โรงเรียนวัดปากลัด สมุทรสงคราม ปูพื้นฐาน สู่ 2 ไร่ พอเพียง

หลังจากทราบว่า โรงเรียนวัดปากลัด (ผลาคารบำรุงวิทย์) หมู่ที่ 2 บ้านปากลัด ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นโรงเรียนที่แบ่งพื้นที่ทำแปลงเกษตร และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตรเป็นพื้นฐาน โดยที่ผ่านมา ผ่านการประกวดกลุ่มยุวเกษตรกรระดับจังหวัด ผ่านการคัดเลือกได้รางวัลที่ 2 ระดับจังหวัดมาแล้ว แม้ว่าเด็กนักเรียนที่มีอยู่เรียกได้ว่า มีเพียงแค่หยิบมือเดียว เพราะเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา มีการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัด และมีนักเรียนทั้งหมด 107 คน บุคลากรประจำการ 6 คน เท่านั้น

จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนต้องเดินทางมาพบกับครูและนักเรียนที่โรงเรียนด้วยตนเอง

เพราะเป็นโรงเรียนที่อาศัยพื้นที่วัด จึงมีชื่อโรงเรียนสอดคล้องกับชื่อวัด เหมือนโรงเรียนอื่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริจาคจากวัด โรงเรียนวัดปากลัด (ผลาคารบำรุงวิทย์) มีพื้นที่ทั้งหมด ราว 5 ไร่ แต่อาคารใช้สอยมีเพียงอาคารเรียนไม้หลังเล็ก 2 ชั้น พิจารณาจากสภาพแล้วน่าจะก่อตั้งมานาน แต่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมทาสีให้สดใสเสมือนใหม่ เป็นแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนสนใจเรียน

ด้านหลังอาคารเรียน จัดแต่งด้วยโต๊ะ เก้าอี้ เป็นกลุ่มๆ ราว 10 กลุ่ม มีป้ายบอกชัดว่า “ตลาดนัดนักเรียน” ถัดไปเป็นชั้นไล่ระดับ วางกระถางเล็ก ใหญ่ ที่เพิ่งเพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดต่างๆ ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ

อาจารย์สุชาดา บุญชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปากลัด (ผลาคารบำรุงวิทย์) เล่าว่า เมื่อ 3 ปีก่อน ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ ด้านหลังโรงเรียนมีพื้นที่ราว 2 ไร่ เป็นป่าชายเลน มีต้นลำพู ต้นโกงกาง จัดแต่งพอเป็นที่นั่งเล่นด้านหลังนิดหน่อย มีร่องน้ำอยู่บ้าง แต่สภาพโดยทั่วไปทรุดโทรม ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และรกร้างจนไม่น่าจะเป็นพื้นที่ของโรงเรียน ด้วยความเป็นลูกชาวสวนมาก่อนจึงมองภาพการจัดระเบียบภายในพื้นที่ 2 ไร่ ให้เป็นสวนเกษตร ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียน

“เราอยากให้เด็ก ครู ติดดิน ให้รู้จักว่าบ้านเมืองเราเป็นเกษตรกร เมื่อเรารู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เราก็ควรรู้จักความพอเพียง ทำกินเป็น และเด็กที่นี่ต้องทำได้ทุกคน”

อาจารย์สุชาดา ใช้เวลาเกือบปีในการของบประมาณ เพื่อนำมาปรับพื้นที่ จัดสรรให้พื้นที่อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ ถึงปัจจุบันก้าวเข้าปีที่ 3 ของการปรับปรุง ก็สามารถปรับพื้นที่ให้เป็นแปลงผักสวนครัว แปลงไม้ผล มุมป่าชายเลน ส่วนเพาะเมล็ดพันธุ์ ร่องน้ำสามารถเลี้ยงปลาในกระชัง และปลาเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติในร่องน้ำ

“ปัญหามีทางแก้ไข แต่เราอาจต้องใช้เวลา” อาจารย์สุชาดา บอก และกล่าวว่า ปัญหาของเราที่พบ และต้องการผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางมาช่วยแก้ปัญหา คือ ปัญหาน้ำที่มีความกร่อยและความเค็มสูง ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้การปลูกพืชไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะทดลองปลูกพืชที่เชื่อว่าจะสามารถปลูกได้ดี ก็ยังได้ผลผลิตที่ไม่ดีนัก รวมถึงปัญหาสภาพดินที่มีความเป็นกรดอยู่บ้าง แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากปราญ์ชาวบ้านมาช่วยแก้ไข โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพเติมในดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก นอกจากนี้ สภาพน้ำในระยะแรกที่เริ่มขุดเป็นร่องสวนให้มีความลึกพอเลี้ยงปลา และพอดีกับช่วงระดับน้ำขึ้นและลงไม่ค่อยดีนัก จึงหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการทำอีเอ็มบอลช่วยปรับสภาพน้ำได้ จนปัจจุบันสภาพน้ำในร่องน้ำดีในระดับหนึ่งแล้ว

