ป้าออมสิน เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม แบ่งพื้นที่ 9 ไร่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา มีกิน มีใช้ มีขายตลอดปี

ป้าออมสิน กุลรัตน์ เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม เก็บถั่วฝักยาวไปกินไปขาย

การทำไร่นาสวนผสม เป็นการทำงานเกษตรหลายชนิดผสมผสานในบริเวณพื้นที่เดียวกัน ปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน และการจัดการที่ดี ใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ได้ผลตอบแทนคุ้มทุน ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวนจึงเป็นวิธีการลดความเสี่ยงและสร้างรายได้สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง วิถีไร่นาสวนผสม วิถีพอเพียงและมั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณศรัญญา เพ็ชรรักษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ส่งเสริมการทำไร่นาสวนผสม วิถีมั่นคง

คุณศรัญญา เพ็ชรรักษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แนวทางการดำเนินงานส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะได้รับผลผลิต เพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

การทำไร่นาสวนผสม เป็นการทำงานเกษตรหลายๆ อย่างในพื้นที่เดียวกัน เช่น ทำนา ปลูกไม้ผล ปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์หรือประมง หรือทำนา ปลูกไม้ผลหรือประมง หรือทำนา ปลูกพืชไร่หรือเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีการจัดการฟาร์มที่ดี ทั้งด้านจัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงานหรือปัจจัยการผลิต เป็นวิธีการเกษตรที่ลดความเสี่ยงภัยจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและศัตรูพืช มีการใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มทุน ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพให้พอกินเหลือขาย เป็นการยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

ป้าออมสิน กุลรัตน์ เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม เก็บถั่วฝักยาวไปกินไปขาย

ป้าออมสิน กุลรัตน์ เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ทำไร่นาสวนผสม 9 ไร่ 1 งาน ได้จัดการแบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 3 ไร่ ทำสวน 3 ไร่ เพื่อปลูกไม้ผล พืชผัก เป็นพื้นที่สระน้ำ 3 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงปลาหรือเลี้ยงเป็ด และพื้นที่ 1 งาน จัดแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือนจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์เกษตรและเล้าเป็ด

ฤดูก่อนหน้านี้ได้ทำนาเพียงอย่างเดียว เมื่อประสบกับภัยธรรมชาติ ไม่มีน้ำพอเพียงใช้ในการผลิต จึงไม่ได้รับผลผลิตคุ้มทุน เมื่อได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภออินทร์บุรีให้ทำไร่นาสวนผสม พร้อมกับได้น้อมนำพระราชดำรัสขององค์พ่อหลวงที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และ “ไม่มีไฟฟ้า คนหรือสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำ คนหรือสิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้” จึงเป็นแสงสว่างให้ได้คิดไตร่ตรองพร้อมน้อมนำมาเปลี่ยนแปลงวิถีจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำไร่นาสวนผสม ได้ยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ดังนี้

พื้นที่ส่วนที่ 1 จัดเป็นพื้นที่ทำนา 30% หรือ 3 ไร่ แปลงนาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รอบแปลงนาได้ขุดเป็นร่องน้ำเพื่อกักเก็บน้ำใช้ปลูกผักบุ้งหรือเลี้ยงปลา หลังจากไถเตรียมดินแปลงนาแล้วได้ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ด้วยวิธีการปักดำ เน้นการทำนาแบบอินทรีย์ตามวิถีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีหรือใช้ในระยะเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพผลผลิตข้าวที่ได้ส่วนหนึ่งบริโภค อีกส่วนหนึ่งขาย และอีกส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวกล้องขายเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้

จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกบ้านพัก สร้างโรงเรือนเก็บวัสดุอุปกรณ์การเกษตร

ต้นทุนการทำนา มีดังนี้ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ค่าจ้างแรงงาน 4,000 บาท ค่าปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะขาย 7,000-9,000 บาท ต่อเกวียน

รอบแปลงนาได้ขุดเป็นร่องน้ำกว้าง 2.5 เมตร และลึก 1.5 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำใช้ ได้ปลูกผักบุ้ง ได้เลี้ยงปลาตะเพียน 25,000 ตัว และปลาสลิด 2,000 ตัว ให้อาหารปลาทุกวัน ขณะนี้รอให้ปลาโตก่อนจับขึ้นมากินและขาย

พื้นที่ส่วนที่ 2 จัดเป็นแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร พื้นที่ 30% หรือ 3 ไร่ ได้ขุดเป็นสระน้ำเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการปลูกพืชหรือเลี้ยงปลา ในสระน้ำได้เลี้ยงปลาตะเพียน 10,000 ตัว ปลานิล 5,000 ตัว เลี้ยงปลาหมอ ปลาสลิดและปลาช่อนรวม 1,000 ตัว ได้ให้อาหารปลาทุกวัน ขณะนี้รอให้ปลาโตก่อนจับขึ้นมากินและขาย

