อปี พ.ศ. 2495 เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโคนมพันธุ์แท้ เข้ามาเลี้ยงทดลองที่มหาวิทยาลัย การเลี้ยงวัวนมก็เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2497 และฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ในปี พ.ศ. 2505 คนไทยเริ่มดื่มนมเป็นอาหารมากขึ้น ในรูปแบบพาสเจอไรซ์บ้าง ยูเอชที บ้าง ฯลฯ

 

สถิติจำนวนวัวนมในประเทศไทย

ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศ กรมปศุสัตว์ ปี 2555

– มีวัวนมทั้งหมด 577,824 ตัว

– เป็นวัวนมเพศเมีย 562,504 ตัว

แม่วัวรีดนม 258,030 ตัว

อายุ 1 ปี ถึงตั้งท้องแรก 134,326 ตัว

เกิด ถึง 1 ปี 112,048 ตัว

 

ปริมาณและมูลค่าการนำเข้า ส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นมของไทย

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมในปี 2555 ลดลงจากปี 2554 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ในปี 2554 มีการส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นม 104,533 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,328.28 ล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้า 197,603 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18,419.42 ล้านบาท ขาดดุล 13,091.14 ล้านบาท ในปี 2555 มีการส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นม 94,457 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,598.40 ล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้า 243,807 ตัน มูลค่า 20,344.52 ล้านบาท ขาดดุล 15,746.12 ล้านบาท

การขาดดุลการค้า เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมเพื่อการบริโภค และผลิตภัณฑ์นมสำหรับสัตว์โดยส่วนใหญ่นำเข้าจาก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

 

พันธุ์ของวัวนมในโลกนี้

(เฉพาะที่ใช้ประโยชน์มากที่สุด) แบ่งได้เป็นสองพวกใหญ่ๆ ดังนี้

ก. วัวฝรั่ง บางทีก็เรียกว่า วัวยุโรป (Bos taurus)

ข. วัวแขก บางทีก็เรียกว่า วัวซีบู (Bos indicus)

ซึ่งต่อไปจะได้กล่าวแต่ละพวกแยกกันไป พร้อมเอ่ยชื่อของพันธุ์วัวที่เด่นๆ ที่คนเราเอามาใช้รีดนมกัน พร้อมบอกลักษณะของมันไปด้วย

                        วัวฝรั่ง

วัวฝรั่ง (Bos taurus)

  1. มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวและอบอุ่น
  2. ขนคลุมลำตัวทั่วตัวและยาว
  3. ไม่มีหนอก (ตะโหนก) สันหลังตรง ตั้งแต่สันคอจนถึงโคนหาง บั้นท้ายไม่ลาดชัน
  4. ผิวหนังตึง ไม่หลวมๆ เหมือนวัวแขก
  5. หางและพู่หางสั้น กว่าวัวแขก
  6. ใบหูค่อนข้างเล็ก และไม่กว้างใหญ่
  7. เหนียง (ใต้ลำคอ) ไม่หย่อนยาน
  8. หนังหุ้มลึงค์ ไม่หย่อนยาน มักอยู่ติดกับลำตัวใต้ท้อง ยึดติดกับลำตัว ในตำแหน่งที่พอเหมาะ
  9. เต้านม ทั้งเต้า รูปทรง เป็นทรงกระทะ หัวนม ไม่อยู่ชิดกัน มักอยู่ในตำแหน่งตามจุด เป็นรูปสี่เหลี่ยม เต้านมทรงกระทะ แสดงถึงว่ามีความจุน้ำนมได้มากกว่า
  10. โดยปกติหัวนมคู่หน้า มีความจุน้ำนม ข้างละ 20 เปอร์เซ็นต์ หัวนมคู่หลัง มีความจุน้ำนม ข้างละ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารีดนมด้วยเครื่อง น้ำนมคู่หน้าจะหมดก่อน คู่หลังอาจทำให้วัวรำคาญได้
  11. สั่นผิวหนังเฉพาะที่ไม่ได้อย่างวัวแขก ที่สั่นไล่แมลงได้เมื่อโดน กัด ทิ่มแทง
  12. ไม่ทนอากาศร้อน ถ้าอุณหภูมิระหว่าง 12-26 องศาเซลเซียส จะสบายๆ มาก
  13. ไม่ชอบอากาศที่ร้อนชื้น เช่น ในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ ความชื้นที่ว่านี้ หมายถึง มีไอน้ำในอากาศมากกว่า 70-80 ขึ้นไป วัวพวกนี้ ถ้าอุณหภูมิสุดโต่ง เช่น ร้อนจัด เวลากลางวัน เช่นที่ 42 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นต่ำมาก และตอนกลางคืน กลับเย็นจัด เช่น ในทะเลทราย วัวอยู่ได้สบายกว่าร้อนชื้น อย่างบ้านเราเสียอีก
  14. ไม่มีความต้านทานต่อโรค ไข้เห็บ (ไพโรพลาสโมซีส) และอนาพลาสโมซีส
  15. ไวต่อการเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยมาก (Food and Mouth Disease, FMD)
  16. ไวต่อการเป็นโรคแท้งติดต่อ (บรูเซลโลซีส)
  17. ต้องการอาหารคุณภาพดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอาหารข้นหรืออาหารหยาบ มีลำไส้สั้นกว่าวัวแขก จึงใช้ประโยชน์จากอาหารสู้วัวแขกไม่ได้
  18. ข้อดีมากๆ อย่างหนึ่งคือไม่ต้องใช้ลูกมากระตุ้นก่อนรีดนม

