ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน หน้า 16 |
---|---|
ผู้เขียน | นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว |
เผยแพร่ |
เมื่อเดินทางถึงสนามบินเมืองเสียมราฐ ด้วยสายการบินไทยสไมล์ ไกด์ชาวกัมพูชามารอรับกลุ่มของเรา 5 คนแล้วเดินทางไปแหล่งดูนกมหาเทพ คือ นกช้อนหอยใหญ่ และ นกช้อนหอยดำ ที่ หมู่บ้านทมัทเบย ตั้งอยู่ใน จังหวัดพระวิหาร ไปทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือของเสียมราฐ ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง บนถนนลาดยางอย่างดีจากเดิมเมื่อ 6 ปีก่อนเป็นถนนดินฝุ่นคลุ้ง
หมู่บ้านทมัทเบย แปลว่า แร้งเล่นน้ำ
ในอดีตเคยพบแร้งอาเซียน เช่นเดียวกันแต่ปัจจุบัน เนื่องจากหาซากสัตว์ได้ยาก แร้งจึงอพยพย้ายถิ่นไปทางเหนือมากขึ้น ในป่าเต็งรังที่มีการจัดทำร้านอาหารแร้งไว้ให้เป็นประจำทุกเดือน
แต่โครงการอนุรักษ์นกช้อนหอย 2 ชนิด ที่ทมัทเบยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรอนุรักษ์ศึกษาวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้และดึงชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้ช่วยวิจัย ผู้พิทักษ์ป่า และนก รวมทั้งเป็นไกด์นำชมนก
และทีมงานจัดทำรีสอร์ตในป่าชุมชน รองรับนักท่องเที่ยวดูนก ถ่ายภาพ นกจากทั่วโลกมาพักผ่อน ผ่องถ่ายรายได้จากต่างประเทศเข้าสู่ชุมชนโดยตรง ชาวบ้านก็รู้สึกยินดีเพราะมีรายได้เสริม เห็นคุณค่าของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ช่วยเป็นหูเป็นตา
ด้วยกลยุทธ์เปลี่ยนพรานเป็นเพื่อนสัตว์ป่า
ทั้งยังช่วยสำรวจ เก็บข้อมูลวิจัยของสัตว์ป่าเป้าหมาย อันเป็นหลักใหญ่สำคัญของการอนุรักษ์ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงของพื้นที่นั้นๆ
ที่ทมัทเบย ชุมชนจัดสร้างรีสอร์ต เป็นบ้านไม้ตามสภาพที่กันดาร แต่ด้วยเทคโนโลยีผลิตพลังงานด้วยแสงอาทิตย์ ทำให้รีสอร์ตเชิงนิเวศกลางป่าเต็งรังอันกันดารนี้มีไฟฟ้า น้ำอุ่น ให้แขกนักท่องเที่ยว เป็นแรงดึงดูดคนดูนกทั่วโลก สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นมานานกว่า 8 ปีแล้ว
ชาวบ้านที่รับงานเป็นผู้ช่วยวิจัย เก็บข้อมูลการใช้พื้นที่อาศัย การหาอาหาร ทำรัง วางไข่ของนกช้อนหอยใหญ่ เมื่อมีนักดูนกมาเยือนก็ทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น เพราะมีความรู้และทักษะในการหานกอยู่แล้วจากการสำรวจวิจัยมาหลายปี อีกทั้งยังคอยดูแลให้นกไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์อีกด้วย ทำให้มีรายได้เสริม
คนดูนกก็มีความสุขที่ได้เห็น ได้ถ่ายภาพ และตระหนักว่าเม็ดเงินค่าธรรมเนียมที่ตนเองจ่ายถึงมือชาวบ้าน ผู้เป็นกำลังหลักในการอนุรักษ์นกช้อนหอยใหญ่แน่นอน
ส่วนผู้หญิงก็มารับจ้างเป็น แม่ครัว แม่บ้าน ที่รีสอร์ตเชิงนิเวศด้วย พวกเขาจึงเห็นภาพรวมของการอนุรักษ์นกช้อนหอยใกล้สูญพันธุ์ว่า เมื่อนกอยู่ได้ พวกเขาก็จะอยู่ได้ เพราะมีรายได้จากกิจกรรมดูนกไปตราบนานเท่านาน ประโยชน์ของการอนุรักษ์นั้นส่งตรงถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสัตว์ป่า องค์กรอนุรักษ์ ชุมชน และนักดูนกต่างบ้านต่างเมือง
วันรุ่งขึ้น ทีมเรานัดหมายกับไกด์ว่าจะเริ่มเดินทางจากที่พักตั้งแต่ตี 5 ฟ้ายังไม่สาง ตามวิถีปกติของการดูนก คือ ตื่นก่อนนก กลับมานอนทีหลังนก! ทุ่มเทซะไม่มี อย่างนี้จะไม่เรียกว่า Birds come first ได้อย่างไร (ฮา)!