เมื่อเริ่มต้นด้วยการตั้งต้นที่ดี บุคลากรทุกคนเห็นพ้อง การเอาใจใส่เพื่อให้นักเรียนเดินตามครรลองที่วางไว้ก็ดำเนินไปด้วยดี

อาจารย์อัมภาพันธุ์ สันธนภัทรพงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร อธิบายว่า ใน 1 สัปดาห์ จะจัดให้มีชั่วโมงบูรณาการตอนคาบสุดท้ายของการเรียนการสอนในวันจันทร์ เพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรม 2 กิจกรรมสลับแต่ละสัปดาห์ หากสัปดาห์นี้เป็นกิจกรรมตลาดนัดนักเรียน ให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นำของที่บ้านมาขาย อาจเป็นของมือสอง ผลผลิตที่ได้จากครอบครัว หรือของกินที่ทำขึ้นเอง เมื่อถึงคราวจัดกิจกรรมตลาดนัดนักเรียนถัดไปก็เป็นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และไล่ระดับขึ้นไปถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 สัปดาห์ต่อมาให้สลับเป็นกิจกรรมกลุ่มอาชีพ แบ่งตามระดับชั้น

ประถมศึกษาปีที่ 1 รับผิดชอบกิจกรรมกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ถอนหญ้า รดน้ำต้นไม้

ประถมศึกษาปีที่ 2 รับผิดชอบกิจกรรมกลุ่มใบเตย

ประถมศึกษาปีที่ 3 รับผิดชอบกิจกรรมกลุ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอม

ประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 รับผิดชอบกิจกรรมกลุ่มแปลงผักสวนครัว รวมถึงพืชชนิดอื่นๆ

ประถมศึกษาปีที่ 6 รับผิดชอบกิจกรรมกลุ่มปุ๋ยหมัก และการเลี้ยงปลา

“ก่อนหน้านี้เคยลองเลี้ยงกบและปลาดุกในบ่อซีเมนต์ แต่เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำให้การเจริญเติบโตของกบและปลาดุกไม่ดีเท่าที่ควร ต้นทุนการเลี้ยงสูง จึงเลิกเลี้ยงกบไปในที่สุด ส่วนปลาดุกยังคงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ดัดแปลงถังน้ำโบราณขนาดใหญ่เป็นโรงเรือนเห็ด ซื้อก้อนเชื้อเห็ดมา แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกทำไป เนื่องจากเห็ดอ่อนไหวต่อสภาพน้ำที่นี่ น้ำกร่อยทำให้เห็ดเน่า อีกทั้งการลงทุนก้อนเชื้อเห็ดเป็นการลงทุนสูง จึงชะลอโครงการออกไปก่อน จนกว่าจะแก้ปัญหาสภาพน้ำได้”

เมื่อถามถึงกิจกรรมอื่นด้านปศุสัตว์ ที่ไม่พบว่ามี อาจารย์อัมภาพันธุ์ บอกว่า บุคลากรของโรงเรียนมีน้อย และไม่มีท่านใดที่มีความรู้เฉพาะทางแม้แต่น้อย การทำการเกษตรตามแนวทางที่ผู้อำนวยการวางไว้ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในการนำการเกษตรไปในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ก็ถือว่าเพียงพอ แต่หากมีหน่วยงานที่พร้อมจะนำความรู้เข้ามาเผยแพร่ ทางโรงเรียนก็ยินดีรับ

ปัจจุบัน ร่องน้ำเลี้ยงปลาปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่งเลือกปลาที่มีความทนทานต่อสภาพน้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาแรด ปลาช่อน ปลากระดี่ ซึ่งการให้อาหารก็ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป และให้ปลากินพืชดังกล่าว หากินตามธรรมชาติในร่องน้ำเองด้วย ส่วนปลาที่เลี้ยงในกระชังเป็นปลานิล เลี้ยงโดยให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปและแหนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

การเรียนการสอนที่ช่วยสั่งสมความรู้ในภาคเกษตร ไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียน เพราะโรงเรียนวัดปากลัดจะพานักเรียนไปเรียนรู้ยังศูนย์เรียนรู้แห่งอื่นๆ เพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้กับนักเรียน เช่นที่ผ่านมาพานักเรียนไปศึกษาเรื่องการเลี้ยงไก่ตะกร้า นักเรียนก็ได้รับความรู้กลับมาพร้อมไก่ตะกร้า 2-4 ตัว เมื่อนักเรียนนำกลับไปเลี้ยงที่บ้าน ผลผลิตที่ได้คือไข่ไก่ ก็นำมาขายยังตลาดนัดนักเรียน

