สหกรณ์บ้านแพรกหาฯ พัทลุง รับนวัตกรรม “ParaFIT” แปรรูปหมอน-ที่นอนยางพารา เพิ่มมูลค่าผลผลิต คุณภาพยอดเยี่ยม ลูกค้ารุมซื้อ

เอ็มเทค-สวทช. พัฒนาน้ำยางข้น “ParaFIT” ทดสอบและถ่ายทอดให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ผลิตหมอนยางพาราคุณภาพสูง รุ่น “เปี่ยมสุข” สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมทีมนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมี คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง คุณสมศักดิ์ บุญโยม รักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำยางข้นพาราฟิต ParaFIT เพื่อใช้แปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพาราที่ได้คุณภาพจากฝีมือเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ มีคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ พร้อมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ให้การต้อนรับ

(จากซ้ายไปขวา) คุณสุริยกมล มณฑา คุณปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ คุณสมศักดิ์ บุญโยม คุณอนันต์ จันทร์รัตน์ และ ดร.ฉวีวรรณ คงแก้ว

ไทยผู้ผลิตยางพารารายใหญ่

ดร.จุลเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราหรือยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตได้มากกว่า 4 ล้านตัน ต่อปี จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากในหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ผลิตยางดิบและอุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศยังมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตและการส่งออก

การดำเนินการเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาด้านบุคลากรและเทคโนโลยี จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมยางของประเทศ แต่หลายภาคส่วนยังขาดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

(จากซ้ายไปขวา) คุณสุริยกมล มณฑา ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ดร.ฉวีวรรณ คงแก้ว และ คุณปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล

ดังนั้น นักวิจัยของเอ็มเทค สวทช. จึงได้เข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ เช่น กรณีสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ซึ่งทีมวิจัยได้ลงพื้นที่และทำงานร่วมกับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งเกิดเป็นผลงานน้ำยางพาราข้นชนิดใหม่ คือ ParaFIT สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ ทำให้สามารถผลิตสินค้าจากยางพาราขายสู่ท้องตลาดแล้วกว่า 5 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562) มีการผลิตน้ำยาง ParaFIT มากถึง 4.5 ตัน

“เอ็มเทค สวทช. มีภารกิจหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม การบริหารจัดการและการผลิตยางพาราตั้งแต่ช่วงกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การเก็บรักษาน้ำยางพารา เทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปยางพาราขั้นต้น นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงงานมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะมาตรฐาน มอก. การวิจัยจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ เป็นที่ยอมรับและใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ดังเช่น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราที่ผลิตจากน้ำยางข้น ParaFIT ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ทั้งในด้านคุณสมบัติการใช้งาน ราคา ตลอดจนความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย” ดร.จุลเทพ กล่าวและว่า

คุณอนันต์ จันทร์รัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด

การนำนวัตกรรมน้ำยางข้น ParaFIT มาใช้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ คือการนำนวัตกรรมในการใช้สารเคมี ที่มีความปลอดภัยกับคนทำงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน ซึ่งหัวใจสำคัญเมื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราแล้ว ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตสั้นลงจาก 21 วัน เหลือเพียง 3 วัน ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำต่อจากนี้ คือผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่แล้วจะยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรมรองรับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ระดับประเทศ ระดับสากล และมาตรฐานระดับโลกต่อไป”

 

(ซ้าย) คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

คุณอนันต์ จันทร์รัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ เกิดขึ้นจากการที่จังหวัดพัทลุงต้องการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย ประจำปี 2558 ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ และตั้งโรงงานได้ในช่วงปลายปี 2559 จากการระดมเงินทุน (หุ้น) ร่วมมือกันเชิงประชารัฐ ผ่าน “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา กิจกรรมการจัดตั้งโรงงานผลิตหมอนที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ” เมื่อต้นปี 2560 ได้เริ่มดำเนินการผลิตในส่วนการแปรรูปหมอนจากน้ำยางข้น 60% ที่ซื้อมาจากบริษัทเอกชน ต่อมาช่วงกลางปี 2560 ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. เข้ามาสอนการผลิตน้ำยางข้น 60% จึงเริ่มรับน้ำยางสดจากสมาชิก นำมาผลิตน้ำยางข้น 60% ใช้เองได้จนถึงปัจจุบัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนได้

“ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้นำเทคโนโลยีในการผลิตน้ำยางข้นแอมโมเนียต่ำมากสำหรับการผลิตโฟมยาง หรือน้ำยางพาราข้น ParaFIT มาทดลองและทดสอบระดับภาคสนาม ที่สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ ทำให้สามารถผลิตหมอนยางพาราได้และช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางจากเดิม 21 วัน เหลือเพียง 3 วัน จึงช่วยลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสด (3-6 ล้านบาทในแต่ละรอบ) และช่วยลดความเสี่ยงที่น้ำยางจะเกิดการบูดเน่าอีกด้วย” ผู้จัดการสหกรณ์บอก

เสวนาบนเวที

น้ำยางข้น ParaFIT เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คุณปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส หนึ่งในทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า น้ำยางพาราข้นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีส่วนผสมของแอมโมเนีย ซิงก์ออกไซด์ (ZnO) และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ (TMTD) ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำยางเกิดการบูดเน่า แต่แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่ระเหยง่าย มีกลิ่นฉุนรุนแรง ทำลายสุขภาพ สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ทีมวิจัยเอ็มเทคได้ทดลองผลิตน้ำยาง ParaFIT โดยใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมของโรงงานผลิตน้ำยางพาราข้นและทดสอบสมบัติของน้ำยาง ParaFIT ที่ได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 980-2552 และ ISO 2004-2017) กระทั่งได้สูตรน้ำยาง ParaFIT ซึ่งมีปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่า 0.20% โดยน้ำหนักน้ำยาง (น้ำยางพาราข้นทางการค้ามีปริมาณแอมโมเนีย 0.3-0.7% โดยน้ำหนักน้ำยาง) มีปริมาณซิงก์ออกไซด์และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ลดลง ช่วยให้ระยะเวลาการบ่มน้ำยางพาราข้นลดลงก่อนนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้ไม่ต้องมีขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้นก่อนนำไปผลิตหมอนและที่นอนยางพารา จึงช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต ลดกลิ่นฉุนของแอมโมเนียในโรงงาน และเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม

จดบันทึกค่าที่ได้จากการชั่งน้ำยาง

พร้อมคุณภาพมาตรฐาน บริการครบวงจร

ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ได้พัฒนากระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2560 ได้ดำเนินกิจกรรมแบบครบวงจร ตามที่ทีมวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. เข้ามาช่วยพัฒนาน้ำยางข้น ParaFIT การบริการแบบครบวงจรถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญ…โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ รับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก แปรรูปเป็นน้ำยางข้น 60% และนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา ภายใต้แบรนด์ “ตะลุงลาเท็กซ์” โดยหมอนยางพารา รุ่น “เปี่ยมสุข” ประกอบด้วย หมอนหนุน หมอนรองคอ หมอนเด็ก ที่นอนเด็ก และหมอนข้าง มียอดจำหน่ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ไม่คงที่ได้

เทน้ำยางลงในถังรวมเพื่อกักเก็บ

“ปัญหาของผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราในประเทศไทยคือ วางขายเหมือนกันหมด แตกต่างกันที่ราคาเพียงอย่างเดียว แง่มุมอื่นที่แตกต่างไม่มีใครสามารถบอกได้เลย ดังนั้น นับจากนี้ไปสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ จะใช้น้ำยางข้น ParaFIT ผลิตผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา ทำให้เรามีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สหกรณ์มีแผนจะใช้น้ำยางข้น ParaFIT ในการผลิตตามยอดสั่งจองสินค้าล่วงหน้า (ออเดอร์) เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าหลัก 2 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ทำสัญญาร่วมกัน และลูกค้าอีก 3-4 รายที่รอรับซื้อจากสหกรณ์ ครั้งละ 2,000-4,000 ใบ ต่อราย เพื่อส่งออกไปยังลูกค้าที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ ได้เตรียมปรับปรุงเครื่องจักรให้พร้อมสำหรับการรับผลิตตามออเดอร์สินค้าให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ใบ หรือประมาณ 800 ใบ ต่อวัน

