32 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน มุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นคันฉ่อง ส่องสะท้อนวงการเกษตรไทย

หากย้อนไปเปิดดูปกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์แรก วันที่ 1 ตุลาคม 2531 จนถึงปักษ์ปัจจุบัน สามารถพูดได้ว่า ตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คือสื่อหนึ่งที่เป็นกระจกส่องสะท้อนงานพัฒนาการเกษตรของไทย เพราะแหล่งข้อมูลที่นำมาเสนอ นอกจากเรื่องราวของการเกษตรแบบชาวบ้านในเขตห่างไกลแล้ว ยังมีนวัตกรรมจากส่วนกลาง ส่งย้อนกลับไปยังชนบท ช่วยให้วงการเกษตรไทยขับเคลื่อนไปอย่างรุดหน้า และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในปัจจุบัน

ถ้าดูเนื้อหาที่ลงเผยแพร่ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน สามารถบอกได้ว่าวงการเกษตรไทย พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีผู้สืบทอดอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งแต่เดิมเราได้สัมผัสกับไร่นาสวนผสม, เกษตรผสมผสาน, การปรับโครงสร้างระบบผลิตทางการเกษตร มาสู่เกษตรทฤษฎีใหม่, เศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรแปลงใหญ่ และล่าสุด ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คืออนาคตอันสดใส ที่จะพัฒนางานเกษตรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำหรับงานเกษตรของบ้านเรา มีหลายสาขา ถ้าแบ่งให้เข้าใจง่ายๆ คือ พืชไร่ พืชสวน ประมง ปศุสัตว์ เครื่องจักรกลเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งทีมงานต่างพยายามจัดหาข้อมูลมานำเสนอ ให้ผู้ที่มีอาชีพแต่ละสาขา รับไปพิจารณาและใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที่สื่อสารไป

ทั้งนี้ การยืนระยะมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน ทีมงานของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน บางคนตระเวนลงพื้นที่ไปทั่ว 77 จังหวัด บางจังหวัดไปมาถึง 4-5 รอบ เพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาเล่าให้ได้รับรู้กันในหน้าหนังสือ โดยมีทั้งทีมงานเก่าและใหม่ ผสมผสานกันไปเพื่อให้ครอบคลุมการนำเสนอในทุกมิติทางการเกษตร ซึ่งยุคแรกๆ คนต้นเรื่องเหล่านั้นไม่ใช่คนเด่นคนดัง ตรงกันข้ามบางคนอาจมีร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่เพราะมีผลงาน จึงมีโอกาสลงหน้า 1 ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จึงเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สร้างความภาคภูมิใจในอาชีพ และก่อเกิดการพัฒนาวงการเกษตรของไทย

พานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ให้ความเห็นว่า

“นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นนิตยสารแนวการเกษตรที่ก่อตั้งมาจะครบ 32 ปีในเดือนตุลาคมแล้ว เนื้อหาจะมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ และครอบคลุมทุกด้านของสาขาการเกษตร รวมทั้งยังมีเทคโนโลยีการเกษตรต่างประเทศมานำเสนอ ซึ่งภาษาที่ใช้นำเสนอนั้นเราใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และเรายังเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกภูมิภาค ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ มานำเสนอผลงาน และแนวคิดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตร ซึ่งขณะนี้เราเป็นนิตยสารเกษตรอันดับ 1 ของประเทศไทย”

กว่า 3 ทศวรรษ และการก้าวสู่ในยุคสื่อใหม่มาแรง เคยมีคำถามว่า นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในรูปของกระดาษ จะอยู่กันอย่างไร จะอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน พบกับการเปลี่ยนแปลงมาบ้าง และทุกครั้งก็มีการปรับตัวได้ โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสาร คนส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเพียงแต่ลดจำนวนลงจากการบริโภคผ่านหน้ากระดาษมาสู่หน้าจอดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีชาวบ้านจึงเพิ่มช่องทางการรับรู้ผ่าน www.technologychaoban.com และ Facebook ที่สามารถเข้าถึงทุกคนทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งมีกิจกรรมอื่นที่ตอบสนองหรือสื่อสารกับผู้อ่านอีกมากมาย

โดยเว็บไซต์เพิ่มเนื้อหาที่พิเศษแตกต่างจากฉบับเล่มคือการนำเสนอเนื้อหาอิงตามฤดูกาล และข้อมูลที่อัปเดต มุ่งเป้าสนองความต้องการของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้แก่ เกษตรกร หน่วยงานต่างๆ และผู้บริโภคมากขึ้น

พานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน อธิบายว่า “เนื้อหาของเทคโนโลยีชาวบ้านมีจุดเด่นที่แตกต่าง และหลากหลาย ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มอาชีพของเทคโนโลยีชาวบ้าน เราทำในรูปแบบเว็ปไซต์เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเนื้อหาในเว็บนั้นเข้าใจง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจุดเด่นที่เราอยากเน้นคือคลังข้อมูลที่รวบรวมความรู้ด้านการเกษตร คล้ายวิกิพีเดียด้านการเกษตร โดยเราพยายามปรับตัว ปรับรูปแบบการนำเสนอให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น”

สำหรับเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เนื้อหาที่นำเสนอส่วนหนึ่งโยกย้ายมาจากในเล่ม มีคอลัมน์ใหม่ที่ต่างจากในหนังสือ และส่วนที่เพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งคือการทำคลิปวิดีโอ ซึ่งบางครั้งการอ่านจากตัวหนังสือหลายคนอาจนึกภาพไม่ออก เมื่อมีคลิปเข้ามาจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันความสนใจด้านการเกษตรมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้หลายคนเริ่มโหยหาชีวิตที่เรียบง่าย เบื่อสังคมเมือง และอยากมีเวลากลับไปอยู่กับครอบครัว เนื้อหาการนำเสนอทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ของเทคโนโลยีชาวบ้านจึงเพิ่มความหลากหลายของเรื่องราวทางการเกษตรที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเรื่องของพืช และสัตว์ ยังเป็นเนื้อหาที่มีผู้ให้ความสนใจและโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับไม้ผลกำลังได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญประเภทหนึ่งของไทย นอกจากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ไม้ผลยังสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท โดยผลไม้ของไทยเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วโลก ทั้ง ทุเรียน มะพร้าว กล้วยหอมทอง เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ

 

เพื่อให้ครอบคลุมการนำเสนอทุกมิติของการสื่อสารเรื่องราวทางการเกษตร ให้เผยแพร่ไปสู่วงกว้าง กิจกรรมที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านทำมาอย่างต่อเนื่องคือ การพาผู้สนใจลงพื้นที่ดูความสำเร็จจริงของเกษตรกรด้านต่างๆ และการจัดเสวนาให้ความรู้ด้านการเกษตร ซึ่งในโอกาสครบรอบปีที่ 32 เทคโนโลยีชาวบ้าน ถือเป็นโอกาสสำคัญ จึงจัดงานเสวนา “ไม้ผลพารวย ยุค 5G” ในวันพฤหัสฯ ที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการ ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้อย่างรอบด้าน อันจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิต และภาคธุรกิจ เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยกระดับสินค้าเกษตรไทยในเวทีตลาดโลก

งานนี้ นอกจากการร่วมพูดคุยกับ คุณชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กูรูด้านทุเรียนระดับประเทศ คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมวันละ 100,000 ลูก และคุณเสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของแบรนด์ คิงฟรุทส์ ผู้ส่งกล้วยหอมทองขึ้นห้างวันละ 15 ตัน แล้ว ในงานครั้งนี้ยังนำเสนอเทคโนโลยี 5 G เพื่อลดตุ้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทางการเกษตร โดย ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ และผู้เชี่ยวชาญจากดีแทค

พิเศษ สำหรับผู้ลงทะเบียนเข้าฟังเสวนา ทางเฟซบุ๊กTechnologychaoban หรือโทร. 02-580-0021 ต่อ 2335,2339, 2342, 2343 ยังได้รับพันธุ์ไม้ผล (จำนวนจำกัด) กลับไปปลูกที่บ้านอีกด้วย

ตราบใดที่เมืองไทยยังทำอาชีพเกษตรกรรม มีองค์กรของรัฐ และเอกชนทำงานเกี่ยวข้องกับการเกษตร มีสินค้าที่เป็นปัจจัยทางการเกษตรผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราบนั้นเทคโนโลยีชาวบ้าน และทีมงานยังคงมุ่งมั่นนำเสนอสาระที่สะท้อนวงการเกษตรไทย รวมถึงมีกิจกรรมสนุกๆ จัดขึ้นเพื่อผู้อ่านและแฟนเพจเทคโนโลยีชาวบ้านโดยเฉพาะ ……โปรดติดตาม