เด็กชายธวัชชัย ประสงค์สุข หรือ น้องนิว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร กล่าวว่า หน้าที่รับผิดชอบของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คือ การเลี้ยงปลา ได้แก่ ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ปลานิลในกระชัง และปลาทั่วไปในร่องน้ำ รวมถึงการดูแลแปลงเกษตร ซึ่งตนเองชอบการปลูกผักมากที่สุด เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สอนเรื่องความพอเพียง ให้เรารู้จักการเพาะปลูก เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงนำไปขาย สร้างรายได้ ซึ่งการเลี้ยงปลาตามกิจกรรมที่สมัครไว้ของโรงเรียน ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบพอสมควร เพราะทุกวันต้องนำอาหารเม็ดสำเร็จรูปไปให้ปลา แต่ละวันจะให้อาหารเพียงครั้งเดียว และครั้งละ 3 ทัพพีครึ่ง จากจำนวนปลาทั้งหมดประมาณ 60-70 ตัว การให้อาหารต้องให้พอดี หากให้มากไปจะทำให้น้ำเสีย และปลากินเยอะจะตายได้ อย่างไรก็ตาม รู้สึกเสียดายที่โรงเรียนไม่มีกิจกรรมทางด้านปศุสัตว์ และอยากให้โรงเรียนมีกิจกรรมการปลูกไม้ดอกไม้ประดับในกลุ่มของทานตะวัน เพราะเป็นไม้ดอกที่ชอบมากเป็นพิเศษ

เด็กชายพงศ์ประพัฒน์ อิศรางกูร หรือ น้องเฟิร์ส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รองประธานกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า เริ่มลงแปลงเกษตรตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 รู้สึกชอบ และเริ่มเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ชอบมากที่สุดคือการทำปุ๋ยหมัก เพราะได้ทราบว่า สูตรการทำปุ๋ยหมักมีหลายสูตร อยู่ที่เราทำและเลือกใช้ให้เหมาะสม และการทำปุ๋ยหมักนอกจากจะช่วยให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำน้ำจากปุ๋ยหมักไปฉีดต้นไม้ เพื่อไล่แมลงศัตรูพืชและเร่งให้พืชเจริญเติบโตได้เร็ว

แปลงผักสวนครัว

ด้าน เด็กหญิงณิชกมล สุขภูมิ หรือ น้องจูน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เลขานุการกลุ่มยุวเกษตรกร บอกว่า ครอบครัวทำเกษตรกรรม เลี้ยงไก่ไข่ ทุกวันจะช่วยครอบครัวให้อาหารไก่ ให้น้ำไก่ เก็บไข่ไก่และเก็บขี้ไก่ ปัญหาของการเลี้ยงไก่สำหรับน้องจูน คือ ไก่ชอบหนีออกมานอกรั้วแล้วจับเข้าไปในรั้วยาก นอกจากนั้นความรับผิดชอบภายในโรงเรียน คือ การเลี้ยงกบ เลือกเอง เพราะรู้ว่ากบเลี้ยงไม่ยากและมีประสบการณ์การเลี้ยงกบจากการเลี้ยงในครอบครัวมาแล้ว การเลี้ยงกบง่ายกว่าการเลี้ยงปลา เพราะจะเห็นชัดว่าขึ้นมากินอาหาร ไม่เหมือนปลาที่ไม่โผล่ตัวขึ้นมา

“หนูอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสการทำการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่า เกษตร เป็นสิ่งที่ดี เราสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ อยากให้คนที่ไม่เคยลองได้ลอง เพราะที่ผ่านมาหนูมีรายได้จากการทำการเกษตร เป็นเรื่องที่ดีที่เยาวชนทุกคน ควรเรียนรู้ ไม่ควรพลาด”

ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา ว่า แม้ว่าบุคลากรครูและนักเรียนที่นี่จะมีจำนวนน้อย แต่ก็มีความตั้งใจและเต็มใจเรียนรู้การทำเกษตรกรรม จึงขอวอนหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ใจดี ส่งแรงสนับสนุนมาช่วยโรงเรียนในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้และช่วยเหลือแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยสามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์สุชาดา บุญชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปากลัด (ผลาคารบำรุงวิทย์) หมู่ที่ 2 บ้านปากลัด ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โทรศัพท์ (081) 997-8239