ความจริงแล้วพวกฝรั่งเขากินนม และเนย (ผลิตผลจากนม) เพื่อต่อสู้กับความหนาวให้ร่างกายอบอุ่น มาเป็นพันๆ ปี แล้ว เขาจึงเลี้ยงวัวนมไว้เป็นอาหารเพื่อรีดนมกิน จึงต้องปรับปรุงคัดเลือกวัวนมควบคู่กันไป ตลอดระยะเวลา ไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี ที่ผ่านมา จนปัจจุบันความรู้เรื่องการคัดเลือกพันธุ์ได้พัฒนามาไกลมากแล้ว ยังคงพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยไป

วัวนมฝรั่งในโลกนี้ ดูเหมือนจะมีแหล่งกำเนิดมาจากในทวีปยุโรปแห่งเดียว ในทวีปอเมริกาเหนือ (รวมแคนาดา) อเมริกาใต้และทวีปออสเตรเลีย (รวมนิวซีแลนด์) ไม่มีวัวตระกูลยุโรป หรือเราเรียกในที่นี้ว่าวัวฝรั่ง (Bos taurus) มาแต่ก่อนเลย ที่มีอยู่ก็เพราะพวกอพยพย้ายถิ่นฐานนำเอาเข้าไปเลี้ยงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัวเนื้อหรือวัวนม เช่น ในอเมริกาเหนือ เขาว่าเขามีควายป่าอยู่พันธุ์หนึ่ง ชื่อ ไบชั่น (Bison) ความจริงแล้วไม่ใช่ควาย แต่มันเป็นวัวป่าตระกูลหนึ่ง เอามาผสมกับวัวธรรมดาได้ลูกออกมา เขาเรียกว่า “Cattalo” บางคนก็เรียกว่า “Beefalo”

วัวนมที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนามากที่สุดคือ ในประเทศสหรัฐอเมริกา งานของเขาปรับปรุงเฉพาะทางคือ วัวนมก็ผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ให้มีน้ำนมมากไปทางเดียว จนถึงกับวางกฎเกณฑ์กันว่า รูปร่างลักษณะของวัวนมจะต้องมีหน้าตารูปร่างอย่างไร เช่น รูปทรงเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เจ้าเนื้อมาก เป็นต้น ส่วนวัวเนื้อก็ผสมพันธุ์คัดเลือกให้มีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีนมมากพอเลี้ยงลูกได้สบายๆ มีเนื้อมากและเนื้อนุ่ม เป็นต้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ทำเช่นเดียวกับในอเมริกา