ปล่อยเป็ดลงเลี้ยงให้กินอาหารจากธรรมชาติในสระน้ำ

ต้นทุนการเลี้ยงปลา ทั้งในสระน้ำและในร่องน้ำข้างแปลงนา เป็นค่าพันธุ์ปลา 4,000 บาท ค่าอาหารปลา 10,000 บาท ขณะนี้รอให้ปลาโตก่อนจับขึ้นมากินและขายเป็นรายได้

พื้นที่ส่วนที่ 3 จัดเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก พื้นที่ 30% หรือ 3 ไร่ แบ่งย่อยเป็น 3 แปลง คือ แปลงที่ 1 พื้นที่ 2 งาน กว้าง 6 เมตร อยู่ระหว่างแปลงนากับสระน้ำ ปลูกพืชผักปลอดภัย เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ หรือกะเพรา แปลงที่ 2 พื้นที่ 2 ไร่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน เช่น กล้วยน้ำว้าขาว กล้วยหอมทอง และไผ่ แปลงที่ 3 พื้นที่ 2 งาน อยู่ติดกับแปลงปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ได้ปลูกพริก ทั้ง 3 แปลงได้จัดการใช้ต้นทุนการผลิต ดังนี้

ปลูกกล้วย ปลูกไผ่ พื้นที่ 2 ไร่ พืชสร้างรายได้
ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ พืชพอเพียงคู่ครัว

แปลงที่ 1 ปลูกถั่วฝักยาว ใช้ต้นทุนเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว 120 บาท ค่าปุ๋ย 500 บาท ขายได้ 2,000 บาท ได้กำไร 1,380 บาท ผลผลิตได้ทยอยเก็บ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จได้พักแปลง เตรียมดินตากแดดแล้วปลูกใหม่

แปลงที่ 2 ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน ได้ปลูกกล้วยน้ำว้าขาว กล้วยหอมทอง และไผ่ ใช้ต้นทุน

ปลูกกล้วยน้ำว้าขาว เป็นค่าหน่อพันธุ์ 500 บาท ค่าปุ๋ย 500 บาท ขายผลกล้วยได้ 2,500 บาท ได้กำไร 1,500 บาท

และ แปลงที่ 3 ปลูกพริก มีต้นทุนเป็นค่าเมล็ดพันธุ์พริก 80 บาท ค่าปุ๋ย 1,000 บาท เก็บผลผลิตขายได้ 1,500 บาท ได้กำไร 280 บาท ผลผลิตได้ทยอยเก็บ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จได้พักแปลง เตรียมดินตากแดดแล้วปลูกใหม่

พื้นที่ส่วนที่ 4 จัดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและโรงเรือนเก็บวัสดุการเกษตร เล้าเป็ด พื้นที่ 1 งาน ได้แบ่งเป็นบ้าน 1 หลัง และห่างกันออกไปได้สร้างโรงเรือนเก็บวัสดุอุปกรณ์เกษตร 1 โรง และเล้าเป็ด 1 โรง มีต้นทุนสร้างเล้าเป็ด 1 โรง เป็นเงิน 5,000 บาท ซื้อลูกเป็ดมาเลี้ยง 15 ตัว เป็นเงิน 2,500 บาท และซื้ออาหารเป็ด 1,200 บาท การเลี้ยงเป็ดได้ใช้วิธีปล่อยให้ออกหากินอาหารในธรรมชาติและให้อาหารเสริม ขณะนี้เป็ดมีผลผลิตไข่ให้เก็บไปกินช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน

เกษตรกรและนักวิชาการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตด้วยกัน
พรวนดินใส่ปุ๋ยมะเขือเปราะช่วยให้ติดผล
กะเพราพืชผักคู่ครัว ปลูกกินเหลือขายเป็นรายได้

ป้าออมสิน เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า จากประสบการณ์ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูงเมื่อต้องประสบภัยทางธรรมชาติหรือศัตรูพืช การที่ได้ปรับเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม ความเสี่ยงภัยลดลง แต่ละกิจกรรมให้ผลผลิตสลับ มีให้เก็บกินในครัวเรือน ผลผลิตส่วนหนึ่งนำไปขายทำให้มีรายได้พอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถยังชีพได้แบบพอเพียงและมั่นคงยิ่งขึ้น

จากเรื่อง วิถีไร่นาสวนผสม วิถีพอเพียงและมั่นคง เป็นเกษตรกรรมหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงภัย ใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสาน ได้ผลผลิตคุ้มทุน เป็นแนวทางให้ดำรงชีพได้แบบพอเพียงมั่นคง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ป้าออมสิน กุลรัตน์ หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. (081) 756-9548 หรือ คุณสุอาภา สกุลนิวัติ สำนักงานเกษตรอำเภออินทร์บุรี โทร. (084) 099-8576 ก็ได้ครับ