วิสาหกิจชุมชนเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พัทลุง รุกตลาดนอก ตั้งเป้าผลิตเดือนละล้านตัว

คุณฤชัย วงศ์สุวัฒน์ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุงจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง โดยมี คุณศักดิ์นรินทร์ ทองสีดำ เป็นประธานกรรมการ และทางวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง ทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง โดยจะใช้พื้นที่ทางการศึกษา ของสาขาวิชาประมง ซึ่งมีอาคารโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ แปรรูป บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กับนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากทางด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชน และนักศึกษาของวิทยาลัยเกษตรกรรม ที่เมื่อเรียนจบแล้ว ก็จะเข้าทำงานในวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง และประกอบอาชีพได้

คุณฤชัย กล่าวอีกว่า จะเกิดผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงทางภาคใต้ ซึ่งเดิมจะต้องสั่งลูกปลามาจากจังหวัดนครนายกและจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต เพราะค่าขนส่งเป็นเงินจำนวนมาก ทางเกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขึ้น โดยได้ใช้พื้นที่ของวิทยาลัยเกษตร ซึ่งขณะนี้มีการเพาะพันธุ์ปลาดุก ปลาหมอ กบ เบื้องต้น ซึ่งมีออเดอร์ทั้งในพื้นที่ ในประเทศ ประเทศมาเลเซีย โดยมีเป้าหมายภาพรวมผลิต เดือนละ 1 ล้านตัว ขณะนี้ในเบื้องต้นสามารถผลิตปลาดุก เดือนละ 400,000 ตัว ปลาหมอ เดือนละ 20,000 ตัว และกบ 100 ตัว และถัดไปจะเพาะพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และกุ้ง โดยจะเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ตามความต้องการของตลาด

“สำหรับราคาแล้วแต่ขนาด มีตัวละ 2 บาท ตัวละ 3.50 บาท และ 4 บาท สำหรับปลาได้ขนาดออกขายในท้องตลาด ปลาดุก ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 50 บาท และ 75 บาท ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่และตลาด และปลาทับทิม 100 บาท ต่อกิโลกรัม”

คุณฤชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางด้านการตลาดมีทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และในประเทศมาเลเซีย และยังมี บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) นอกนั้นยังเปิดขายให้กับบุคคลทั่วไป และให้เป็นตัวแทนขายส่งด้วย ทั้งนี้อาชีพประมงสัตว์น้ำ ยังมีแนวโน้มอนาคตที่ดี และการตลาดยังต้องการปริมาณมาก เพราะขณะนี้พื้นที่ของสัตว์น้ำมีน้อยลงเรื่อยๆ

“วิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง เมื่อผลประกอบการมีกำไร ก็จะคืนกำไรให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เช่น เป็นเงินทุนสำหรับการศึกษานักศึกษา เงินเพื่อการศึกษาต่างๆ เป็นต้น”

ทางด้าน คุณณัฐพงศ์ สำแดง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชาประมง ชั้น ปวส. และมีสาขาย่อยงานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถรับนักศึกษาครั้งแรกได้ จำนวน 5 คน และใน ปี 2560 จะรับสมัครเพิ่ม 20 คน โดยจะเพิ่มประจำปีละ 20 คน แล้วไปเรียนชั้นปริญญาตรี ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา จบแล้วสามารถเข้าทำงานที่ บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำได้ทันที

“สำหรับสถานประกอบการศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรมีความสมบูรณ์มาก มีอาคารโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ฯลฯ ได้รับมาตรฐาน อยู่ระหว่างการดำเนินการฟื้นฟู และอยู่ระหว่างนำร่อง ซึ่งได้ร่วมกันทำ เอ็มโอยู กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงแปรรูปสัตว์น้ำจังหวัดพัทลุง”