ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้กับสวนไม้ผล ได้คุณภาพดี ทำตามได้ไม่ยาก

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

             คุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ เกษตรกรทำสวนผลไม้ จังหวัดระยอง เดิมทีเขาทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก และได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อมาลงทุน แต่ประสบกับภาวะขาดทุนจากสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและมีปัญหาโรคพืช จากการผลิตแบบเดิมๆ ที่มีต้นทุนสูง จึงไม่สามารถใช้หนี้ที่กู้ยืมมาได้

จุดเปลี่ยนของการทำการเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี เริ่มจากได้ไปศึกษาดูงานกับ ธ.ก.ส. ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาฟาร์มตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน และจากการได้รับคัดเลือกเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีโอกาสเดินทางไปอบรมสัมมนาในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง โดยใช้เวลาศึกษาเรียนรู้และตัดสินใจนาน 2-3 ปี จึงตัดสินใจทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่พึ่งพาสารเคมีทุกประเภท จนสามารถปลดหนี้ทั้งหมดได้ มีรายได้ตลอดทั้งปี

 

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณสมศักดิ์ ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีความโดดเด่นเรื่อง

วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

มีกระบวนการผลิต ดังนี้

  1. วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย

1.1 มูลสัตว์แห้งละเอียด 1 ส่วน 1.2 แกลบดำ 1 ส่วน 1.3 อินทรียวัตถุอื่นๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื่อย เปลือกถั่วลิสง เปลือกถั่วเขียว และขุยมะพร้าว เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน 3 ส่วน 1.4 รำละเอียด 1 ส่วน 1.5 นำน้ำสกัดชีวภาพ 1 ส่วน+น้ำตาล 1 ส่วน + น้ำ 100 ส่วน คนจนละลายเข้ากันดี 1.6 กระสอบป่านเก่าๆ สำหรับคลุมปุ๋ยที่ผสมแล้ว 1.7 จอบ 1.8 พลั่ว และ 1.9 ฝักบัวรดน้ำ

  1. ขั้นตอนการทำ มีดังนี้

2.1 เตรียมพื้นที่ผสมปุ๋ยบนพื้นซีเมนต์ หรือถ้าเป็นพื้นดินให้ปูผ้ายางเพื่อป้องกันปุ๋ยซึมลงดิน 2.2 นำเอาวัสดุต่างๆ มากองซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วคลุกเคล้าจนเข้ากันดี 2.3 เอาส่วนผสมของน้ำสกัดชีวภาพน้ำตาลและอ้อยใส่บัวราดบนกองวัสดุปุ๋ยหมัก คลุกให้เข้ากันทั่วให้ได้ความชื้นพอหมาดๆ อย่าให้แห้งหรือชื้นเกินไป 2.4 เกลี่ยกองปุ๋ยหมักบนพื้นซีเมนต์ หนาประมาณ 1-2 คืบ คลุมด้วยกระสอบป่านทิ้งไว้ 4-5 วัน ตรวจดูความร้อนในวันที่ 2-3 ถ้าร้อนมากอาจต้องเอากระสอบที่คลุมออก แล้วกลับกองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อน หลังจากนั้นกองปุ๋ยจะค่อยๆ เย็นลง นำลงบรรจุกระสอบเก็บไว้ใช้ต่อไป และ 2.5 บรรจุปุ๋ยหมักที่คลุกเคล้ากันดีแล้วลงในกระสอบปุ๋ยไม่ต้องมัดปากถุง ตั้งทิ้งไว้บนท่อนไม้หรือไม้กระดานที่สามารถถ่ายเทอากาศใต้พื้นถุงได้ ทิ้งไว้ 5-7 วัน

ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ดีจะมีกลิ่นหอมเหมือนเห็ด มีใยสีขาวของเชื้อราเกาะกันเป็นก้อนในระหว่างการหมัก ถ้าไม่เกิดความร้อนเลยแสดงว่าการหมักไม่ได้ผล อุณหภูมิในระหว่างการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40-50 องศาเซลเซียส ถ้าเราได้ความชื้นสูงเกินไปจะเกิดความร้อนสูงเกินไป ฉะนั้นความชื้นที่ได้ต้องพอดี ประมาณ 30% ปุ๋ยชีวภาพเมื่อแห้งดีแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน เก็บไว้ในที่แห้งในร่ม

สำหรับวิธีการใช้มีดังนี้ 1. ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพกับดินในแปลงปลูกผักทุกชนิดในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร 2. พืชผักอายุเกิน 2 เดือน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตง และฟักทอง ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพคลุกกับดินรองก้นหลุมก่อนปลูกกล้าผัก ประมาณ 1 กำมือ 3. ไม้ผล ควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง ฟาง และปุ๋ยหมักชีวภาพ 1-2 กิโลกรัม สำหรับไม้ที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพแนวทรงพุ่ม 1-2 กำมือ ต่อ 1 ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง หรือฟาง แล้วรดน้ำสกัดชีวภาพให้ชุ่ม 4. ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 กำมือ

การทำน้ำสกัดชีวภาพ มีกระบวนการผลิต ดังนี้

  1. วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย

1.1 ถังหมักที่มีฝาปิดสนิท จะเป็นถังพลาสติกหรือจะใช้ถุงพลาสติกก็ได้ 1.2 กากน้ำตาล หรือน้ำตาลได้ทุกชนิด 1.3 พืชอวบน้ำทุกชนิด เช่น ผัก ผลไม้ รวมทั้งเปลือกผลไม้อวบน้ำที่สดยังไม่เน่าเปื่อย และ 1.4 หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ถ้าไม่มีให้ใช้สารเร่ง 1 ซอง)

  1. ขั้นตอนการทำ มีดังนี้

2.1 ผสมน้ำกับน้ำตาล หรือกากน้ำตาล โดยแบ่งถังเป็น 3 ส่วน น้ำกับน้ำตาลส่วนที่ 1 ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารเร่ง 1 ซอง กวนให้เข้ากัน 2.2 หั่นผัก ผลไม้ให้เป็นชิ้นๆ ใส่ลงไปในถัง ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน 2.3 เมื่อครบกำหนดจึงนำน้ำสกัดไปใช้ประโยชน์ได้ และ 2.4 กากที่เหลือจากการหมัก สามารถนำไปฝังเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ สำหรับวิธีการใช้มีดังนี้ 1. ผสมน้ำสกัดชีวภาพ อัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 500-1,000 ส่วน รดต้นไม้หรือฉีดพ่นบนใบ 2. เริ่มฉีดพ่นเมื่อพืชเริ่มงอกก่อนที่โรคและแมลงจะมารบกวน ควรทำในตอนเช้า 3. ควรใช้อย่างสม่ำเสมอ และ 4. ใช้กับพืชได้ทุกชนิด ในการเก็บรักษาควรเก็บถังหมักและน้ำกสัดชีวภาพไว้ในที่ร่ม โดยจะต้องปิดฝาให้สนิท ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์และน้ำสกัดชีวภาพ คือ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของจุลินทรีย์ในดินและการเจริญเติบโตของพืชมีราคาถูกสามารถทำได้ด้วยตนเองและใช้กับพืชได้ทุกชนิด

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณสมศักดิ์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ มีความเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก ความพอประมาณ คือ เริ่มต้นจากการไม่ก่อหนี้ การทำแต่พอแรง ไม่โลภ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป มีความพออยู่พอกิน พอร่มเย็น ทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองมีความพอดีก่อน คือ มีกินก่อน ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง อย่าทำแบบก้าวกระโดด พอตัวเองมีกินแล้วจึงค่อยแจกเพื่อนบ้าน แล้วจึงนำไปจำหน่าย

ติดต่อคุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ ได้ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง ตำบลสองสลึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง 21110 โทรศัพท์ (081) 982-2404

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์