มิวเซียมมีชีวิตแห่งแรกของไทย ที่ อพวช. การสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคพิเศษ Taxidermy เปิดอบรมหลักสูตรสร้างอาชีพใหม่แล้ว…!

ที่คลองห้า จังหวัดปทุมธานี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ได้เปิดบ้านพาชม “ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและการสตัฟฟ์สัตว์” เพื่อปลูกฝังแนวคิดให้คนไทยร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า และเสริมสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแก่ประชาชนในวงกว้าง พร้อมทั้งเจาะลึกการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคพิเศษ Taxidermy ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่

โรหิสรัตน์ หรือ ละมั่งหลอดแก้ว สัตว์สตัฟฟ์ตัวแรกของโลก

ก่อนที่ผู้เขียนจะพาไปเรียนรู้กระบวนการสตัฟฟ์สัตว์ ด้วยเทคนิคพิเศษ Taxidermy เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ของ อพวช. หรือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่จะเปิดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษในการสตัฟฟ์สัตว์ ให้กับประชาชนผู้ที่สนใจทั่วไป

ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผอ.สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและการสตัฟฟ์สัตว์ เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง

โดยศูนย์แห่งนี้มีตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์เกือบทุกชนิดที่เก็บรักษา ที่ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการสตัฟฟ์ผสมผสานกับงานศิลปะในท่วงท่าอิริยาบถต่างๆ ทำให้สัตว์ที่ตายไปแล้วกลายสภาพเสมือนยังมีชีวิตอยู่ และใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก่อนนำไปจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการและการศึกษาวิจัยให้กับบุคคลทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ผอ.วัชระ สงวนสมบัติ และผู้เขียน จิตรกร บัวปลี กับตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์หมีขั้วโลกเหนือ

ด้าน คุณวัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองศูนย์บริหารคลังตัวอย่างนัก Taxidermist ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ​ด้านการ​สตัฟฟ์​สัตว์ของ​ อพวช.​ ได้พาผู้เขียนเขาเยี่ยมชมผลงานการสตัฟฟ์สัตว์ ด้วยเทคนิคพิเศษ Taxidermy ซึ่งถือเป็นผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกับงานศิลปะ ทางกายวิภาคชีวิตสัตว์ได้อย่างลงตัวเสมือนจริง และอธิบายไปถึงการคงสภาพร่างกายสัตว์ให้เหมือนเดิมทุกอย่างและอยู่ได้นานที่สุด

สิ่งสำคัญที่นักธรรมชาติวิทยา อย่าง ผอ.วัชระ ระบุไว้คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์มาอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 478 ตัวอย่าง อาทิ เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือดำ ยีราฟ ช้าง ม้าลาย กวาง หมีควาย จระเข้ ปลาช่อนอะเมซอน เพนกวิน พะยูนมาเรียม งูอนาคอนดา ลิงชิมแปนซี นกเหยี่ยว และสัตว์ปีก อื่นๆ เป็นต้น

คุณวันชัย สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญการสตัฟฟ์สัตว์สาธิตการสตัฟฟ์หนังเสือลายเมฆกับหุ่น

โดยซากสัตว์ที่เสียชีวิตแต่ละตัวได้มาจากภาครัฐและเอกชน ในความร่วมมือขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อุทยานหินล้านปี และฟาร์มจระเข้พัทยา รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์อื่นๆ เป็นต้น ที่ส่งต่อซากสัตว์เหล่านั้นมาทำการสตัฟฟ์ ด้วยเทคนิค Taxidermy เพื่อชุบชีวิตสัตว์ที่ตายไปแล้วให้คงสภาพกลับมาเสมือนมีชีวิตใหม่อีกครั้ง และสามารถเคลื่อนย้ายนำไปจัดแสดงนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า สัตว์สงวนที่หาดูยาก และส่งต่อให้เป็นสมบัติทางธรรมชาติวิทยาของประเทศชาติต่อไป

คุณวันชัย สุขเกษม ผู้เชี่ยวชาญการสตัฟฟ์สัตว์สาธิตการสตัฟฟ์หนังเสือลายเมฆกับหุ่น

ผอ.วัชระ ผู้เชี่ยวชาญ​ด้านการ​สตัฟฟ์​สัตว์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า ทาง อพวช. พร้อมที่จะนำองค์ความรู้หลักสูตรการสตัฟฟ์สัตว์ ด้วยเทคนิค Taxidermy เผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ที่ต้องการเข้ามาฝึกอบรมเรียนรู้ ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักวิจัย หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยรับจำนวนจำกัด รุ่นละไม่เกิน 30 คน ติดต่อสอบถามข้อมูลมาได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทร. (02) 577-9999 ต่อ 2129 มือถือ (086) 409-1602

