“ชมพู่” ไม้ผลคู่บ้าน อยากลิ้มรสต้อง “ห่อ”

ชมพู่ เป็นไม้ผลที่เจ้าของบ้านอยากปลูกไม่น้อยไปกว่ามะม่วง ทั้งนี้ เพราะรสชาติดี การเจริญเติบโตของต้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ปลูกจนมีลูก ยามที่ ผลใกล้สุกแก่ ผลร่วงเต็มโคนต้น สุดท้ายก็ถอดใจ ซื้อเขากินดีกว่า…

ชมพู่ เป็นไม้ที่โตเร็ว ปลูกราวปีเศษๆ ก็เก็บผลผลิตได้ สายพันธุ์ที่คุ้นเคยในอดีตมีพันธุ์แก้มแหม่ม ผลสีชมพูยามสุกแก่ ต่อมามีพันธุ์แขกดํา ผิวผลสีนากออกดํา ชมพู่เพชรบุรี ผลสีเขียวอ่อน สุกแก่มีริ้วสีชมพู
ชมพู่รุ่นใหม่มีทูลเกล้า ผลสีเขียว เพชรสามพราน ผิวคล้ายชมพู่เพชรบุรี เพชรบ้านแพ้ว ผลใหญ่มากสีเขียวอ่อน เพชรน้ำผึ้งผลเล็กค่อนข้างยาวสีแดง แดงอินโดฯ ผลสีแดงเข้ม ทับทิมจันท์ ผลใหญ่สีแดงเข้ม ไม่มีเมล็ด เนื้อตัน

ตั้งแต่ออกดอกจนเก็บผลกินได้ ใช้เวลาไม่นานสําหรับชมพู่ ส่วนใหญ่ราวปลายปีชมพู่จะผลิดอกออกมา เมื่อดอกบานเกสรจะหล่นเป็นฝอยๆ ให้เห็น จากนั้นดอกจะพัฒนาเป็นผล เมื่อผลพัฒนา มีรูปทรง ให้ใช้ถุงพลาสติกห่อ ควรซอยผลที่ไม่สวยทิ้งบ้าง เหลือไว้ 2-3 ผล ต่อ 1 ถุงที่ห่อ โดยผลที่เหมาะสมต่อการห่อ มีลักษณะคล้ายหมวกจีน หลังห่อไม่เกิน 25 วัน ก็เก็บผลผลิตได้

โดยทั่วไปแล้วเขาจะพ่นสารเคมีกันแมลงและเชื้อรา แต่รอบบ้านคงพ่นสารเคมีได้ลําบาก การพ่นสารเป็นการป้องกันแมลงวันผลไม้ การห่อผลจะช่วยได้ระดับหนึ่ง อาจเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม แมลงวันผลไม้นั้นระบาดมากช่วงที่มีผลไม้มากอย่างฤดูมะม่วง ยังพอไหวสําหรับชมพู่ เพราะเริ่มมีดอกปลายปี การระบาดของแมลงวันผลไม้ยังไม่มาก

ชมพู่พันธุ์เพชรสามพราน

ทรงต้นของชมพู่มีผลต่อการห่อเช่นกัน ถ้าปลูกไว้ใกล้บ้านควรตัดแต่ง อย่าเสียดาย! ควรตัดยอดออกบ้างหากต้องการห่อ หากไม่ตัดจะสูงเท่าหลังคาบ้านนั่นแหละ

หากต้องการดูแลแบบเข้มข้น เมื่อชมพู่ติดผลควรห่อให้หมด หากปล่อยที่เหลือไว้จะเป็นตัวชวนให้แมลงเข้ามาตอม

ปัญหาใหญ่ของชมพู่คือ แมลงเจาะผล ทุกวันนี้สายพันธุ์ชมพู่มีจําหน่ายอยู่ทั่วไป ง่ายที่สุดคือปลูกแล้วเห็นผลแน่คือ ชมพู่ทูลเกล้า ต้นพันธุ์ไม่น่าจะเกิน 20 บาท…ยากขึ้นมาหน่อยเป็น เพชรสามพราน เพชรน้ำผึ้ง และทับทิมจันท์ ชมพู่ไม่หวาน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 0-0-60 จะให้รสชาติดีขึ้น

ชมพู่ทับทิมจันท์
ชมพู่ทับทิมจันท์
ชมพู่เพชรสายรุ้ง
ต้นชมพู่เพชรสายรุ้งอายุนับ 40 ปี