คืนชีวิตหอยลาย สู่ทะเลตราด

หอยลาย ที่นำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันเป็นผลผลิตที่มาจากทะเลไทย ดังนั้น เมื่อความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมนำหอยลายไปแปรรูป ซึ่งมีการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การทำประมงหอยลายมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้หอยลายลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ชาวประมงนิยมใช้คราดหอยที่มีความห่างของซี่ขนาดเล็ก การจับหอยลายจากทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์จนหอยในธรรมชาติเกิดทดแทนไม่ทัน ส่งผลให้แหล่งทำการประมงหอยลาย สามารถควบคุมการทำการประมงให้เหลือเพียงการใช้เครื่องคราดด้วยมือ หรือที่ชาวประมงเรียกกันว่า “กระดึ๊บหอยลาย”

ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรแห่งชาติ (สวก.) จัดกิจกรรม “คืนหอยลายสู่ทะเลตราด” เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ โดยมีการมอบหอยลาย ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 1,000,000 ตัว และมีการปล่อยกุ้งแชบ๊วย จำนวน 8,000,000 ตัว ให้กับตัวแทนชุมชนอ่าวใหญ่ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ดร. วารินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน หอยลาย ในทะเลไทยมีสภาพขาดแคลน ส่งผลให้กรมประมงมีแนวคิดที่จัดทำการเพาะเลี้ยงหอยลาย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงหอยลายในบ่อดิน เพื่อนำหอยลายดังกล่าวปล่อยลงสู่ทะเล อีกทั้งมีการติดตามการกระจายตัวของหอยลายในพื้นที่ทะเล โดยมีชาวประมงในชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตาม เพื่อให้รู้ถึงสภาพการเติบโตของหอยลาย อีกทั้งยังสามารถช่วยลดผลกระทบการทำประมงที่ทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลได้อีกทางหนึ่ง

จากเดิมการจับหอยลายมีการแข่งขันสูง ทำให้หอยลายลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว พอมีจับมาก ราคาดี ชาวประมงและผู้ประกอบการหันมาจับมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณหอยลายขาดแคลนอย่างรวดเร็ว จึงมีแนวคิดที่เพาะหอยลาย เพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์หอยลาย ปัจจุบัน หอยลายหายาก ดังนั้น จึงได้มีการเพาะพันธุ์หอยลายที่มีขนาด ครึ่งเซนติเมตร  ถึง 1 เซนติเมตร เพื่อปล่อยให้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ เนื่องจากที่ผ่านมามีการจับหอยลายจำนวนมาก จึงมีการศึกษาพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยลายที่เลี้ยงควบคู่กับหอยลายที่มีเองตามธรรมชาติ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้มีการควบคุมกันเอง จากที่เคยจับได้ 10,000 ตัน แต่สภาพและปริมาณหอยลายลดลงอย่างต่อเนื่อง สามารถจับได้เพียง 8,000 ตัน เท่านั้น จากปริมาณที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สมควรเห็นว่า ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือในการจับหอยลายขึ้นมาเพื่อให้หอยที่ยังมีขนาดเล็กได้รอดจากการจับ เครื่องมือจับหอยลายที่ว่านี้ ชาวประมงเรียกขานกันว่า “กระดึ๊บ”

ด้าน คุณปิยะโชติ สินอนันต์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบัน หอยลาย อยู่ในสภาพวิกฤติถึงรุนแรง เนื่องจากมีเรือประมงเข้ามาจับจำนวนมาก ทำให้หอยลายและสัตว์น้ำประเภทอื่น มีราคาพุ่งสูงขึ้น แต่ปริมาณการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น กรมประมงร่วมมือกับจังหวัดที่ติดกับทะเลไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตราด และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นแหล่งอาศัยของหอยลาย

นอกจากนี้ ชุมชนในท้องถิ่น ชาวประมงท้องถิ่น เห็นชอบพื้นที่เขตการอนุรักษ์ จำนวน 300-500 ไร่ ในทะเล รวมทั้งห้ามจับสัตว์น้ำในทะเล ตั้งแต่ 3,000-5,000 เมตร และการกำหนดวันเวลาในการออกทะเล เป็นการควบคุมการทำประมง และสุดท้าย ปล่อยหอยลาย และสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ กรมประมง คาดว่า ในอีก 3 ปี หอยลายและสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ ในทะเลไทย จะมีสภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น อีกทั้งการฟื้นฟูสัตว์น้ำจะมีความยั่งยืน หลังจากที่กรมประมงได้ปล่อยหอยลายและสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ ร่วมด้วย

ส่วน คุณมนตรี ธรรมโชติ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านแหลมเทียน ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดตราด เล่าว่า อดีตที่ผ่านมาพื้นที่บ้านแหลมเทียน มีหอยลายจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นที่ มากถึงวันละ 1,000-2,000 บาท แต่ปัจจุบันปริมาณหอยลายลดลง ทำให้รายได้ลดลงอยู่ที่ 500-1,000 บาทต่อวัน เท่านั้น เนื่องจากมีเรือประมงลักลอบจับหอยลาย ทำให้ปริมาณหอยลายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการจับหอยของผู้ลักลอบจะใช้เครื่องมือแบบผิดกฎหมาย และมีขนาดตาถี่ ทำให้จับหอยขนาดเล็กติดไปด้วย

ดังนั้น กรมประมงและชาวประมงพื้นบ้านรวมกลุ่มกัน และมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ทำประมงใกล้ชายฝั่ง อีกทั้งได้มีการตั้งกฎกติกาในการอนุรักษ์พื้นที่การจับหอยลายไว้ อาทิ การกันพื้นที่การจับอยู่ที่ ประมาณ 5 ไมล์ทะเล การปรับเปลี่ยนเครื่องมือใหม่ ที่เรียกว่า “กระดึ๊บ” และสุดท้ายคือ การปล่อยพ่อแม่พันธุ์หอยลาย เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณ และที่สำคัญมีการตั้งเวรยาม ป้องกันไม่ให้เรือประมงลักลอบเข้ามาจับหอยลายในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ

ด้าน นายอารมณ์ ประจวบเขต ชาวประมงพื้นบ้านบ้านแหลมเทียน ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดตราด   เล่าว่า การอนุรักษ์หอยลาย มีประโยชน์ตรงที่ชาวบ้านมีอาชีพเสริม มีรายได้เสริม แต่ถ้าปล่อยให้เรือที่ผิดกฎหมายเข้ามาก็จะทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ปล่อยให้เรือกำลังแรงเครื่องเยอะไม่เกินครึ่งเดือนคิดว่าหอยลายน่าจะหมด

นอกจากนี้ ทางประมงทะเลเกาะช้าง ยังให้การสนับสนุนรูปแบบการจัดการบริหาร โดยมีมติให้ชาวบ้านเป็นอาสาเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ซึ่งหากมีเรือประมงเข้ามาให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน

“รูปแบบที่ชาวประมงใช้ในการจับหอยลายของกลุ่มไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องอนุรักษ์หอยลายไว้ ป้องกันไม่ให้เรือขนาดใหญ่ที่คราดหอยเข้ามาทำในเขต 3,000 เมตร ตามกฎหมายของกรมประมง ขณะเดียวกันให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับการอนุรักษ์หอยลายห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยลายแบบประกอบเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด หรือแม้แต่ตะแกรงที่นำมากระดึ๊บหอยลายก็ห้ามติดเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนต้องรับโทษตามกฎหมาย” คุณอารมณ์ ประจวบเขต กล่าวทิ้งท้าย