เตรียมน้ำยางคอมพาวด์

โดยขณะนี้มีออเดอร์หมอนยางพาราอยู่ที่ 50,000 ใบ ที่ต้องรอส่งมอบให้ลูกค้าซึ่งจะต้องผลิตให้ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ คาดว่าหลังจาก ParaFIT ได้รับการตอบรับจากลูกค้า สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกสหกรณ์ในราคาน้ำยางสดนำราคาน้ำยางสดในท้องถิ่นได้

ฉีดขึ้นรูปหมอนที่นอน

 จังหวัดพัทลุง เล็งหนุนสหกรณ์

ยกระดับราคายาง

คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำยางข้นพาราฟิต ParaFIT เพื่อใช้แปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพารา ว่า จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกยางพาราเกือบ 1 ล้านไร่ ดังนั้น อาชีพหลักของชาวพัทลุงคือปลูกยางพารา ซึ่งจากการลงพื้นที่ชมกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา พบว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด มีความเข้มแข็งอย่างมากที่จะแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา ซึ่งได้นวัตกรรมการผลิตน้ำยางข้น ParaFIT จากเอ็มเทค สวทช. ที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราของสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาฯ มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการช่วยลดต้นทุนการผลิต

นำไปเข้าเครื่องล้าง

คุณปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส หนึ่งในทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า “ได้เข้ามาหาสหกรณ์แพรกหา เพราะเห็นว่าสหกรณ์มีอุปกรณ์การผลิตอยู่แล้ว เริ่มแรกในการร่วมมือ เรานำน้ำยางที่เป็นสูตรมาตรฐานของเรามาลองก่อน เสร็จแล้วเราก็นำมาเติมบางอย่างเพื่อให้เหมาะกับกระบวนการของสหกรณ์หรือกระบวนการของการผลิตน้ำยาง ทำให้เราได้น้ำยางที่มีแอมโมเนียมต่ำ ใช้เวลาในการบ่มที่สั้นลง…โดยน้ำยาง ParaFIT ของเรา มีแอมโมเนียต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าน้ำยางที่มีการซื้อขายกันทั่วไปตามท้องตลาด เราผลิตน้ำยางเข้มข้นได้ 1-3 วัน สามารถใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย ไม่ต้องไปรอเวลาบ่มอีก 21 วัน ซึ่งในส่วนของตรงนี้ถือเป็นการประหยัดเงินทุนหมุนเวียน ลดเงินทุนหมุนเวียนในการบ่มน้ำยางก่อนการใช้งาน 21 วัน การเก็บรักษาในขั้นตอนกระบวนการบ่ม ParaFIT นั้นประหยัดเวลาจาก 21 วัน เหลือเพียง 3 วัน”

 

เข้าตู้อบ

คุณสมบัติหมอนยางพาราคุณภาพสูง รุ่น “เปี่ยมสุข”

  1. มีปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่า 0.2% โดยน้ำหนักน้ำยาง (น้ำยางพาราข้นทางการค้ามีปริมาณแอมโมเนีย 0.3-0.7% โดยน้ำหนักน้ำยาง) ทำให้ไม่ต้องมีขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้นก่อนนำไปผลิตหมอนและที่นอนยางพารา จึงเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม
  2. มีปริมาณซิงก์ออกไซด์ ( ZnO ) และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ (TMTD) น้อยกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้า (ชนิด LA และ MA) 30% โดยน้ำหนักน้ำยาง จึงช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตน้ำยางพาราข้น
  3. นำไปใช้งานได้ทันทีภายใน 1-3 วันหลังจากวันผลิต (ไม่ต้องบ่มน้ำยางในถังพักไว้ 21 วันเหมือนน้ำยางพาราข้นทางการค้า) จึงช่วยลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสดและประหยัดเงินลงทุนในการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้น
  4. มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 6 เดือน
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา

ขั้นตอนการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา

  1. รับน้ำยางสดจากเกษตรกร
  2. ผลิตน้ำยางข้น ParaFIT
  3. 3. เตรียมน้ำยางคอมพาวด์
  4. ฉีดขึ้นรูปหมอนที่นอน
  5. นั่ง ล้าง ปั่น อบแห้ง
  6. บรรจุผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราหลากหลาย

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ถามได้ที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ (02) 564-6500 ต่อ 4503

สนใจดูงานหรือซื้อผลิตภัณฑ์ ถามได้ที่ สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด โทรศัพท์ (074) 610-731