พินิจ จารุสมบัติ นำร่องแก้ปัญหาราคายาง ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน สู่ยางพาราบึงกาฬ 4.0

ที่ผ่านมา แม้ว่าชื่อของ “คุณพินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี จะห่างหายไปจากวงการการเมืองนาน นานพอที่จะทำให้ใครต่อใครหลายคนลืมบทบาทในหลายๆ แง่มุมของเขาไปแล้ว แต่แท้ที่จริงคุณพินิจ ยังคงโลดแล่นและเป็นที่รู้จักในวงการเกษตร ที่เอ่ยให้แคบลงไปกว่านี้ก็คือ วงการเกษตรกรผู้ทำสวนยางพารา โดยเฉพาะในจังหวัดแถบภาคอีสาน หรือจะให้ชัดกว่านี้ก็จังหวัดบึงกาฬ ที่ประกาศให้เป็นจังหวัดล่าสุด ลำดับที่ 77 เพราะจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้ คุณพินิจมีความมุ่งมั่นมาก่อนหน้านี้หลายปี ในการบุกเบิกปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางมากเป็น อันดับ 1 ของภาคอีสาน

ย้อนไปก่อนหน้านี้ คุณพินิจ จารุสมบัติ ยังคงทำงานในภาคสังคม เพื่อช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะสามารถ โดยการทำหน้าที่ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ และใช้บทบาทดังกล่าวดึงนักลงทุนจากจีนให้เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา เนื่องจากคุณพินิจให้ข้อคิดในการแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืนไว้ตลอดมาว่า ต้องแปรรูปเท่านั้น ราคารับซื้อยางพาราจึงจะไม่ตกต่ำจนทำให้เกษตรกรสวนยางพาราประสบภาวะขาดทุน ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราที่ยั่งยืน

และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การก่อตั้งโรงงานยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬดีขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณพินิจมีส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาวสวนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬอย่างแท้จริง

ปีนี้ เป็นปีที่ 5 ของการจัดงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานประจำปีของชาวจังหวัดบึงกาฬไปแล้ว คืองานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560 และงานดังกล่าว คุณพินิจ บอกกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เป็นงานที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทำให้เกษตรกรหลายรายไม่จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ก็สามารถปรับตนเอง หาช่องทางจำหน่ายไปยังประเทศจีนได้อย่างง่ายดาย

“งานวันยางพาราบึงกาฬ ถือเป็นเวทีดีเวลล็อปเม้นท์ให้ผู้ค้ามาพบกัน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่นำความรู้มาให้กับชาวสวนยางพารา แนะนำวิธีเพิ่มมูลค่าน้ำยาง ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ผมมั่นใจว่า ยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬ จะต้องก้าวไปถึง 4.0 ก่อนใคร เพราะจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ นำมาใช้ มีโรงงานของสหกรณ์บึงกาฬที่ทันสมัย ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เเปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และในงานนี้ยังมีเครื่องกรีดยางอัตโนมัติใช้รีโมทจากไฟฟ้าหรือโซลาร์เซลล์ เพื่อกรีดยางที่พัฒนาสมบูรณ์เเล้ว ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างรายได้ ยิ่งในช่วงที่เเรงงานขาด”

เหตุผลที่ วันยางพาราบึงกาฬ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี คุณพินิจ กล่าวว่า เพราะงานวันยางพาราบึงกาฬ มีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเกษตร อันดับ 1 ที่ขับเคลื่อน จีดีพี ของประเทศ ซึ่งเรื่องยางพาราเป็นเรื่องระดับโลก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยาง อันดับ 1 สามารถผลิตได้กว่า 4 ล้านตัน ต่อปี จากปัญหาอุทกภัยส่งผลให้ผลผลิตยางลดเหลือ 3.5-3.7 ล้านตัน ประกอบกับหลายประเทศมีผลผลิตลดลง ทำให้ความต้องการยางพารามากกว่าปริมาณผลผลิต ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศการร่วมแถลงข่าวการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ

“ในครั้งที่เเล้ว เราเคยพูดว่า ถ้าลงต่ำสุดเเล้วจะพุ่งขึ้น วันนี้เราเห็นแสงสว่างแล้วด้วยการพัฒนา การเปิดตลาด เปิดโอกาส ที่มาจากการเปิดเวทีงานยางพาราบึงกาฬ ทำให้เกิดการค้า มีคู่ค้ามาพบปะกัน ทำให้หน่วยงานราชการ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางเเห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสมาให้ความรู้การพัฒนาเเละบอกเทคนิคกับชาวสวนยาง ยังมีเรื่องของนวัตกรรมถนนยางพารา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีเรื่องกรวยยางพารา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการเปิดเวทียางพาราบึงกาฬเเละกาชาด”

คุณพินิจ กล่าวอีกว่า บทบาทงานวันยางพาราบึงกาฬ ยังมีผลสะเทือนต่อตลาดโลกเเละตลาดจีน เพราะจีนเป็นผู้ใช้ยางจำนวนมากที่สุดในโลก และงานในปีนี้มีเนื้อหาเข้มข้น มีการพัฒนาการจัดงานเเบบชาวบ้านไปสู่มืออาชีพเเล้ว แล้วปีนี้พัฒนาไปสู่นานาชาติ นอกจาก สปป. ลาว ยังมี มาเลเซีย กัมพูชา อินเดีย เเละจีน เข้ามาร่วมงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่หลายประเทศจะหันมาสนใจและเดินทางมาร่วมงานเช่นครั้งนี้”

สำหรับการร่วมทุนก่อตั้งโรงงานแปรรูปน้ำยาง ระหว่างไทย-จีน โดยคุณพินิจบอกว่า เกิดขึ้นแน่นอน เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง มูลค่า 200 ล้านบาท ที่คุณพินิจเองร่วมทุนกับรับเบอร์วัลเล่ย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยางพาราของประเทศจีน ซึ่งโรงงานผลิตยางแท่งนี้ จะก่อตั้งที่บ้านโนนไพศาล อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ มีความสามารถในการรับซื้อน้ำยางสด ไม่ต่ำกว่า วันละ 60 ตัน โดยผลผลิตที่ได้จากน้ำยางในรูปของยางแท่งจะเน้นส่งออก เพื่อป้อนตลาดจีน และที่สำคัญ คุณพินิจจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจ และมีรายได้จากการปันผลเมื่อโรงงานมีกำไร

นอกเหนือจากการมีโรงงานแปรรูปผลิตยางแท่งไว้รองรับ ในมุมมองของคุณพินิจ มองกว้างไปกว่านั้นว่า พื้นที่จังหวัดบึงกาฬ สามารถส่งออกผลผลิตจากยางพาราไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะอนาคตจังหวัดบึงกาฬ จะเป็นเส้นทางการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตอกย้ำบทบาทบึงกาฬในนามของเมืองหลวงยางพารา เพราะทันทีที่สะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) แล้วเสร็จ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากบึงกาฬไปถึงท่าเรือจังหวัดฮาติงห์ ประเทศเวียดนาม และส่งต่อวัตถุดิบทางเรือไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก

ปัญหาอีกประการ สำหรับชาวสวนยาง ที่คุณพินิจมองว่าไม่ควรมองข้าม เพราะเชื่อว่าทุกภาคที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราต้องประสบคือ ปัญหาแรงงานกรีดยาง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกรีดยาง ลดปัญหาแรงงานลงได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังช่วยให้น้ำยางมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ เพราะสามารถควบคุมการกรีดได้ตามเวลาที่อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการกรีดยางได้อีกด้วย