ส่วนในยุโรปนั้น บางฟาร์ม บางประเทศเท่านั้นที่แยกวัวเนื้อและวัวนม แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่กึ่งกลางคือ ทวิประสงค์ (ผู้เขียนตั้งเอง) เรียกเป็นภาษาฝรั่ง Dual purposes คือวัวตัวหนึ่งเป็นวัวเนื้อก็ได้ เป็นวัวนมก็ได้

ฉะนั้น ถ้าใครคิดแบบอเมริกันในเมืองไทย เวลาจะใช้เชื้อพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ น่าจะเลือกใช้วัวที่มาจากแหล่งของอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ จะได้วัตถุประสงค์ตรงเป้าหน่อย ถ้าขืนไปใช้จากยุโรปแล้วจะได้ผลช้ามาก

ดังได้กล่าวแล้วว่า อเมริกาไม่มีวัวนม-เนื้อ ในพื้นบ้านของเขาเอง แต่ได้พัฒนาการคัดเลือกพันธุ์ การให้อาหารทั้งข้นและหยาบ ตลอดจนถึงการจัดการ เพื่อเป็นธุรกิจการทำฟาร์มวัวนม จนเกิดเป็นการชอบพอหรือถือหางพันธุ์วัวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง ขึ้นมาโดยเข้าร่วมตัวก่อตั้งเป็นสมาคม พันธุ์วัวนั้น วัวพันธุ์นี้ขึ้นมาปรับปรุง สนับสนุนกันทุกวิถีทาง พันธุ์ใคร พันธุ์มัน ซึ่งจะได้ขอเอ่ยนาม ชื่อของพันธุ์วัวนมบางพันธุ์ มาพอเข้าใจอย่างสั้นๆ ที่สุด รายละเอียดนั้นมีผู้เขียนไว้มากมาย หาอ่านเองได้ ผู้เขียนเองก็รู้จักไปหมดซะเมื่อไร (ไม่ใช่ Mr.Know it all) จะได้เรียงลำดับความนิยมการเลี้ยงมากน้อย ดังนี้

  1. พันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน (Holstein Friesian)

คนอเมริกันหลายๆ คนเรียกกันว่า โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน (Holstein Friesian) แต่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งคนไทย) นิยมเรียกว่า “ขาวดำ” ฝรั่งเรียกว่า Black and white (ดำ-ขาว) ง่ายดี เพราะว่ามันมีสีขาวกับสีดำ สลับอยู่ตามลำตัว

– กำเนิดในประเทศเนเธอร์แลนด์ แคว้นโฮลสไตน์กับฟรีเซี่ยน ตอนเหนือของประเทศเยอรมนี คือในทวีปยุโรปเป็นวัวที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่

– เมื่อเอามาเลี้ยงดูในสภาพที่เหมาะสมของมัน จัดว่าเป็นวัวนมที่ให้น้ำนมมากที่สุดของโลก มีไขมันอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.5 เปอร์เซ็นต์

– เป็นวัวที่มีแหล่งพันธุกรรม (Gene pool) กว้างมาก ผู้คนจึงนิยมเลี้ยงวัวพันธุ์นี้กันมากที่สุด หาแหล่งพันธุกรรมมาปรับปรุงแต่งพันธุกรรมของตัวเองได้ง่ายที่สุดและโอกาสประสบผลสำเร็จมีเร็วขึ้น

– ในเขตหนาวและอบอุ่น เขาจะเลี้ยงวัวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์แท้ในฟาร์มของตัวเอง

ข้อคิด เป็นที่น่าสังเกตว่า วัวพันธุ์นี้ทั้งในอเมริกาและแคนาดา จะมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพอสมควร ตัวใหญ่ในสภาพอเมริกาและแคนาดา ก็อาจเหมาะในสภาพแวดล้อมบ้านเขา ส่วนในออสเตรเลีย มีสภาพแวดล้อมแตกต่างออกไป โดยเฉพาะวัวต้องพึ่งทุ่งหญ้าเป็นหลัก อาหารผสมใช้เล็กน้อย วัวตัวเล็กอาจได้เปรียบกว่า สำหรับนิวซีแลนด์ วัวกินแต่หญ้าสดอย่างเดียว จากแปลงหญ้าซึ่งเขียวทั้งปี กับอาหารแร่ ไม่เคยได้ลิ้มรสชาติอาหารผสมเลย วัวตัวเล็กกว่าน่าจะเหมาะกับสภาพแวดล้อมอย่างนี้มากกว่า