เสือโคร่ง สตัฟฟ์ด้วยเทคนิค Taxidermy กับอิริยาบถทางธรรมชาติวิทยา

ขั้นตอนหลักสูตรการอบรม

โดยหลักสูตรการอบรมที่ว่านี้เริ่มตั้งแต่ กระบวนการเก็บตัวอย่างพิสูจน์ซากสัตว์ เมื่อเสียชีวิตลงใหม่ๆ ไม่พบโรคอันตรายเกี่ยวกับคนและข้อกฎหมาย วัดขนาดสัดส่วนสัตว์ชนิดนั้นๆ และการเคลื่อนย้าย ไปจนถึงกระบวนการผ่าสัตว์เก็บซากชิ้นส่วน การผ่าท้องกรีดขา เพื่อเอาชิ้นส่วนสำคัญๆโดยเฉพาะหนัง ให้หลุดออกจากตัว ขูดเนื้อออกให้ได้มากที่สุด จากนั้นเอามาทำความสะอาด โดยแต่ละขั้นตอนมีความละเอียดอ่อนในทางปฏิบัติ เป็นต้น

ช้าง ยีราฟ สัตว์สตัฟฟ์ขนาดใหญ่ ที่สุดของไทย ในพิพิธภัณฑ์ อพวช.

เมื่อได้ชิ้นส่วนซากสัตว์ตามที่ต้องการแล้วนำมาหมักเกลือทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นนำมาแช่น้ำยาแช่หนัง หรือน้ำยาดองหนังสัตว์ เพื่อไม่ให้เน่าเสียส่งกลิ่น จะแช่ไว้เป็นปีก็ยังได้ ในขณะที่กลุ่มจำพวกสัตว์ปีกไม่สามารถที่จะนำมาแช่น้ำยาได้เพราะขนอาจจะเสียหาย จึงควรเอาไปแช่ไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิติดลบ เพื่อรอเตรียมทำหุ่นจำลอง และปั้นกล้ามเนื้อขึ้นรูปหุ่น ด้วยวัสดุต่างๆ หลากหลายชนิด อาทิ หุ่นดิน หุ่นหล่อปูนปลาสเตอร์ หุ่นเรซิ่น เป็นต้น เมื่อเตรียมหุ่นและจัดท่วงท่าตามที่ต้องการของสัตว์ชนิดนั้นๆ จนมาถึงกระบวนการฟอกหนังด้วยน้ำยาฟอกหนัง เย็บรอยแผลที่เกิดการฉีกขาด เมื่อทุกอย่างพร้อมก็นำหนังสัตว์ที่ได้มาคลุมหุ่นที่ปั้นไว้ จัดรูปทรงตามขนาดท่วงท่า เย็บประกอบจนเป็นตัวให้สวยงามเสมือนชุบชีวิตให้เขากลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

จิตรกร บัวปลี สื่อมวลชนกำลังทึ่งในมิวเซียมสัตว์สตัฟฟ์ พิพิธภัณฑ์ อพวช.

และก็ยังมีขั้นตอนการดูแลรักษาสัตว์สตัฟฟ์ ไม่ให้ชำรุดเสียหายจากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนูและแมลงสาบ ที่จะมากัดแทะและทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ รวมถึงการแก้ไขตกแต่งรายละเอียดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้องสวยงาม ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย

ผอ.วัชระ กล่าวต่อไปอีกว่า การสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิค แท็กซิเดอร์มี (Taxidermy) เป็นอีกหนึ่งงานศิลปะ สำหรับนักปฏิมากรรมสัตว์ ที่สามารถนำองค์ความรู้จากการฝึกอบรมการสตัฟฟ์สัตว์ที่ว่านี้นำไปสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ให้กับตัวเอง เพื่อใช้ในการสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงให้กับบุคคลทั่วไป เมื่อสัตว์เลี้ยงของเจ้าของเสียชีวิตและมีความผูกพันที่ประสงค์จะเก็บรักษาเขาไว้ให้ตราบนานเท่านาน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง

ถังน้ำยาแช่หนังสัตว์ที่มีชิ้นส่วนของหนังสัตว์ชนิดต่างๆ ถูกดองแช่ไว้

นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์สัตว์หายาก หรือ มิวเซียม ของ อพวช. ยังมีสัตว์สตัฟฟ์ สัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปแล้วของประเทศไทย ที่ผ่านการซ่อมแซมและยังคงเก็บรักษาไว้ อาทิ กระซู่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และนกแต้วแร้วท้องดำ รวมถึง “โรหิสรัตน์” ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการอนุรักษ์ละมั่ง สัตว์ป่าสงวนของไทย โดยผลงานการสตัฟฟ์นี้ได้นำไปจัดแสดงที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ในขณะที่ม้าลาย นำไปจัดแสดงที่อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยา เป็นต้น

พะยูนมาเรียม สัตว์สตัฟฟ์ตัวใหม่ที่กำลังเตรียมขึ้นรูปในการสตัฟฟ์ด้วยเทคนิค Taxidermy

นับเป็นความภาคภูมิใจของการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคใหม่ Taxidermy สำหรับนักปฏิมากรรมสัตว์ ผสมผสานงานศิลปะ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนหายากของประเทศไทย ให้ฟื้นกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการฝึกอบรม การสตัฟฟ์สัตว์ กริ๊งกร๊างได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)โทร. (02) 577-9999 ต่อ 2129 มือถือ (086) 409-1602