การติดตั้งภายในสวนยางพารา

“ทางรับเบอร์วัลเล่ย์ บริษัทใหญ่ของจีนคิดค้นเครื่องมือกรีดยาง ที่สามารถกรีดยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำยางมีคุณภาพ การกรีดยางต้องกรีดในช่วงที่อุณหภูมิ 19-20 องศาเซลเซียส น้ำยางที่ได้จะมีคุณภาพดี ซึ่งการกรีดยางหากได้แรงงานที่ไม่ชำนาญการกรีด อาจกรีดลึกไปในลำต้น ส่งผลให้ลำต้นเป็นแผล หรือกรีดเบาเกินไป ไม่ถูกท่อน้ำยาง ทำให้ได้น้ำยางปริมาณน้อย มองได้ว่าการกรีดยางไม่มีประสิทธิภาพ หรือกรีดยางในขณะที่ฝนตก ก็ส่งผลให้หน้ายางเปียก แต่สำหรับเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัตินี้ สามารถติดตั้งไว้ที่ต้นยาง เจ้าของสวนยางใช้รีโมทควบคุมการกรีดยางแบบอัตโนมัติ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็หมดไป”

คุณพินิจ กล่าวด้วยว่า เครื่องมือกรีดยางอัตโนมัตินี้ ได้รับการพัฒนามาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาเคยเข้าไปเจรจาขอซื้อ เพื่อนำมาใช้ในสวนยางพาราของไทย แต่จีนหวงมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อความก้าวหน้าของการกรีดยาง ตนจึงเจรจาหลายครั้งและในที่สุดก็ได้เครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติชิ้นนี้เข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยขอเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากรับเบอร์วัลเล่ย์ บริษัทแปรรูปน้ำยางพาราจากจีน จะเข้ามาผลิตเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัตินี้ในเมืองไทย ในปี 2560 โดยราคาเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติชิ้นนี้ ต้นทุนเครื่องละประมาณ 5,000 บาท แต่ด้วยความร่วมมือที่มีมาก่อนหน้านี้ ทำให้การเจรจาสามารถทำให้ราคาต้นทุนเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติชิ้นนี้ มีราคาถูกลง โดยตนจะพยายามคุมราคาให้ไม่เกิน 4,000 บาท เพื่อให้ชาวสวนยางพาราของไทยได้ใช้ของดีมีคุณภาพ

เครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติ

“ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2560 ที่จะมีขึ้น ระหว่าง วันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ผมจะนำเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติมาโชว์ในงาน จำนวน 9 เครื่อง เพื่อให้เกษตรกรที่เดินทางมาร่วมงาน เห็นถึงประสิทธิภาพและคุณภาพน้ำยางที่ได้จากการกรีดโดยเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัตินี้ ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ความคุ้มทุนต่อราคาเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติแล้ว ไม่ต้องจ้างแรงงานที่ไหน สมัยนี้แรงงานกรีดยางหายาก เจ้าของสวนยางพาราพิจารณาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการกรีดยาง หากเห็นว่าเหมาะสมก็กดรีโมท ให้เครื่องทำงานอัตโนมัติได้”

นอกเหนือจาก จำนวน 9 เครื่อง ที่จะนำมาติดโชว์กับต้นยางพารา ภายในบริเวณงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพแล้ว คุณพินิจ บอกด้วยว่า จะติดต่อขอนำเครื่องมือกรีดยางอัตโนมัติมาติดตั้งภายในสวนยางพาราที่ตนเป็นเจ้าของ เบื้องต้นจะนำมาติดตั้ง ประมาณ 1,000 เครื่อง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชาวสวนยางพาราในพื้นที่ และประชาชนที่สนใจ

คุณพินิจ จารุสมบัติ ทิ้งท้ายว่า ในหลายจังหวัดต้องการจัดงานวันยางพาราเช่นเดียวกับจังหวัดบึงกาฬ แต่ศักยภาพที่มี ไม่สามารถทำได้ และจากวันแรกที่เริ่มต้นจัดงานวันยางพาราบึงกาฬถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 5 ก็ถือได้ว่า จังหวัดบึงกาฬไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางยางพาราของภูมิภาคอีสาน แต่เป็นเวทีระดับประเทศ และเป็นศูนย์กลางยางพาราระดับประเทศไปแล้ว