อย่างที่เขาพูดกันว่า “The smaller, the more efficiency : ตัวเล็กมีประสิทธิภาพสูงกว่าตัวใหญ่” เขาเปรียบเทียบว่า ถ้าแพะตัวเท่าวัว จะมีนมมากเป็น 3 เท่าของวัวต่อวัน ที่เอ่ยมานี้เพียงให้พวกเราสะกิดใจดูสักนิด เวลาจะเลือกต้นตอพ่อพันธุ์ของวัวมาใช้ในฝูงของเรา คือหาจุดพอดี ที่ให้นมมากพอ คุ้มกับต้นทุน (Optimal production) เนื่องจากวัวขาวดำ มีแหล่งพันธุกรรมที่กว้างกว่า จึงน่าจะนำมาใช้ผลิตวัวนมลูกผสม ส่วนจากแหล่งใด ใช้วิจารณญาณเอาเอง บ้านเรากำลังทำฟรี-บราห์ ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป

  1. วัวพันธุ์เจอร์ซี่ย์ (Jersey)

– สี Fawn (น้ำตาลปนแดง)

– กำเนิดในประเทศอังกฤษ

– เป็นวัวนมที่มีขนาดเล็กมากที่สุด

– ได้ชื่อว่าเป็นวัวที่มีลักษณะเต้านมสมบูรณ์แบบ ตามลักษณะของวัวนมมากที่สุด ในกระบวนวัวนมทั้งหลายทั้งปวง

– ฐานเต้านมทรงกระทะสุดๆ ผิวเต้านมบางมากเมื่อเทียบกับวัวพันธุ์อื่นๆ ตำแหน่งของหัวนมก็อยู่ถูกที่สม่ำเสมอ (ตัวอย่างผิวเต้านมหนา เช่น ในวัวบราห์มัน เขาเรียกว่า เป็น beefy udder)

– มีนมไม่มากมายเหมือนวัวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งก็พอสมน้ำสมเนื้อกับขนาดของมัน แต่ถ้าเทียบกับวัวนมบ้านเรา ก็ถือว่ายังสูงกว่ามาก

– มีไขมันสูง ตั้งแต่ 5.0-7.0 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรมักเลี้ยงวัวเจอร์ซี่ย์ ไว้ขายมันเนย (butter) แก่โรงงาน

– โดยเหตุที่มีรูปทรงเป็นทรงวัวนมจัด จึงมักจะค่อนข้างเปราะบาง

– ข้อสังเกตที่เห็นชัดคือ ตาโตเหมือนโปนออกมาหน้าผาก บุ๋มเป็นก้นจาน คางค่อนข้างสั้น หน้าตาดูตลกๆ ดี

– เคยทำลูกผสมเจอร์ซี่ย์กับพวกบังกาลา ให้นมดีพอสมควร ระหว่าง 10-14 กิโลกรัม/วัน (ลูก 50 เปอร์เซ็นต์)

ข้อคิด การใช้วัวเจอร์ซี่ย์ ทำเป็นลูกผสมกับวัวแขก น่าจะไปได้ดี

– วัวลูกผสมเจอร์ซี่ย์-วัวแขก ให้นมดีทุกตัว เชื่องเหมือนวัวนมทั่วไป ลูกผสมวัวแขกทุกพันธุ์สำคัญคือ เวลาเข้าออกรีดนมอย่าพรวดพราด มันตกใจมันอาจเตะเอาได้

– ลูกผสมระหว่างเจอร์ซี่ย์กับวัวแขก เช่น เรดซินดี้ กับซาฮิวาล ในหลุยส์เซียนา และประเทศจาเมกา เรียกว่า Jamaica Hope เคยเป็นวัวนมลูกผสมชั้นดีมาในอดีต ต่อมาก็จางหายไป คงเนื่องจากมีปัญหา การขาดแม่พันธุ์และการลงทุนมากกว่า

(อ่านต่อฉบับหน้า)